ความลับของการตายธรรมชาติในยุคสงครามยาเสพติด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้เป็นทำงานวันสุดท้ายของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นโยบายที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดตลอดการทำงานนาน 6 ปีของผู้นำสายเหยี่ยว คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติด ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญผู้ค้าและผู้เสพได้ หรือที่เรียกกันว่าสงครามยาเสพติด

นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตลอดจนกลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ป้ายสีใส่กัน

ช่วงโค้งสุดท้ายยังคงมีความพยายามเปิดเผยความจริงอีกด้านหนึ่งของนโยบายที่ดูเตอร์เตชูว่าประสบความสำเร็จ เมื่อร่างผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่ถูกระบุว่า "ตายธรรมชาติ" แท้จริงแล้วกลับเป็นเหยื่อของสงครามยาเสพติดเช่นกัน

พวกเขาพบอะไร? และส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตที่เป็นคนยากจนกำลังฉายภาพปัญหาใดของนโยบายนี้?

“บองบอง มาร์กอส” ว่าที่ผู้นำฟิลิปปินส์ ผู้นำพาความรุ่งโรจน์หรือยุคมืด?

ฝ่ายค้านขู่ถอดถอน “ผู้นำฟิลิปปินส์” หลังรับเคยสังหารคนร้าย

วันที่ 30 มิถุนายนนี้จะเป็นวันสิ้นสุดสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่โรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่ง

ไม่มีนโยบายใดจะถูกกล่าวขวัญไปมากกว่า นี่คือแคมเปญที่ทำให้ดูเตอร์เตคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2016 และตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เผชิญเสียงประณามจากทั้งในและนอกประเทศ

สังคมเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจลั่นกระสุนสังหารผู้ค้ายาและผู้ที่ใช้ยาเสพติด ด้วยการปราบปรามอันเด็ดขาด นโยบายนี้กลายมาเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กดขี่ประชาชนเพียงแค่มีรายชื่อในบัญชีต้องสงสัย คนๆ นั้นก็ถูกสังหารได้ และบ่อยครั้งที่เหยื่อถูกใส่ความด้วยการวางอาวุธและยาเสพติดจำนวนหนึ่งไว้ข้างศพ

ขั้นตอนถูกดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การรวมรายชื่อโดยสายตำรวจ การสังหาร โดยมีรางวัลเป็นค่าหัวและการออกหนังสือรับรองการตาย

คนยากจน คนจรจัด ไปจนถึงเหยื่อจากความเกลียดชังถูกจัดฉากฆ่าทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

โครงกระดูกสีน้ำตาลคือหนึ่งในนั้น เขาคือ เธลโม คุณพ่อลูกสี่สาเหตุในใบรับรองการตายระบุว่า เธลโมเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ แต่ผลการชันสูตรโดยราเกล ฟอร์ทูน นักนิติพยาธิวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กลับบ่งชี้ว่า สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากอาวุธปืนเพราะไม่เพียงพบรอยกระสุนบนกะโหลกศีรษะ แต่ฟอร์ทูนยังพบหัวกระสุนปะปนมากับเศษกระดูกด้วย

ผลการชันสูตรสอดคล้องกับคำบอกเล่าจาก ออโรรา บลาส ผู้เป็นภรรยา เธอเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า เห็นรูกระสุนที่ศีรษะของเธลโม

เขาเคยยุ่งกับยาเสพติดจริงแต่ตัดสินใจเลิกและหันมาสนับสนุนนโยบายกำปั้นเหล็กของดูเตอร์เต ทั้งยังลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่เขาเรียกว่า The Punisher ด้วย

ดูเตอร์เตเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2016 นโยบายปราบปรามยาเสพติดเริ่มขึ้น จากนั้นทุกๆ วันก็มีข่าวผู้เสียชีวิต

ข้ามเวลามาหนึ่งเดือน วันที่ 31 กรกฎาคม ผู้ลงคะแนนเสียงส่งให้ดูเตอร์เตขึ้นเป็นประธานาธิบดีอย่าง เธลโม กลับถูกพบเป็นศพข้างถนน

ออโรราสามารถสู้คดี เรียกร้องความยุติธรรมให้สามีได้ แต่มีอุปสรรคขัดขวาง หนึ่งคือ การต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในยุคที่สงครามยาเสพติดกำลังเฟื่องฟูไม่ใช่เรื่องง่าย และสอง ไม่ใช่ทุกคดีที่ความตายผิดธรรมชาติจะถูกชันสูตรเหมือนประเทศอื่น แต่กฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดให้ญาติผู้เสียชีวิตเป็นผู้ดำเนินการ

และสาม ราคาของเส้นทางสู่ความยุติธรรมมีค่าใช้จ่าย ออโรราจึงเซ็นยินยอมให้ฌาปนกิจสถานเขียนสาเหตุการตายของสามีว่า โรคปอดอักเสบ มิฉะนั้นแล้วเธอจะไม่สามารถเอาศพกลับบ้านมาทำพิธีตามศาสนาได้

การตัดสินใจในวันนั้นสร้างความเจ็บปวด วันนี้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนดูเตอร์เตจะลงจากตำแหน่ง เมื่อโอกาสไถ่บาปมาถึง เธอจึงคว้าไว้

หัวหน้าครอบครัวหลายคนเผชิญชะตากรรมแบบเธลโม ผู้หญิงจำนวนมากสูญเสียลูกชายหรือสามีแบบออโรรา สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความฉ้อฉลของรัฐ ซ้ำร้ายคนจนเหล่านี้ไม่มีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์

โครงการของฟอร์ทูนพบศพอย่างน้อย 15 ศพจากจำนวน 46 ศพแล้วที่สาเหตุการตายทางกายภาพขัดแย้งกับสาเหตุการตายในหนังสือรับรอง ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย มีฐานะยากจน บ้างทำงานก่อสร้าง บ้างว่างงาน

แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ สาเหตุการตาย ตั้งแต่โรคปอดอักเสบ ไปจนถึงความดันสูง นิยามความตายธรรมชาติจากโรคภัยแทนที่คำว่า ถูกยิง โดยไม่มีใครทักท้วง

โครงการได้รับความช่วยเหลือจาก ฟลาวี วิลานูเอวา บาทหลวงในกรุงมะนิลา ผู้ใช้โอกาสครบรอบ 5 ปีของการหมดสัญญาเช่าสุสานพอดี หว่านล้อมครอบครัวบผู้เสียชีวิตตามหาความจริงผ่านการชันสูตร

ในอนาคต ศพที่จะต้องถูกขุดออกมาเพราะหมดสัญญาเช่าสุสานจะยิ่งมีมากกว่านี้ และผลการชันสูตรจะเปิดเผยความลับดำมืดของนโยบายปราบปรามยาเสพติดอันลือลั่น

รายงานจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดอยู่ที่ 6,248 ราย แต่ตัวเลขที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรต่างประเทศประเมินน่าจะอยู่ที่ 30,000 คน มากกว่าหลายเท่าเพราะรวมผู้เสียชีวิตจากสายตำรวจและกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายเข้าไปด้วย

ในช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลดูเตอร์เตประกาศความสำเร็จ ระบุว่า ผู้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ข้อมูลบ่งชี้ว่า การปราบปรามส่วนใหญ่จับกุมได้เพียงเครือข่ายรายย่อย จากผู้ถูกจับกุมจำนวน 341,494 มีเพียง 15,096 รายเท่านั้นที่เป็นพ่อค้ายารายใหญ่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.42

ส่วนใหญ่ของคนที่ถูกจับกุม ถ้าไม่ค้ายารายย่อย ก็เป็นแรงงานยากจนที่ต้องพึ่งพาสารเสพติดให้ร่างกายตื่นตัวเพื่อทำงานควบกะ เพราะรายได้ที่มีอยู่ไม่พอเลี้ยงครอบครัว

ยังไม่นับรวมคนอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกใส่ความ หากรายชื่อของตนไปอยู่ในมือตำรวจแล้ว นั่นคือบัญชีสั่งตาย พวกเขาจำต้องมอบตัว มิฉะนั้นวันดีคืนดีอาจถูกสังหารโดยมือปริศนา แล้วจัดฉากว่าเป็นการปราบยาเสพติด

นี่คือความผิดปกติในสังคมที่กลายมาเป็นเรื่องปกติในยุคของดูเตอร์เต เขาขอให้ผู้นำคนใหม่สานต่อสงครามนี้ เพราะพ่อค้ายารายใหญ่ยังคงหลบซ่อนตัว

ด้านบองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศว่าจะดำเนินการต่อบนเงื่อนไขของการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย นั่นหมายความว่า การปราบปรามอาจไม่เข้มข้นเท่าสมัยของดูเตอร์เต

วันนี้เวลาของ The Punisher กำลังจะหมดลง ยาเสพติดในฟิลิปปินส์ลดลงแต่ไม่ได้หายไป ความเด็ดขาดใช้ควบคุมสังคมได้จริง แต่สิ่งที่ตามมาคือ การกระทำนอกกฎหมายที่ควบคุมไม่ได้

หกปีแล้วที่คนมากมายเสียชีวิตโดยไม่ทันได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ และต้นตอของปัญหายังคงอยู่ เพราะตราบใดที่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ยังไม่ถูกแก้ไข ผู้คนจะยังคงใช้ยาและขายยากันต่อไป

ลำพังความรุนแรงเพียงอย่างเดียวไม่อาจขจัดปัญหายาเสพติด หากต้องพึ่งพาหลายวิธีทั้งไม้นวมและไม้แข็ง เช่น การบำบัดรักษา หรือการสร้างโอกาสให้ผู้คน ลดความเสี่ยงที่ชีวิตของพวกเขาจะหันเหเข้าหาด้านมืด

ในดินแดนที่การฆ่าถูกเชิดชู มือสังหารลอยนวล ผู้บริสุทธิ์ตายฟรี ครอบครัวที่สูญเสียเจ็บปวดกับความทรงจำเลวร้าย ส่วนคนที่ยังอยู่รอดปลอดภัยล้วนหวาดกลัว

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ