ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นใกล้ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่งในย่านดาวน์ทาวน์ของนครย่างกุ้ง ซึ่งถือเป็นย่านธุรกิจกลางเมือง หลังเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. เมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 9 คน
ทีมงานสารสนเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 30 กว่าปี เสียชีวิตหลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ลำเลียง “กะเหรี่ยง” บาดเจ็บรักษาตัวฝั่งไทย
กองทัพเมียนมา ทิ้งระเบิด เหมืองทอง KNU ชาวบ้านเสียชีวิต 6 คน
แถลงการณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมายังระบุว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดจาก “ทุ่นระเบิดทำมือ” พร้อมประณามว่านักรบของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านการปราบปรามของรัฐบาลทหาร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวตำรวจเมียนมาที่บอกว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังพบระเบิดมือที่ไม่ทำงานอีก 2 ลูก ใกล้กับจุดเกิดเหตุด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ
ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ ‘NUG’ (National Unity Government) รัฐบาลเงาซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกกองทัพยึดอำนาจไป ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน
‘หน่าย ทู อ่อง’ รัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยืนยันว่า ไม่มีกลุ่มใดภายใต้รัฐบาลเงาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในย่างกุ้ง และยังเชื่อว่าการโจมตีลักษณะนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจผิดระหว่างประชาชน กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
สถานการณ์ในเมียนมาปั่นป่วนนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ‘อองซาน ซูจี’ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
ประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติ ถูกกองทัพปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้พลเรือนบางส่วนหันไปจับอาวุธขึ้นสู้ และฝ่ายรัฐบาลเงาก็ได้สนับสนุนอาวุธให้กับนักรบกองโจรทั่วประเทศที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยบอกว่ามีเป้าหมายเพื่อปกป้องประชาชนจากการกดปราบของกองทัพ
การปะทะระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐประหารและกองทัพเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ความวุ่นวายเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ตัดสินใจเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังปิดประเทศไปนานกว่า 2 ปีนับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อปี 2020 และตามมาด้วยความปั่นป่วนทางการเมือง หลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมียนมาได้เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวขอวีซ่าเข้าประเทศได้แล้ว ผ่านทางออนไลน์ เพื่อหวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนเมียนมาจะเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ มีเสียงเตือนจากนานาชาติและองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลายแห่ง ขอให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงเดินทางไปเมียนมา ด้วยเหตุผลว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งจะไปตกอยู่กับรัฐบาลทหารที่กดขี่ปราบปรามประชาชน
พร้อมระบุว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติแล้วภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ซึ่งขัดกับความจริงที่ว่าสถานการณ์ในเมียนมายังไม่ปกติ โดยยังมีซุ่มจับกุม เผาหมู่บ้าน ข่มขืนและวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และแถบชายแดนของประเทศ
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงคำเตือนระดับสีแดง ขอให้ประชาชนเลี่ยงเดินทางไปเมียนมา จากสถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในหลายพื้นที่
ล่าสุด วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า กองทัพเมียนมามีแนวโน้มใช้การโจมตีทางอากาศและการยิงปืนใหญ่โจมตี เป็นการลงโทษแบบเหมารวมต่อพลเรือนที่ต่อต้านการรัฐประหาร
ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้เพิ่มการโจมตีในรัฐกะยาและรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทยและมีการต่อสู้หนักหน่วงขึ้นหลังรัฐประหาร
เนื่องจากผู้ที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารมักจะจับมือร่วมต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในพื้นที่
แอมเนสตี้ฯ ระบุว่ากองทัพเมียนมาดำเนินการทั้งวิสามัญฆาตกรรม ปล้น และเผาหมู่บ้าน ไปจนถึงการโจมตีทางอากาศและระดมยิงบ้านเรือน สถานพยาบาล วัดและโบสถ์
แอมเนสตี้ฯ ยังระบุด้วยว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นเป็น “คลื่นอาชญากรรมสงครามระลอกใหม่ และมีแนวโน้มเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมายังมีลักษณะของการลงโทษแบบเหมารวม (Collective punishment) ต่อชุมชนและพลเรือนที่เข้าใจว่าจะให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หรือการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหารด้วย
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นระบุว่า มีประชาชนถูกสังหารไปแล้วกว่า 1,800 คน และถูกจับกุมอีกว่า 13,000 คน จากการที่รัฐบาลเผด็จการปราบปรามผู้ต่อต้านการยึดอำนาจ