ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ไม่ควรตื่นตระหนกโควิด “โอไมครอน” มากเกินไป

โดย PPTV Online

เผยแพร่

การกลายพันธุ์ที่หลายจุดบนส่วนหนามโปรตีน อีกทั้งบางตำแหน่งยังเป็นจุดสำคัญที่เพิ่มประสิทธิภาพการระบาดในโควิดตัวก่อนๆ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกกังวลต่อการอุบัติขึ้นของโควิดโอไมครอน อย่างไรก็ตาม มีเสียงจากผู้เชี่ยวชาญ ชี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้อาจร้ายกาจกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่ขณะนี้กำลังระบาดจนเป็นสายพันธุ์หลักของโลก

อย.ยุโรป-ออกซ์ฟอร์ด ยังเชื่อมั่นในวัคซีน

โควิด-19 “โอไมครอน” ไม่รุนแรง? อาจเพราะระบาดในคนอายุน้อย

ปัจจุบันคาดกันว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนแล้วอย่างน้อย 200 คน ใน 20 ประเทศ โลกเพิ่งรู้จักกับโควิดโอไมครอนได้เพียง 1 สัปดาห์ หลังแอฟริกาใต้รายงานการค้นพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ B.1.1.529 ไปยังองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า โอไมครอน

ท่ามกลางความตื่นตระหนก ผู้เชี่ยวชาญรายแรกที่ออกมาปรามว่า โควิดโอไมครอนอาจไม่ได้ร้ายกาจมากมายนักคือ นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ระบุว่า จำนวนจุดกลายพันธุ์ที่มากหลายจุดอาจส่งผลให้โควิดโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วและง่ายขึ้นจริง

แต่ในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปว่า โอไมครอน น่ากลัวว่าโควิดกลายพันธุ์ก่อนหน้าอย่าง โควิดเดลตา หรือไม่

จุดกลายพันธุ์ที่ว่ามีอะไรบ้าง? โควิดโอไมครอนกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง และในจำนวนนี้มี 32 ตำแหน่งที่เป็นการกลายพันธุ์บนส่วนหนามโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะและเชื่อมกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์มนุษย์ เพื่อล้วงเข้าสู่เซลล์ การกลายพันธุ์บนส่วนโปรตีนหนามสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 ประเภท หนึ่งคือการกลายพันธุ์ที่ทำให้โปรตีนจับกับตัวรับ ACE2 ได้ง่ายขึ้น

สอง คือการกลายพันธุ์ที่ช่วยให้ไวรัสจับกับเซลล์ หรือเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น และสามคือ การกลายพันธุ์ที่ทำให้โปรตีนมีหน้าตาเปลี่ยนไป ซึ่งข้อนี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำไวรัสไม่ได้

ในบรรดาตำแหน่งการกลายพันธุ์ มีทั้งตำแหน่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยพบมาแล้วกับโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อน ๆ หน้า และบางตำแหน่งไม่เคยพบมาก่อน ที่เคยพบมาแล้วในโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อนหน้า และล่าสุดพบในโควิดโอไมครอนก็เช่น ตำแหน่ง E484K ที่ช่วยให้ไวรัสหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากแอนติบอดีได้ หรือตำแหน่ง N501Y ที่ช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และตำแหน่งการกลายพันธุ์นี้ยังพบในโควิดอัลฟา และโควิดแกมมาเช่นกัน โดยพบว่าการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ทำให้เชื้อไวรัสสะสมที่บริเวณจมูกและลำคอมากขึ้น นั่นทำให้เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม ปริมาณเชื้อที่หลุดออกไปจึงมากขึ้น และทำให้การระบาดติดต่อกันได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีตำแหน่ง D614G ที่คาดว่าช่วยให้ไวรัสเกาะกับเซลล์นั้นๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงกับการสูญเสียความสามารถในการับกลิ่นของผู้ป่วย

การกลายพันธุ์ของโควิดโอไมครอน มากแค่ไหน ต้องเปรียบเทียบกับโควิดสายพันธุ์อื่น ขณะนี้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้ โควิดโอไมครอน เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล นับเป็นสายพันธุ์ที่ 5 แล้ว ตามหลังโควิดอัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา เทียบกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลทั้งหมด หากดูตำแหน่งการกลายพันธุ์บนส่วนหนามโปรตีนจะเห็นว่า โอไมครอน มีการกลายพันธุ์มากที่สุด และมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 3 เท่า  โดย โควิดโอไมครอน กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามโปรตีน 32 จุด ในขณะที่โควิดเดลตา ที่ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์หลักของโลกมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนามโปรตีนเพียง 10 จุด

เหล่านี้คือปัจจัยที่สร้างความกังวลให้แก่นักวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามแม้ว่า จำนวนประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จนถึงตอนนี้ ผู้ติดเชื้อทุกคนยังไม่มีใครมีอาการหนัก รวมถึงยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ นั่นหมายความว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์หลายจุดไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไวรัสอันตราย หรือส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมายเสมอไป

 

รายงานจาก พอล คริสโตเฟอร์ ผู้อำนวยการด้านการตลาด จากสถาบัน Wells Fargo Investment มองว่า โอไมครอนอาจมาแล้วก็จากไปในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าในท้ายที่สุดแล้วไวรัสตัวนี้ไม่ได้อันตรายจริง

อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกได้ตื่นตระหนกกับโควิดตัวนี้ไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากตลาดหุ้นที่ร่วงลงมา

สอดคล้องกับความเห็นจากดอกเตอร์ อันเดรส เท็กเนล นักระบาดวิทยาชาวสวีเดน ระบุว่า ความกังวลที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียงแค่การคาดการณ์เท่านั้น และปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังไม่ได้กระทบต่อระบบสาธารณสุขของหลายประเทศ

 

แต่กระนั้นก็ประมาทไม่ได้ เพราะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าโอไมครอนอาจขึ้นมาแทนที่เดลตาได้ เหมือนที่เดลตาแพร่กระจายได้เร็วจนกลายมาเป็นโควิดตัวหลักของโลกในปัจจุบัน เพราะภาพดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ จะเห็นว่าเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในแอฟริกาใต้อยู่ที่ 200-300 รายต่อวัน แต่ข้ามมาช่วงปลายเดือน หลังแอฟริกาใต้แจ้งเตือนเรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ไปยังองค์การอนามัยโลก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 รายต่อวัน ยอดของเมื่อวานนี้ วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อใหม่ 4,373 ราย สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน โดยร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้ออยู่ในจังหวัดเกาเต็ง

ปัจจัยการระบาดที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้นั้นยังรวมถึง อัตราการฉีดวัคซีนที่น้อยด้วย โดยปัจจุบันฉีดครบโดสเพียงร้อยละ 24 ของจำนวนประชากรที่มี 59 ล้านคน อย่างไรก็ตามประเด็นโควิดโอไมครอนก็ยังไม่อาจปัดตกได้ และคำถามที่ว่า โควิดโอไมครอนจะผงาดขึ้นมาระบาดแทนที่โควิดเดลตาได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ

 

โดยสรุปคือ เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่บ่งชี้ว่า โควิดโอไมครอนจะแพร่ระบาดได้รวดเร็ว หรือมีความสามารถในการต้านทานภูมิคุ้มกันมากกว่าโควิดเดลตาหรือไม่ และขณะนี้ความกังวลที่ออกมาเกิดขึ้นจากการคาดการณ์ผ่านตำแหน่งการกลายพันธุ์ในจุดสำคัญที่มีมากหลายจุด

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพยายามถอดจีโนมของโควิดสายพันธุ์ใหม่ออกมา โดยคาดกันว่ากว่าจะได้คำตอบว่าโอไมครอนน่ากลัวกว่าเดลตาหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์

 

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ