แบงก์ชาติเมียนมา สั่งพักชำระหนี้ต่างประเทศ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

อีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในแถบเดียวกับศรีลังกา และกำลังถูกจับตามองว่าอาจเป็นประเทศต่อไปที่เศรษฐกิจเสี่ยงจะล่มสลาย คือ เมียนมา

การระบาดของโรคโควิด-19 และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 

 การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมานำไปสู่การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีเป้าหมายโจมตีการถือครองธุรกิจในมือของกองทัพ ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาปีที่ผ่านมาหดตัวลง 18 เปอร์เซ็นต์  

รัฐบาลเมียนมา ปล่อยนักโทษต้านรัฐประหารกว่า 5,000 คน

เมียนมา-รัสเซีย กระชับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์และการทหาร

และคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจจะไม่เติบโตเลย ขณะที่ผู้คนมากกว่า 7 แสนคนต้องหนี หรือถูกบังคับให้ออกจากประเทศด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนและกองทัพ

 พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมากล่าวในการแถลงข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า จีดีพีของเมียนมาลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2019-2020 ขณะที่เมียนมามีหนี้ทั้งในและต่างประเทศที่ต้องชำระรวมดอกเบี้ยแล้วปีละประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลยังบริหารประเทศด้วยงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะเดียวกัน เมียนมาเองก็กำลังมีปัญหาค่าเงินอ่อนเช่นกัน โดยตั้งแต่รัฐประหาร เงินจ๊าดของเมียนมาอ่อนค่าไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์  ส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในประเทศพุ่งสูงขึ้น รวมถึงทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง

รัฐบาลเมียนมาได้สั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็นจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลออกและพยุงค่าเงินจ๊าด

ล่าสุด ธนาคารกลางเมียนมาได้ประกาศให้บริษัทและธนาคารในเมียนมาที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศหยุดพักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และให้เจรจาต่อรองกำหนดการชำระหนี้ใหม่กับเจ้าหนี้

นอกจากนี้ ยังสั่งให้บริษัทที่มีบริษัทต่างชาติถือหุ้นสูงสุดถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แลกเงินตราต่างประเทศที่มีเป็นเงินจ๊าด เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อสกุลเงินของประเทศ 

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกคำสั่งเดียวกันนี้ในเดือนเมษายน แต่ตอนนั้นได้ยกเว้นบริษัทต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างมากจากธุรกิจต่างๆ และประชาชน

ทั้งนี้ ทีมข่าวเศรษฐกิจของ PPTV ก็ได้ไปสอบถามภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับประกาศธนาคารกลางเมียนมาว่าส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนมากน้อยแค่ไหน

โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกูล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศของธนาคารกลางเมียนมา มีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะการค้าชายแดน  เพราะเมียนมาถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ที่มีการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคจากไทยเป็นจำนวนมาก ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การค้าชายแดนระหว่างไทย และ เมียนมา เติบโตถึง 10 % 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมดได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่ โดยได้ให้สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมไปตรวจสอบว่า คู่ค้าของแต่ละรายอยู่ในข่ายตามประกาศของธนาคารเมียนมาด้วยหรือไม่ หรือจะเกิดปัญหาชะลอการชำระหนี้ตามมาหรือไม่ 

ขณะเดียวกันเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมา มีทั้ง โรงไฟฟ้า พลังงาน วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่ม ต่างก็ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายรวม  เช่น บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้ามินบูในเมียนมา ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากมาตรการของธนาคารกลางเมียนมา เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้ามินบูไม่มีการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ  และธุรกิจโรงไฟฟ้าฯ เป็นสาธารณูปโภคซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของประเทศเมียนมา จึงไม่ได้เป็นสินค้าในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ