รอดไม่รอด? ส่องสถานการณ์ประเทศที่ยกเลิกสวมหน้ากากอนามัย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ส่องสถานการณ์ในต่างประเทศ หลังกระแส “การถอดหน้ากากอนามัย” เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย

เรื่องของการถอดหน้ากากอนามัยถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญที่บ่งชี้ว่า ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ดูเหมือนจะได้ชีวิต (เกือบ) ปกติคืนมาแล้ว ซึ่งประเทศไทยเอง ก็มีการเปิดเผยว่า เป็นประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาของ ศบค. อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศให้ถอดหน้ากากได้ในบ้านเรา

หลายประเทศทั่วโลกขณะนี้พยายามที่จะคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน จึงตัดสินใจประกาศยกเลิกมาตรการหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องกักตัว รวมถึงบางประเทศก็ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย

นายกฯ เผย ศบค.เตรียมพิจารณาถอดแมสก์ – ขยายเวลาเปิดผับ

‘ชัชชาติ’ ชงผ่อนคลายมาตรการ ถอดหน้ากากอนามัยใน กทม.

“อนุทิน” แนะประชาชน ยังควรสวมแมสก์ เพื่อความปลอดภัย

ล่าสุดยังมีเกาหลีใต้ที่เตรียมประกาศยกเลิกการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธานณะเปิดโล่ง

อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขและสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถตัดสินใจถอดหน้ากากอนามัยในประเทศหนึ่งเพียงเพราะอีกประเทศหนึ่งสั่งให้ถอดได้

นิวมีเดีย พีพีทีวี ชวนดูสถานการณ์ในบางประเทศที่ขณะนี้ประกาศให้ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ในทุกสถานที่ มีอยู่ราว ๆ 20 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในยุโรป

บัลแกเรีย

ตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการบัลแกเรียประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องมีเอกสารการตรวจหาเชื้อหรือฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย

ในช่วงที่บัลแกเรียประกาศยกเลิกมาตรการ เป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยราว 500 ราย ซึ่งก็มองได้ว่าน้อย แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แค่เข็มแรกกลับมีเพียงประมาณ 30% เท่านั้น

ทางการบัลแกเรียระบุว่า “ในขณะนี้ สถานการณ์โควิด-19 กำลังได้รับการติดตามและจัดการในลักษณะที่คาดการณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อจำกัดต่อพลเมืองและภาคธุรกิจ”

หลังจากยกเลิกมาตรการ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของบัลแกเรียตลอดช่วง 1 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยพบวันละ 200-300 รายเท่านั้น

เดนมาร์ก

เป็นประเทศแรก ๆ ในยุโรปที่ตัดสินใจทยอยยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย โดนการตัดสินใจของเดนมาร์กมีพื้นฐานมาจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สูงที่สุดในโลก

เดนมาร์กมีประชากรทั้งประเทศราว 5.8 ล้านคนเท่านั้น และด้วยการจัดการที่รวดเร็ว ทำให้เดนมาร์กสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้เกิน 70% ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021

ขณะที่ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ของเดนมาร์กช่วงที่ประกาศยกเลิกมาตรการสูงอยู่ที่หลักหลายหมื่น บางวันพบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 50,000 ราย แต่เมื่อย่างเข้าเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดนมาร์กก็ลดลงเหลือวันละไม่เกิน 1,000 ราย แม้จะเป็นในสถานการณ์ที่อนุญาตให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม

ฮังการี

ฮังการีประกาศยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ทั้งในส่วนของการเดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสำหรับประชาชนภายในประเทศด้วย โดยไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป และไม่บังคับให้สวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป

ฮังการีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ในระดับน่าพึงพอใจ โดยจากประชากร 9.7 ล้านคน มีมากกว่า 65% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว จึงคาดว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางการฮังการีตัดสินใจยกเลิกมาตรการ

ทั้งนี้ แกร์เกล กุลยาส รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีฮังการี บอกว่า ประชาชนสามารถเลือกที่จะสวมใส่หน้ากากอนามัยเองได้หากต้องการ และเสริมว่า อาจมีการนำมาตรการกลับมาใช้ใหม่ในอนาคตหากเผชิญกับการระบาดหนักของโควิด-19 ระลอกใหม่

หลังประกาศยกเลิกมาตรการข้างต้น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของฮังการีอยู่ที่ราว 1,000-2,000 รายต่อวัน

70 บริษัทสหราชอาณาจักร ทดลองให้พนักงานทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์

ไอซ์แลนด์

วันที่ 25 ก.พ. ไอซ์แลนด์ประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด หลังจากที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสของประชากรในประเทศสูงกว่า 80%

สำหรับมาตรการที่ยกเลิกมีทั้งที่เกี่ยวกับการรับผู้มาเยือนจากต่างประเทศรวมถึงมาตรการสำหรับประชาชนในประเทศ โดยยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในทุกสถานที่ รวมถึงยกเลิกการเว้นระยะห่างทางสังคม

อย่างไรก็ดี ทางการไอซ์แลนด์ยังคงรณรงค์ให้ประชาชนหมั่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกักตัวหากแสดงอาการหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด

ไอร์แลนด์

ไอร์แลนด์ประกาศให้การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเพียง “ตัวเลือก” ไม่ใช่ “ข้อบังคับ” ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. และในสัปดาห์ถัดมาก็ประกาศยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการรับผู้มาเยือนจากต่างประเทศ

ไอร์แลนด์ก็ยังเป็นอีกประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูง โดยในวันที่ประกาศยกเลิกข้อบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็มีประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วถึง 80% เลยทีเดียว

นอร์เวย์

นโยบายการเข้าประเทศของนอร์เวย์เปลี่ยนมาเป็น “ไม่ต้องตรวจ ไม่ต้องกักกัน ไม่ต้องลงทะเบียน!” ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. โดยยกเลิกข้อกำหนดการเข้าประเทศที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องตรวจหาเชื้อแม้คุณแสดงอาการป่วย รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมและการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยทั้งหมดก็ถูกยกเลิกในนอร์เวย์เช่นกัน

ในช่วงแรกที่นอร์เวย์หักดิบปลดมาตรการทุกอย่าง ก็ยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 15,000 รายต่อวัน แต่มาถึงขณะนี้พบผู้ติดเชื้อหลักสิบจนถึงราว 300 รายเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่มีประชากรในนอร์เวย์ราว 75% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

โปแลนด์

โปแลนด์ประกาศยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมดรวมถึงการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยเช่นเดียวกับประเทศในยุโรปอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ แต่ช้ากว่าหน่อย โดยประกาศเมื่อวันที่ 28 มี.ค.

สถานการณ์ของโปแลนด์ต่างจากประเทศยุโรปอื่น ๆ เล็กน้อยตรงที่ไม่ได้รอให้อัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 70-80% ของประชากรทั้งหมด เพราะขณะที่ประกาศ มีประชากรไม่ถึง 60% ในโปแลนด์ที่ฉีดวัคซีนครบโดส

โดยโปแลนด์เริ่มประกาศใช้มาตรการหลังพิจารณาแล้วว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันมีแนวโน้มลดลง โดยจากก่อนหน้านี้ที่พบวันละ 50,000 ราย ลดลงมาเหลือราว 12,000 ราย

กราเซกอร์ซ จูสซิก ผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติโปแลนด์ กล่าวว่า ที่ตัดสินใจปลดมาตรการทั้งหมด เนื่องจากภูมิคุ้มกันหมู่ของโปแลนด์อยู่ที่ 90% แล้ว และไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งก็เหมือนจะคาดเดาถูก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของโปแลนด์ขณะนี้อยู่ที่หลักสิบถึงหลักร้อยต่อวันเท่านั้น

สวิตเซอร์แลนด์

ประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแห่งนี้ ประกาศยกเลิกการใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงหากใครติดโควิด-19 ก็ไม่จำเป็นต้องกักตัวด้วย

สวิตเซอร์แลนด์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่อนข้างสูง โดยประชากรเกือบ 70% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

ภูมิภาคอื่น ๆ

จะสังเกตได้ว่า ประเทศในยุโรปที่ประกาศปลดมาตรการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จะมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สูง และตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่น้อยหรือควบคุมได้

ซึ่งนอกเหนือจากประเทศในโซนยุโรปแล้ว ก็มีบางประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เช่นกันที่ตัดสินใจยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัย

ตัวอย่างเช่น ประเทศในแอฟริกาอย่างแทนซาเนีย ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ไม่เชื่อในเรื่องของโควิด-19 โดยเคยบอกว่าประเทศตนปลอดโควิด-19 แม้ไม่มีการตรวจหาเชื้อเลย และจะไม่ยอมให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย แต่ปัจจุบันก็มีประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วประมาณ 7% กระนั้น แทนซาเนียก็ยังคงไม่ใช้มาตรการป้องกันโควิดใด รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยก็มีสถานะเพียง “คำแนะนำ” เท่านั้น

หรืออย่างนิการากัวในภูมิภาคละตินอเมริกา ที่ผ่านมาก็ไม่เคยออกมาตรการป้องกันใดเลย นิการากัวแทบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่เคยออกระเบียบหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มระบาด พวกเขายังคงเปิดพรมแดนไว้ ขณะที่ประเทศลาตินอื่น ๆ หลายประเทศปิดตัวลง รวมถึงไม่เคยสั่งห้ามการรวมกลุ่มของผู้คน และการบังคับใช้คำสั่งสวมหน้ากากก็ไม่เคยถูกบังคับใช้จริง ๆ นับว่ายังดีที่นิการากัวมีประชากรน้อย เพียง 6.6 ล้านคน และมากว่า 70% ได้วัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว

ยังมีสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งเดิมทีไม่มีข้อจำกัดมากมายตั้งแต่แรก ประธานาธิบดีหลุยส์ อาบินาเดอร์ ประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่ามาตรการทั้งหมดจะถูกยกเลิก โดยมีผลทันที การบังคับสวมหน้ากากอนามัยและยื่นวัคซีนพาสปอร์ตจะไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป

ส่วนในเอเชียเอง ยังไม่มีประเทศใดที่ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยอย่างเต็มรูปแบบ ยังคงมีข้อยกเว้นบางประการอยู่ ประเทศที่ใกล้เคียงที่สุดอาจจะเป็นอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนได้เกิน 70% จึงประกาศยกเลิกมาตรการฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR และการสวมใส่หน้ากากอนามัยในอาคาร เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังคงบังคับใส่ในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนการติดเชื้อในปัจจุบันพบราว 2,000-3,000 รายต่อวัน

ย้อนมองสถานการณ์ในไทย

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย เราจะพบว่า สถานการณ์ของไทยมีความคล้ายคลึงกับประเทศที่ปลดข้อบังคับสวมหน้ากาก คือมีอัตราฉีดวัคซีนที่ถือว่าก็สูง คือมีคนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส (2 โดส) แล้วประมาณ 75% ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 รายต่อวัน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ล่าสุดให้ความเห็นในเรื่องการถอดหน้ากากอนามัยว่า “ก็เป็นอีกเรื่องที่ ศบค. ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน แต่คิดว่าหลายคนอยากถอดและหลายคนยังไม่อยากถอด ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่ความสมัครใจ ซึ่งหลายคนก็อาจยังไม่ไว้ใจ จึงยังไม่อยากถอด”

เรื่องการถอดหน้ากากอนามัยในประเทศไทยนั้น ยังคงต้องรอการพิจารณาจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินในท้ายที่สุดว่า คนไทยพร้อมหรือยังที่จะถอดหน้ากากอนามัย

สำลัก อาหารติดคอ แนะวิธีปฐมพยาบาล ลดเสี่ยงเสียชีวิต

หมอเผยคนไทยอายุน้อยกว่า 42 ปี ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ "ฝีดาษลิง"

เรียบเรียงจาก Bloomberg / Euronews / Travel Off Path

ภาพจาก AFP

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ