ชาวมุสลิมในอินเดียประท้วงต้านความเห็นหมิ่นศาสดา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความขัดแย้งระหว่างศาสนาในอินเดียตึงเครียดขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสมาชิกระดับสูงของพรรคภารติยะ ชนตะ หรือ บีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและชูจุดยืนเป็นชาตินิยมฮินดู แสดงความเห็นไม่เหมาะสมเกี่ยวกับศาสดาของศาสนาอิสลาม จนทำให้ชาวมุสลิมในอินเดียเกิดความไม่พอใจ ลุกขึ้นมาประท้วง

และในหลายรัฐได้บานปลายกลายเป็นความรุนแรง ตำรวจอินเดียบอกว่า มีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 400 คน ฐานต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลระหว่างเกิดความวุ่นวายในหลายรัฐ แต่นอกจากความไม่พอใจของคนในประเทศแล้ว ความเห็นของสมาชิกระดับสูงของพรรครัฐบาล ก็ยังสร้างความไม่พอใจให้กับหลายชาติอาหรับด้วย จนทำให้เกิดคำถามว่า นี่จะสร้างผลเสียมากน้อยแค่ไหนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียกับบรรดากลุ่มประเทศมุสลิม 

ดับฝันสายเขียว ชงกฎกระทรวงคุมปุ๊นกัญชา

จากเด็กติดมือถือสู่พ่อค้าออนไลน์ "น้องนำโชค" เด็กชายวัย 13 ไลฟ์ขายของ รายได้สุดปัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการชุมนุมประท้วงของชาวมุสลิมในหลายเมืองทั่วอินเดีย ทั้งในรัฐชาร์ขัณฑ์ , รัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐอุตตรประเทศ

ในหลายเมืองการประท้วงได้กลายเป็นความรุนแรง เช่นที่เมืองรานชีในรัฐชาร์ขัณฑ์ทางตะวันออกของประเทศ ตำรวจได้ยิงสลายการชุมนุม และมีรายงานวัยรุ่นมุสลิมเสียชีวิต 2 คน

ส่วนในรัฐอุตตรประเทศ นอกจากมีผู้ถูกจับกุมไปกว่า 300 คนแล้ว  และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสั่งรื้อบ้านของชาวมุสลิมหลายหลัง ซึ่งเจ้าของบ้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุประท้วง แต่ทางการบอกว่ารื้อบ้านเพราะการก่อสร้างผิดกฎหมาย

ภาพการประท้วง ความรุนแรง จนถึงการเข้ารื้อถอนบ้านของชาวมุสลิมทำให้บรรดาพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาโจมตีรัฐบาลที่นำโดยพรรคบีเจพีว่า กำลังลงโทษ และเลือกปฏิบัติชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ความตึงเครียดระหว่างชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนน้อยกับชาวฮินดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในอินเดียครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดขึ้นหลังสมาชิกอาวุโส 2 คนของพรรคบีเจพีซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ให้ความเห็นเกี่ยวกับศาสดาของศาสนาอิสลามในเชิงที่ถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่น

 ‘นูปูร์ ชาร์มา’ โฆษกของบีเจพีได้แสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวระหว่างการดีเบตทางทีวีเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว คลิปความเห็นของเธอกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชาวมุสลิม

โดยสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีกเมื่อ ‘นาวีน จินดัล’ หัวหน้าฝ่ายสื่อของพรรคบีเจพีในกรุงนิวเดลีทวีตข้อความปลุกปั่นในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจและนำมาสู่การประท้วงอย่างที่เห็น

อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ ภาษาและศาสนา แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และชาวมุสลิม ที่แม้เป็นคนส่วนน้อยแต่ก็มีจำนวนมากกว่า 170 ล้านคน ก็เป็นปมสำคัญมายาวนานในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยพื้นฐานแล้ว ศาสนาอิสลามและฮินดูมีความเชื่อและวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกัน

ในขณะที่อิสลามเป็นศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว แต่ชาวฮินดูมีความเชื่อในพระเป็นเจ้าหรือเทพเจ้าหลายองค์ รวมถึงยังเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์

แต่ชาวมุสลิมบริโภคเนื้อวัวแทนเนื้อหมูซึ่งเป็นสัตว์ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม นี่ทำให้การฆ่าวัวนำไปสู่เหตุจลาจลฆ่าฟันกันมาแล้วหลายครั้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดีย

แต่ความแตกต่างในด้านความเชื่ออย่างเดียวอาจไม่ทำให้ความขัดแย้งฝังรากลึกเท่านี้ หากไม่มีปัจจัยด้านนโยบายการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ย้อนกลับไปในช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองอนุทวีปอินเดียตั้งแต่ปี 1858-1947 นโยบายที่เจ้าอาณานิคมนำมาใช้คือ ‘การแบ่งแยกแล้วปกครอง’ เป้าหมายคือทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มประชากรที่นับถือศาสนาแตกต่างกันในอินเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้คนอินเดียจับมือกันลุกขึ้นต่อต้านเจ้าอาณานิคม

ในช่วงแรกที่อังกฤษเข้าปกครองอนุทวีปอินเดียจนถึงราวทศวรรษ 1870 อังกฤษมักผูกมิตรกับชาวฮินดูเพื่อต่อต้านอำนาจของผู้ปกครองมณฑลต่างๆ ของอินเดียซึ่งมักเป็นมุสลิม จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1870 อังกฤษเล็งเห็นถึงกระแสชาตินิยมที่เติบโตในหมู่ชนชั้นกลางอินเดียในเวลานั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู ก็ทำให้เจ้าอาณานิคมหันไปสนับสนุนชาวมุสลิมแทนเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองกับชาวฮินดู

โดยอังกฤษให้การสนับสนุน ‘สันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย’ กลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวมุสลิมในอินเดีย เพื่อคานอำนาจกับพรรคคองเกรส แต่นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองก็นำมาสู่ความร้าวลึกระหว่างคนทั้งสองศาสนาในอินเดีย

จุดสูงสุดของความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอนุทวีปอินเดียก็คือการแบ่งแยกประเทศออกเป็นอินเดียและปากีสถานในปี 1947 เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

โดยในอินเดียประชากรส่วนใหญ่ชาวฮินดู ส่วนปากีสถานคือชาวมุสลิม ซึ่งการแบ่งแยกประเทศครั้งนั้นโดยอังกฤษ ถือได้ว่าเป็นการใช้ศาสนามาเป็นเกณฑ์การขีดเส้นแบ่ง

แต่ถึงจะแยกประเทศแล้ว ก็ยังมีชาวมุสลิมจำนวนมากยังอยู่ในประเทศที่เรียกว่าอินเดียขณะนี้ โดยคนมุสลิมที่นี่กลายเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ

และความตึงเครียดมักจะเกิดขึ้นหากอินเดียมีรัฐบาลที่มีแนวคิดชาตินิยมฮินดูอย่างเช่น พรรคบีเจพีของนายกรัฐมนตรีโมดี

พรรคบีเจพี มีแนวคิดชาตินิยมฮินดู มีนโยบายหลายอย่างที่ไม่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม ตั้งแต่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกถึงการนับถือศาสนาไปจนถึงการสวมฮิญาบ

นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2014 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคบีเจพีของเขาถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ

รัฐบาลบีเจพีได้ผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นข้อถกเถียงด้วยการให้สถานะพลเมืองแก่ผู้ลี้ภัยในอินเดียหากพวกเขาไม่ใช่มุสลิม รวมถึงยังได้ผ่านกฎหมายที่ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับชาวมุสลิมในการแต่งงานนอกศาสนา

 ผู้นำรัฐบาลบีเจพีมักไม่แสดงความเห็น เมื่อเกิดเหตุรุนแรงต่อชาวมุสลิมจากข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวฮินดู

ขณะที่ในกรณีล่าสุด หลังสมาชิกระดับสูงของพรรคบีเจพีให้ความเห็นที่ถูกมองว่าเป็นการหมิ่นศาสดาของศาสนาอิสลาม นายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดี ยังไม่ออกมาให้ความเห็น แต่พรรคบีเจพีสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกทั้ง 2 คน พร้อมบอกว่าขอประณามความเห็นหมิ่นศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่พรรคบีเจพีลงดาบสมาชิกทั้ง 2 คน เป็นความพยายามในการควบคุมความเสียหายที่เกิดจากความเห็นที่ล้ำเส้นของทั้งคู่ มากกว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลพรรคบีเจพี ที่มีลักษณะไม่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม

ขณะที่หลายประเทศ เช่น กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมานและอิหร่าน ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอินเดีย ก็ได้ยื่นประท้วงทางการทูต ไม่พอใจต่อความเห็นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงต้องรับมือกับแรงต้านจากชาวมุสลิมในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ