รัสเซีย ขู่ใช้ขีปนาวุธ หากสหรัฐฯ-นาโต ไม่ถอนกำลังจากยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยืนยันถ้าหากสหรัฐฯ และนาโตยังคงไม่ถอนกำลังทหารออกจากยูเครน รัสเซียอาจยกระดับการตอบโต้ ซึ่งการยกระดับรวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ร่วมด้วย

รัสเซีย ยันส่งทหารประชิดยูเครน เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น เมินสหรัฐฯขู่คว่ำบาตร

ไบเดน เตือน ปูติน เตรียมสวนกลับ หากรัสเซียบุกยูเครน

ความขัดแย้งที่บริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว ยูเครนอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกองค์การสิทธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ความคืบหน้านี้รัสเซียจะมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตนเอง เพราะถ้าหากยูเครนกลายเป็นสมาชิกนาโตเมื่อไหร่ นั่นแปลว่ากองกำลังทหารและอาวุธนิวเคลียร์ของนาโตจะสามารถเข้ามาประจำการในพื้นที่ที่ติดกับชายแดนรัสเซียได้เป็นครั้งแรก

เมื่อวานนี้ ปูติน ได้กล่าวว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้พูดคุยกับผู้นำสหรัฐฯ และนาโต ทั้งยังเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกรับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ ยืนยันว่าจุดยืนของรัสเซียถือเป็นคำขาด ว่ายูเครนจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และต้องไม่เปิดทางให้กำลังนาโตหรือสหรัฐฯ เข้ามาประจำการในพื้นที่

ระหว่างการแถลงข่าว ปูตินยังกล่าวว่า รัสเซียเป็นกังวลที่นาโตและสหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่มาประชิดพรมแดนของรัสเซีย ทั้งยังดำเนินการซ้อมรบเต็มรูปแบบ หากยูเครนกลายเป็นฐานที่มั่นให้กับนาโตและสหรัฐฯ จริง อาวุธนิวเคลียร์ที่ใกล้ที่สุดที่สามารถยิงมายังกรุงมอสโกจะย่นระยะเหลือแค่ 7 ถึง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นนิวเคลียร์ความเร็วเหนือเสียง ก็จะใช้เวลาน้อยลงอีก เหลือเพียงแค่ 5 นาทีในการโจมตีเมืองหลวงรัสเซีย

ท่ามกลางความตึงเครียด ยูเครนเองก็กล่าวหาว่า รัสเซียจงใจจุดชนวนสงคราม โดยเฉพาะการส่งกองกำลังทหารกว่าหนึ่งแสนนายเข้ามาบริเวณพรมแดน ยูเครน-รัสเซีย  การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสหรัฐฯ และนาโตเองออกมาขู่ว่า หากรัสเซียบุกรุกยูเครนเพียงก้าวเดียว จะเกิดการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ปูติน กล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในทุก ๆ กรณี และย้ำว่าเขาต้องการเจรจาทางการทูต เพราะการเจรจาร่วมกันทุกฝ่ายเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะคิดไม่เหมือนกัน เมื่อวานนี้ที่ทำเนียบขาว แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีแผนที่จะให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าพูดคุยกับปูตินเร็วๆ นี้ โดยวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือต้องทำให้ยูเครนถืออธิปไตยในดินแดนของตน และเขาหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการเจรจาทางการทูต รวมถึงหวังว่ารัสเซียจะถอนกำลังออกจากชายแดนยูเครน

สิ่งที่บลิงเคนรายงานล่าสุดขัดกับแผนที่ประกาศออกมาก่อนหน้า  เพราะย้อนไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในตอนนั้นทั้งประธานาธิบดีไบเดน และประธานาธิบดีปูตินจัดการประชุมร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพูดคุยในประเด็นความขัดแย้งที่ชายแดนยูเครน ผู้นำทั้งสองประเทศหารือกันนาน 2 ชั่วโมง นำมาสู่คำประกาศว่าทั้งคู่อาจเดินทางพบปะกันตัวต่อตัวในเร็วๆ นี้ แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงของบลิงเคนล่าสุด ดูเหมือนว่าภาพดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้นหลังการพูดคุยของสองผู้นำ รัสเซียยังคงวางกองกำลังประชิดชายแดนยูเครนตามเดิม

ด้านท่าทีของสหรัฐฯ แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยกล่าวไว้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารเข้าไปประจำการที่ชายแดนยูเครน-รัสเซีย แต่ขณะนี้สหรัฐฯ เองก็กำลังส่งยุทโธปกรณ์เพื่อสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แคเรน ดอนฟรี เจ้าหน้าที่ทูตอาวุโสประจำยุโรปของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าสหรัฐฯ เตรียมส่งมอบอุปกรณ์ทางการทหารและอาวุธต่าง ๆ ให้กับยูเครน เพื่อรับมือเหตุปะทะกับรัสเซียซึ่งไม่อาจคาดเดาได้

 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม รัสเซียกล่าวว่าอาจมีการนำขีปนาวุธกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากเห็นปฏิกิริยาของนาโตที่มีต่อรัสเซีย  เซอร์เก ริบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตะวันตกในครั้งนี้ ย่ำแย่ที่สุดในรอบสามสิบปีหรือตั้งแต่ยุคสงครามเย็น หากมีการใช้ขีปนาวุธในยุโรปเมื่อไหร่ สถานการณ์จะนำไปสู่การปะทะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เซอร์เก ริบคอฟ กล่าวต่อว่า รัสเซียจะต้องตัดสินใจใช้ขีปนาวุธเพื่อป้องกันตนเอง หากนาโตและสหรัฐฯ ไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF ซึ่งว่าด้วยการห้ามใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและใกล้ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

สนธิสัญญาฉบับนี้เริ่มใช้ปี 1987 ก่อนที่สหรัฐฯ จะขอถอนตัวในปี 2019 ตามมาด้วยการระงับใช้จากรัสเซีย ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้กล่าวหาอยู่เนือง ๆ ว่ารัสเซียไม่ได้ปฏิบัติตามต้องตกลงที่ระบุในสนธิสัญญาฉบับนี้ หนึ่งในข้อกำหนดก็คือ ขีปนาวุธที่มีพิสัยตั้งแต่ 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้ในทวีปยุโรปโดยเด็ดขาด

นาโต ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในยุโรปแน่นอน และพวกเขาได้เตรียมการไว้แล้วหากรัสเซียคิดจะใช้ขีปนาวุธรอบใหม่

 

ราคาก๊าซในยุโรปแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน ประเด็นระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรปก็ยังคงร้อนระอุ ล่าสุดเมื่อวานนี้ ราคาก๊าซในยุโรปพุ่งขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาก๊าซของบริษัทดัตช์ ซึ่งถือเป็นราคามาตรฐานในยุโรป พุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 16 ตกราคา 171 ยูโร หรือราว  6,500 บาท ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ราคาก๊าซดีดตัวขึ้นหลังจากที่ท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียที่ชื่อว่า ยามัล-ยุโรป ได้ชะลอการลำเลียงจนกระทั่งหยุดชะงักในเช้าวันอังคารที่ผ่านมาท่อยามัล-ยุโรป เป็นทรัพยากรหลักที่หล่อเลี้ยงก๊าซธรรมชาติในยุโรป โดยส่งตรงจากรัสเซียเข้าสู่เยอรมนี

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมได้กล่าวหาว่าเป็นเจตนาของรัสเซียที่จะกักตุนก๊าซธรรมชาติ ไม่ปล่อยมาสู่ยุโรป เนื่องจากไม่พอใจที่สหภาพยุโรปหนุนหลังยูเครน เพราะก่อนหน้านี้ ท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติกของรัสเซีย ที่ชื่อว่า นอร์ด สตรีม 2 ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดใช้งาน แม้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน

อย่างไรก็ตามดิมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า ที่การลำเลียงก๊าซธรรมชาติหยุดชะงักลงนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด

แต่เป็นเรื่องของการค้าเท่านั้น รวมถึงเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อขณะนี้ยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว

 

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ