จีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ ใช้เทคโนโลยีทัดเทียมสหรัฐฯ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จีนโชว์แสนยานุภาพทางทหาร เปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ มีระบบปล่อยเครื่องบินแม่เหล็กไฟฟ้าแบบเดียวกับสหรัฐฯ

เมื่อ 17 มิ.ย. กองทัพจีนประกาศแสนยานุภาพกองทัพ ด้วยการเปิดตัว “ฝูเจี้ยน (Fujian)” เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ลำใหม่ล่าสุดของจีน ซึ่งล้ำหน้าที่สุดในหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีน เป็นลำแรกที่ออกแบบและสร้างขึ้นทั้งหมดในประเทศจีน นับเป็นความก้าวหน้าทางการทหารที่สำคัญของมหาอำนาจในเอเชีย

เดิมทีจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอยู่ 2 ลำ คือ เหลียวหนิง (Liaoning) ประจำการตั้งแต่ปี 2012 และซานตง (Shandong) ประจำการในปี 2019 ซึ่งทั้งสองลำเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต

สหรัฐฯ โต้ จีน ยืนยันช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล

กลาโหมจีนประกาศกร้าว “พร้อมเริ่มสงคราม” หากไต้หวันประกาศเอกราช

เปิดสะพานรัสเซีย-จีน เสริมความแข็งแกร่งด้านการค้าระหว่างสองชาติ

การออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้ของจีนจึงถือเป็นการก้าวกระโดดในด้านขีดความสามารถของกองทัพจีน และจะช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของจีนได้อย่างมาก

ฝูเจี้ยน เรือบรรทุกเครื่องบินสเปกทัดเทียมสหรัฐฯ

ฝูเจี้ยนเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดมหึมา มีความยาว 316 เมตร น้ำหนักประมาณ 80,000-100,000 ตันเมื่อบรรทุกจนเต็ม ที่พิเศษคือ “มีระบบปล่อยเครื่องบินแม่เหล็กไฟฟ้า (EMALS)” ซึ่งเป็นระบบการส่งเครื่องบินแบบรางดีดส่งตัว (Catapult) ที่มีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้นที่มี

ส่วนเหลียวหนิงและซานตงนั้น มีเพียงระบบการส่งเครื่องบินแบบทางลาดเอียงขึ้น (Ski-Jump)

ระบบ EMALS จะช่วยเร่งความเร็วของเครื่องบินไอพ่นที่บินขึ้นจากฝูเจี้ยน ช่วยให้เครื่องบินที่บรรทุกเชื้อเพลิงและอาวุธจนหนักสามารถบินขึ้นได้ง่าย รวมถึงเครื่องบินจะสามารถบินขึ้นและลงจอดได้ง่ายขึ้น

EMALS ยังสามารถปล่อยเครื่องบินได้มากขึ้นในอัตราที่สูงกว่า นำเครื่องบินไอพ่นขึ้นไปในอากาศได้เร็วกว่าเรือที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่า

คุณลักษณะล่าสุดนี้ทำให้ฝูเจี้ยนมีความได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากมีเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินระดับฟอร์ดรุ่นล่าสุดของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ติดตั้งระบบนี้ ส่วนฝรั่งเศสกำลังพัฒนาระบบที่คล้ายคลึงกัน และอินเดียกำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ในการนำระบบ EMALS มาใช้ แต่นอกสหรัฐฯ มีเพียงจีนเท่านั้นที่ใช้ระบบนี้

อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่ได้พัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์อย่างสหรัฐฯ ยังเป็นเพียงระบบแรงขับไอน้ำ จึงมีจุดที่ด้อยกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ขั้นหนึ่ง แต่คาดการณ์ว่า เรือรุ่นต่อไปที่จีนจะสร้างจะใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นตัวขับเคลื่อนแล้ว

ฝูเจี้ยนได้แสดงให้โลกเห็นว่า จีนกำลังก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยีทางทหารในปัจจุบันหลายอย่าง

ทั้งนี้ จะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ฝูเจี้ยนจะถูกนำมาประจำการ โดยกระทรวงกลาโหมจีนยังไม่ได้ประกาศวันเข้าประจำการของฝูเจี้ยน

โดยหลังจากนี้ ฝูเจี้ยนจะต้องถูกนำไปทดสอบการเดินเรือ การจอดเรือ และทดสอบแล่นในทะเล

ก่อนหน้านี้ ตามรายงานของนิตยสาร Janes defense ระบุว่า สหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการมากที่สุดในโลก คือ 11 ลำ รองลงมาคือจีนและอังกฤษ ซึ่งมีชาติละ 2 ลำ และหากจีนสั่งให้ฝูเจี้ยนประจำการเมื่อไร ก็จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 3 ลำ มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ความตึงเครียดทวีความเข้มข้น

การประกาศเปิดตัวเรือฝูเจี้ยนมีขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่จีนขู่ทำสงครามหากไต้หวันประกาศเอกราช

เว่ยเฟิ่งเหอ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน เตือนสหรัฐฯ ในการประชุมแชงกรี-ลา ไดอะล็อกที่สิงคโปร์ว่า “จีนไม่ลังเลที่จะเริ่มสงคราม ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม หากไต้หวันประกาศเอกราช”

ด้านประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ให้คำมั่นที่จะสร้างกองกำลังที่ “ทันสมัยอย่างเต็มที่” ให้ทัดเทียมกับกองทัพสหรัฐฯ ภายในปี 2027

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เป้าหมายของกองทัพจีนคือการสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 กลุ่มที่ปฏิบัติการได้ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นแสนยานุภาพการต่อสู้ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน

การเติบโตของกองทัพจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ เองก็พยายามคานอำนาจจีน ด้วยการเสริมกำลังทางทหารให้พันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ปีที่แล้ว สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์กับสหราชอาณาจักรเพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับออสเตรเลีย และได้ขายอาวุธให้กับไต้หวันหลายครั้ง กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจจากจีนจนหลายฝ่ายกังวลว่า จะเกิดอีกสมรภูมิใหญ่นอกเหนือไปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงไม่คลี่คลายในปัจจุบัน

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera / The Guardian

ภาพจาก AFP

ชาวโรฮิงญาค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ เดินขบวนขอกลับเมียนมา

เยอรมนีหันกลับไปพึ่ง “ถ่านหิน” หลังรัสเซียลดส่งออกก๊าซธรรมชาติ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ