เบลารุสมีชายแดนติดกับทางเหนือของยูเครน เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกันผู้นำคนปัจจุบันคือ ประธานาธิบดี "อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก" ซึ่งมีความใกล้ชิดและภักดีกับประธานาธิบดี "วลาดิเมียร์ ปูติน" ของรัสเซีย
ก่อนการรุกรานยูเครนไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปที่เบลารุส โดยระบุว่า เพื่อทำการซ้อมรบตามปกติ
เบลารุส ขู่ตัดท่อส่งก๊าซ โต้ “อียู” คว่ำบาตร ปมช่วยผู้อพยพเข้ายุโรป
“ปูติน”แนะวิธีแก้ไขราคาอาหารทั่วโลกพุ่ง แต่ตะวันตกต้องยกเลิกคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตามหลังการซ้อมรบเสร็จสิ้น ทหารรัสเซียไม่กลับประเทศ แต่เคลื่อนทัพเข้าประเทศยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และในวันที่ประชาคมโลกคว่ำบาตรรัสเซีย ผู้นำเบลารุสยังคงให้รัสเซียใช้พื้นที่ในการประจำการทหาร และเป็นเส้นทางส่งเสบียงและกำลังบำรุง
หลังรัสเซียบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผู้นำของเบลารุสได้พบกับประธานาธิบดีปูตินอย่างน้อย 2 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กลางเดือนเมษายน ในช่วงที่ประธานาธิบดีปูตินเดินทางไปที่แคว้นอามูร์ ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียเพื่อรำลึกถึงวันที่ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวรัสเซียได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นคนแรกของโลกในปี 1961 ในงานดังกล่าว ประธานาธิบดีลูคาเชนโกปรากฏตัวเคียงข้างประธานาธิบดีปูติน
ครั้งที่ 2 ที่ลูคาเชนโกเจอกับปูติน คือเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่นครเซนต์สปีเตอร์เบิร์กของรัสเซีย ในคราวนั้น ผู้นำเบลารุสขอให้ประธานาธิบดีปูตินช่วยทำให้กองทัพเบลารุสเข้าถึงศักยภาพทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการปรับแต่งเครื่องบินรบแบบ Su-25 ให้สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีได้ เพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่มากขึ้นบริเวณแนวชายแดน
ลูคาเชนโกเป็นผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ เขาถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร ทำให้เขาตัดสินใจที่จะให้เบลารุสพึ่งพารัสเซียมากขึ้นในทางเศรษฐกิจและการค้า โดยการค้าของเบลารุสประมาณร้อยละ 48 เป็นการค้าขายกับรัสเซีย นี่คือตัวอย่างที่ชี้ว่า เบลารุสแนบแน่นกับรัสเซียในแทบทุกระดับ
ความเห็นของผู้นำเบลารุสต่อสงครามในยูเครนจึงน่าสนใจ ประเด็นแรกที่ผู้นำเบลารุสพูดคือ สงครามครั้งนี้ต้องยุติได้แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหยุดก่อนที่จะมีการใช้นิวเคลียร์
ผู้นำเบลารุสบอกด้วยว่า รัสเซียยังไม่ได้ใช้ศักยภาพทางการทหารของตนเองอย่างเต็มที่ ยังมีอาวุธอีกมากมายที่รัสเซียยังไม่ได้ใช้ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเบลารุสไม่ได้เสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมว่าจะยุติสงครามในครั้งนี้อย่างไร โดยเขาระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของชาติตะวันตกที่พยายามคุกคามและบั่นทอนความมั่นคงของรัสเซีย และการที่ยูเครนไม่ยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับรัสเซียตั้งแต่แรกๆ คือเหตุผลที่ทำให้สงครามถูกลากยาวต่อไปเรื่อยๆอย่างที่มองไม่เห็นที่สิ้นสุด