
ความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลหมู่เกาะแปซิฟิก
เผยแพร่
ท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ส่งผลให้เกิดการจัดระเบียบความมั่นคงใหม่ทั้งในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ด้านทางฝั่งเอเชียก็มีความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจสำคัญอย่างจีน
ไม่กี่วันหลังการเยือนเอเชียของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล่าสุดจีนส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยือน 8 ชาติในหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อขยายอิทธิพล ท่ามกลางการเตือนจากสหรัฐฯ ว่าชาติเหล่านั้นต้องระวังกับดักของจีน ทำไมต้องแปซิฟิก? จีนหวังผลอะไร และภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างไรในทาง
เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนเดินทางถึงสนามบินโซโลมอน
"จีน" ขอบคุณ "ไทย" มิตรแท้เคียงข้างสู้ภัย "โควิด-19"
โลกร้อนต้นเหตุเกาะในแปซิฟิกจม (คลิป)
ก่อนที่ในช่วงกลางวันที่ผ่านมาจะปรากฏภาพของ หวัง อี้ และคณะผู้แทนจากจีนเดินทางออกจากโรงแรม เพื่อขึ้นรถไปประชุมตามกำหนดการ
ผู้แทนจีนจะพบปะกับ มานาสเซห์ โซโกแวร์ นายกรัฐมนตรีของโซโลมอน ซึ่งทางผู้นำประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ระบุว่า การมาเยือนของผู้แทนจากจีนถือเป็นความคืบหน้าสำคัญ
รายงานจาก หลี่ หมิง เอกอัคราชทูตจีนประจำโซโลมอนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันตกลงข้อตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งครอบคลุมหลายหัวข้อ
โซโลมอนเป็นจุดหมายแรกของทริปการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศแปซิฟิก 8 ประเทศ ที่มีกำหนดการนาน 10 วัน
โดยเริ่มต้นที่โซโลมอน จากนั้นต่อไปที่คิรีบาตี, ซามัว, ฟิจิ, ตองกา, วานูอาตู, ปาปัวนิวกินี และติมอร์ตะวันออก
รายชื่อประเทศเหล่านี้คือภารกิจที่จีนต้องการประสานความร่วมมือและขยายอิทธิพล โดยก่อนหน้าการเดินทาง หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า จีนต้องการพัฒนาความสัมพันธ์แบบฉันทมิตร เพื่อสนับสนุนค่านิยมที่จีนยึดถืออย่าง สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแปซิฟิก
นอกจากเดินทางพบปะแล้ว จีนยังมีแผนประชุมผ่านระบบออนไลน์กับอีกสามประเทศของแปซิฟิกด้วย ได้แก่ หมู่เกาะคุก, นีอูเอ และสหพันธรัฐไมโครนีเซีย
มาดูกันก่อนว่าประเทศเหล่านี้อยู่ตรงไหน? และมีความสำคัญอย่างไรต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเศรษฐกิจของจีน
ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ภูมิภาคแปซิฟิกเป็นที่ตั้งของประเทศจำนวน 15 ประเทศด้วยกัน ทั้งเกาะเล็ก เกาะใหญ่ ไปจนถึงหมู่เกาะ
ได้แก่ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา, สหพันธรัฐไมโครนีเซีย, หมู่เกาะฟิจิ, เฟรนซ์เปโลนีเซีย, คีรีบาติ, หมู่เกาะมาร์แชล, นาอูรู, นิวแคลิโดเนีย, ปาเลา, โซโลมอน, ตองกา, ตูวาลู, วานูอูตู, วอลิสและฟูตูนา รวมถึงนิวซีแลนด์ด้วย
จะเห็นว่าบรรดาเกาะน้อยใหญ่เหล่านี้คือหลังบ้านของออสเตรเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ต่างจากสองชาติ เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียจึงมีบทบาทเข้าช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุขจนกระทั่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้
ข้อมูลจาก สถาบัน Lowy Institute ในนครซิดนีย์ระบุว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเข้ามาลงทุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มประเทศในโอเชียเนียหรือประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 60,000 ล้านบาท
มีหลายเหตุผลที่จีนเข้ามาในแถบนี้ เหตุผลแรกเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
จีนเข้ามาที่นี่เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่าเรือ ให้เตรียมพร้อมสำหรับโครงการในอนาคต
มีรายงานว่า เงินที่จีนให้ประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค มีทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่า เงินกู้เพื่อการลงทุน
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว หลายฝ่ายบอกว่าส่วนใหญ่เงินที่จีนให้เป็นเงินกู้ สถานการณ์ของกลุ่มประเทศแปซิฟิกคล้ายคลึงกับในศรีลังกาหรือประเทศในแอฟริกาเช่น แทนซาเนีย ที่ปัจจุบันทั้งสองชาติยังคงติดกับดักหนี้ของจีน
เมื่อไม่มีเงินใช้คืน บางประเทศเผชิญกับเงื่อนไขที่เปิดให้จีนเข้ามากอบโกยทรัพยากร เช่น ในกรณีของศรีลังกา รัฐบาลตกลงให้จีนเช่าท่าเรือน้ำลึกฮัมบันโตตานาน 99 ปี รวมถึงพื้นที่รอบๆ เพื่อใช้เป็นท่าเรือ โรงแรม รีสอร์ท ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล โรงเรียน รวมถึงสวนสนุก ด้วยเป้าหมายดึงดูดนักลงทุน
สำหรับในกรณีของกลุ่มประเทศแปซิฟิก คาดกันว่าเป้าหมายคือ การประมงน่าจะเป็นทรัพยากรที่จีนคาดหวัง เนื่องจากแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 26 พ.ค.)หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษรายงาน อ้างอิงเอกสารที่หลุดออกมาจากทางการจีน เป็นร่างเอกสารที่จีนต้องการให้ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก 10 ชาติยอมรับและลงนาม เอกสารนี้ระบุถึง ความร่วมมือหลากหลายด้านตั้งแต่การค้า ระบบคมนาคม รวมถึงการทำประมง
รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า ประธานาธิบดีเดวิด ปานูเอโลแห่งสหพันธรัฐไมโครนีเชียซึ่ง เป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ระบุว่าจะไม่ลงนามในเอกสารดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจีนจะมีอิทธิมากเกินไปในแถบนี้
และก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนจะเดินทางถึงหมู่เกาะโซโลมอน เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกให้ ระมัดระวังข้อตกลงใดๆ ที่จะทำกับจีน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างการทำประมง
โดยเขาระบุว่า ที่ผ่านมาข้อตกลงของจีนที่ทำกับประเทศต่างๆ มักไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้ประเทศคู่สัญญาเสียเปรียบ
และล่าสุดในวันนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมากล่าวถึงการที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางไปเยือนโซโลมอน
ระบุว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับโซโลมอน เพื่อให้เป็นโมเดลแก่ชาติอื่นๆ ในแปซิฟิกเห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างจีนและชาติแปซิฟิก
นักวิเคราะห์มองว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่จีนเข้ามาคือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่เดิมหลายประเทศในแถบนี้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามล็อบบี้ประเทศเหล่านี้ให้เปลี่ยนใจ
โซโลมอนและคิริบาตี เป็นสองประเทสล่าสุดในแปซิฟิกที่ย้ายข้างไปเข้าหาจีน
ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ทั้งสองชาติประกาศเปลี่ยนข้างประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างกระทันหัน และหันมาสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่แทน
อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะเปลี่ยนจุดยืน แต่ใช่ว่าประชาชนจะเห็นด้วย หลังการเปลี่ยนแนวทางการต่างประเทศ เคยมีกระแสต่อต้านจีนจนกลายเป็นการประท้วงการจลาจลครั้งใหญ่มาแล้ว
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เกิดการประท้วงขึ้นในโซโลมอน ผู้ประท้วงได้มีการเผาสถานที่ที่เป็นผลประโยชน์ของจีน เช่น ย่านไชนาทาวน์ ในกรุงโฮนีอารา เมืองหลวง
ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งเข้าทำลายบ้านเรือนและร้านค้า มีรายงานว่าเฉพาะเจาะจง ว่าต้องเป็นร้านค้าสัญชาติจีน
สถานการณ์วุ่นวายจนรัฐบาลโซโลมอนต้องประกาศล็อกดาวน์ 36 ชั่วโมง ผู้ประท้วงระบุว่า พวกเขาไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลที่นำโดยมานาสเซห์ โซกาแวร์ นายกรัฐมนตรี
อิทธิพลจีนไม่ได้กระทบแค่การเมืองภายใน แต่กระทบทั้งภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เจ้าถิ่นอย่างออสเตรเลียนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องขยับและปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ความมั่นคง และทำให้แปซิฟิกกลายมาเป็นสนามของมหาอำนาจในการแสวงหาพันธมิตร ครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อกันยายน 2021 หรือเมื่อปีที่แล้ว
สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น เปิดแถลงข่าวร่วม กับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสห ราชอาณาจักร ประกาศความร่วมมือที่ชื่อว่า ออคัส
ข้อตกลงที่สำคัญที่สุดคือ สหรัฐสัญญาว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูงให้กับออสเตรเลีย
ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อินเดีย และจีน
การที่สหรัฐและสหราชอาณาจักรตัดสินใจถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงทางการทหารให้กับออสเตรเลียก็เพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายในอินโดแปซิฟิก
ในตอนนั้นข่าวดังกล่าวเป็นขาวใหญ่ จีนออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก ตามมาด้วยการประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับออสเตรเลีย และทำให้ความสัมพันธ์ของสองชาติคลอนแคลนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ความหมางเมิน การแข่งกันสะสมอาวุธ เหล่านี้คือสิ่งที่หลายฝ่ายบอกว่า เป็นการเริ่มสงครามเย็นยุคใหม่
อย่างไรก็ตามก่อนการเยือนหมู่เกาะแปซิฟิกของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนในคราวนี้ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่าเป็นทริปการเยือนเพื่อสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
และความร่วมมือนี้จะเป็นไปอย่างเท่าเทียมเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ไม่ได้เป็นการเริ่มการทำสงครามเย็นหลายที่หลายฝ่ายบอก
ล่าสุดในวันที่จีนเปิดทริปเยือนแปซิฟิกวันแรก เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา เพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงโดยไม่ได้กล่าวถึงจีน แต่กล่าวถึงบทบาทของออสเตรเลียที่อยู่เคียงข้างและเป็นส่วนหนึ่งของแปซิฟิกมานานหลายสิบปี
ทั้งยังมีพันธะและภารกิจมากมายที่ต้องดำเนินต่อ เช่น ความมั่นคง การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคแรงงานพร้อมที่จะทำงานเพื่อภูมิภาคนี้
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline