เยอรมนี เร่งหาทางแก้วิกฤตเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพพุ่งสูง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เงินเฟ้อส่งผลให้ราคาสินค้าที่พุ่งสูง กระทบเกือบทุกประเทศทั่วโลก ทั้งที่ร่ำรวยและยากจน ทั้งในยุโรปจนถึงเอเชียเกาหลีใต้เงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปีส่วนเยอรมนีเจอเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี

เมื่อวานนี้ ( 4ก.ค.) นายกรัฐมนตรี ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ของเยอรมนีได้หารือกับผู้แทนจากสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงาน เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง โดยบอกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นี้เป็นความท้าทายครั้งประวัติศาสตร์

การประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ กับที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สมาคมนายจ้าง และสหภาพแรงงานเมื่อวานถือเป็นการหารือนัดแรกเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ชอลซ์เรียกว่าเป็น “วิกฤตค่าครองชีพครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากราคาพลังงานที่พุ่งสูง”

แข่งกินฮอทด็อกฉลองวันชาติสหรัฐฯ แชมป์เก่าทวงบัลลังก์สมัยที่ 15

ทำลายสถิติ! ไทยเตรียมลงกินเนสส์บุ๊ก “ไม้กลายเป็นหิน” ยาวที่สุดในโลก

การประชุมนี้เกิดขึ้นในขณะที่อัตราเงินเฟ้อประจำปีของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 7.6 สูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี

ขณะที่ราคาพลังงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ  38 

ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมนีได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการตัดลดภาษีพลังงาน และออกตั๋วเดินทางทั่วประเทศด้วยรถไฟในราคา 9 ยูโรต่อเดือน

รัฐบาลเยอรมนีก็เหมือนหลายประเทศในยุโรปตอนนี้ที่เผชิญแรงกดดันหนักในการรับมือกับปัญหาราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นหลังรัสเซียก่อสงครามในยูเครน โดยโจทย์สำคัญของรัฐบาลเยอรมนี คือหาทางรักษาสมดุลระหว่างความจำเป็นในการตอบสนองความต้องการของแรงงานเรื่องการขึ้นค่าแรง กับการป้องกันไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงไปกว่านี้

โฆษกของรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า จำเป็นต้องได้ข้อตกลงจากการหารือภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้ แต่ก็ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเมื่อไหร่

ขณะที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แถลงหลังการประชุมบอกว่า ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุมเห็นเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นตรงกันแล้ว การหารือจะมีขึ้นอีกครั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อร่วมกันออกแบบเครื่องมือในการจัดการวิกฤตค่าครองชีพ

ชอลซ์ยังยอมรับด้วยว่า วิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูงจะยังไม่จบลงในอนาคตอันใกล้ ทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังเผชิญวิกฤตครั้งประวัติศาสตร์

แต่ผู้นำเยอรมนีก็ยืนยันว่า สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อทำให้ประชาชนทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยดี

ปกติแล้วในเยอรมนี การเจรจาที่มีสมาคมผู้ประกอบการและสหภาพแรงงานร่วมด้วยมักจะเป็นการตกลงในเรื่องค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานของเยอรมนีที่มองว่า นี่ยังไม่ใช่เวลามาหารือเรื่องการขึ้นค่าจ้าง รัฐบาลควรหันไปดูว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างไรมากกว่า

การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีเยอรมนี กับสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานเพื่อหาทางแก้ปัญหาค่าครองชีพสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องหาทางรับมือ บรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนและป้องกันไม่ให้ความไม่พอใจจากปัญหาปากท้องลามไปสู่ความปั่นป่วนในสังคม โดยเงินเฟ้อพุ่งกลายเป็นปัญหาร่วมของทั่วโลกตอนนี้

ในประเทศแถบยูโรโซนหรือประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร มีอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนพุ่งไปถึงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แล้วปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ภาวะเงินเฟ้อสูง ที่ข้าวของทุกอย่างล้วนแพงขึ้น มีเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง โดยพื้นฐานแล้วเกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่

1.คนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น แต่ผลิตสินค้าได้ไม่พอความต้องการ ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

และสาเหตุที่ 2 ก็คือต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาให้สูงขึ้น

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อพุ่งหนักหน่วงทั่วโลกตอนนี้ โดยภาพรวมแล้วถูกกระตุ้นจาก 2 ปัจจัยสำคัญด้วยกัน

อย่างแรกคือ ห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพราะการระบาดของโควิด

การล็อกดาวน์ทำให้โรงงานต่างๆ  ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าในตลาด ราคาสินค้าจึงปรับตัวสูงขึ้น

และเมื่อประเทศต่างๆ คลายการล็อกดาวน์ ร้านค้ากลับมาเปิด คนเอาเงินออกมาจับจ่าย ความต้องการสินค้า หรืออุปสงค์จึงพุ่งสูง และมากกว่าอุปทานหรือความสามารถในการผลิตสินค้าเพื่อมารองรับความต้องการ

แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือการขาดแคลนสินค้าหรือไม่ก็ราคาสินค้าพุ่ง เดิมคาดกันว่าปัญหาเงินเฟ้อจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่พุ่งสูง น่าจะบรรเทาลงในปี 2022 จนกระทั่งเกิดสงครามในยูเครนขึ้น

โดยการที่รัสเซียก่อสงครามในยูเครนเป็นปัจจัยที่ 2 ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่หายปั่นป่วนดีจากโควิด

นับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้นรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานและธัญพืชรายใหญ่ของโลกก็ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ซึ่งผลคือทำให้ราคาอาหาร ปุ๋ย รวมถึงพลังงานพุ่งขึ้น

ส่วนการที่รัสเซียทิ้งระเบิดโจมตี ปิด ยึดเมืองต่างๆ ของยูเครน ทำให้ยูเครนในฐานะผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ความขาดแคลนยิ่งสร้างความปั่นป่วนและทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

ปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพงกระทบไปทั่วโลก

ในทวีปอเมริกาใต้ ที่เปรูเมื่อวานนี้ มีการหยุดงานประท้วงของคนขับรถขนส่งทั่วประเทศ จากความไม่พอใจที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไม่หยุด

การหยุดงานประท้วงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชนที่ต้องใช้รถเมล์โดยสาร บางคนบอกว่ารอรถบัสตั้งนานแต่ก็ยังหารถไม่ได้ รถที่จอดรับก็เก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปกติ

ด้านสมาคมผู้ขับรถขนส่งในเปรูบอกว่า การผละงานประท้วงทำให้การขนส่งร้อยละ 80 กลายเป็นอัมพาต และสมาคมจะเดินหน้าประท้วงต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะลงมือทำตามข้อตกลงที่ทำร่วมกับคนขับรถก่อนหน้านี้

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอัตราเงินเฟ้อของเปรูปีนี้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี อยู่ที่ร้อยละ 9.32

ส่วนประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของเอเชียอย่างอย่างเกาหลีใต้ วันนี้รัฐบาลเผยข้อมูลที่ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนมิถุนายนพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อซื้อหามาบริโภค

โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ตัวเลขนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1998 ในช่วงที่เกาหลีใต้เผชิญวิกฤตการเงิน นอกจากนี้ยังเกินกว่าเป้าหมายร้อยละ 2 ที่ธนาคารกลางตั้งไว้เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันด้วย 

ปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มากพอสมควร เมื่อมองจากการที่เกาหลีใต้ค่อนข้างพึ่งพาการค้าต่างประเทศและการไหลเวียนของเงินทุนข้ามแดน โดยเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นในประเทศและเงินวอนอ่อนค่า

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยังระบุว่า ปัจจัยภายนอกเช่น ราคาพลังงาน วัตถุดิบและธัญพืชที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไปจนถึงความปั่นป่วนของห่วงโซ่อุปทาน ก็มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ด้วย

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดยังไม่คิดว่าจะมีความเสี่ยงฉับพลันที่ทำให้เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของเอเชียเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากเกาหลีใต้ได้พัฒนาด้านดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและประวัติการชำหนี้

แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า นี่จะทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี ‘ยุน ซอกยอล’ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน รวมถึงธนาคารของเกาหลีใต้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ