เครื่องบินรบทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ก่อนเร่งเครื่องจนถึงระดับความเร็วเหนือเสียง คือโฉมหน้าของ ตูโปเลฟตู-160 เครื่องบินรบสัญชาติรัสเซียที่สามารถติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ได้ หนึ่งในอาวุธทรงประสิทธิภาพ
รัสเซียส่งเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของแผนการซ้อมรบที่ดำเนินการในมหาสมุทรอาร์กติก ทะเลดำ และทะเลบอลติก บ่งชี้ถึงความพยายามขยายอิทธิพลและประกาศความเป็นเจ้าของยังดินแดนดังกล่าว
ขั้วอำนาจใหม่ จัดประชุม "BRICS" จับมือเศรษฐกิจข้าง “ปูติน”
ชาวยูเครนใช้ชีวิตยากลำบาก ท่ามกลางสงครามที่ไม่รู้จบ
ดินแดนที่ขณะนี้อยู่ในความสนใจของนานาชาติคือ อาร์กติก และไม่เพียงแค่ส่งเครื่องบินรบแสดงแสนยานุภาพ แต่ขณะนี้สิ่งปลูกสร้างมากมายจากรัสเซียกำลังผุดขึ้นบนผืนน้ำแข็ง
ฐานทหารขนาดใหญ่นี้ตั้งอยู่บนเกาะอเล็กซานดรา ดินแดนของรัสเซียในมหาสมุทรอาร์กติก แวดล้อมไปด้วยอาวุธพร้อมสรรพ ทั้งรถหุ้มเกราะ เครื่องยิงจรวด ลานบินอันแข็งแรงทนทาน และนายทหารประจำการพร้อมรบ
หนึ่งในสัญลักษณ์ของการจับจองพื้นที่ในฐานะที่รัสเซียมีอาณาเขตติดกับภูมิภาคอาร์กติกมากที่สุด
ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนใจดินแดนรกร้างที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำแข็งละลาย ได้เปิดปราการที่เคยขวางกั้นออก
อาร์กติกจึงกลายมาเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของแหล่งพลังงานและอำนาจในทางเศรษฐกิจ น้ำแข็งที่ละลายมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มหาสมุทรอาร์ติกเชื่อมต่อเข้ากับทะเลอื่นๆ นี่คือเส้นทางเดินเรือใหม่ที่รัสเซียวาดหวัง
เทียบกับเส้นทางเดิมที่ต้องอ้อมยุโรปและผ่านคลองสุเอช เส้นทางใหม่ลดเวลาลงถึง 15 วัน ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายมหาศาล
คาดกันว่าในปี 2035 น้ำแข็งที่หายไปจะยิ่งช่วยให้เส้นทางนี้คึกครื้นมากขึ้น และขณะนี้รัสเซียตื่นตัวก่อนใครเพื่อน พร้อมจะเป็นประเทศหลักผู้ควบคุมเส้นทาง
รายงานจาก ดิมิทรี โลบูซอฟ กัปตันเรือที่เคยมีประสบการณ์เดินทางในอาร์กติกเล่าว่า ในทศวรรษ 1990 ผืนน้ำแข็งหนากว่านี้มาก
การเดินทางที่ง่ายขึ้น คือประจักษ์พยานชัดเจนว่าอาร์กติกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งละลายไม่เพียงเปิดเส้นทางใหม่ แต่ยังเปิดเผยขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ แหล่งพลังงานที่จะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ลึกลงไปใต้ผืนน้ำแข็ง อาร์กติกมีก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ถูกค้นพบมากถึงร้อยละ 30 และน้ำมันอีกราวร้อยละ 13 ยังไม่นับรวมถึงแร่หายากอีกจำนวนมาก
ท่ามกลางทรัพยากรโลกที่กำลังร่อยหรอ นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ อาร์กติกจะเป็นดินแดนใหม่ที่นานาชาติแย่งกันเข้าถึง
ปัจจุบันมีมีไม่กี่ประเทศที่มีสิทธิในดินแดนรกร้างห่างไกลนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และรัสเซีย แต่พิจารณาจากแผนที่แล้ว รัสเซียครอบคลุมอาณาเขตมากที่สุดถึงร้อยละ 60
ล่าสุดท่ามกลางนโยบายคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน บริษัทรอสเนฟต์ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียประกาศโครงการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งใหม่ในอาร์กติกแล้ว
ส่วนหนึ่งของอภิมหาโปรเจคที่รัสเซียต้องการสร้างเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ โดยคาดกันว่าโครงการจะเสร็จสิ้นในปี 2030
นอกจากนี้ยังมีเมกะโปรเจคด้านพลังงานอีกมากมายที่จะตามมา หนึ่งในนั้นคือโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Arctic LNG 2 ที่กำลังก่อสร้าง
ดอกผลในอาร์กติกกำลังจะผลิบาน ฉะนั้นแล้ว การวางกำลังทหารตามจุดต่างๆ ของอาร์กติกจึงเป็นนโยบายจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อรับประกันความมั่นคงด้านทรัพยากรในอาร์กติกที่เป็นของรัสเซีย
แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความกังวลของชาติอื่นๆ ต่อการผงาดขึ้นของรัสเซียในอาร์กติก
สหรัฐฯ กังวลความมั่นคง ขณะเดียวกันก็หวั่นเกรงการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของอาร์กติกด้วย ยังไม่นับรวมประเทศอื่นๆ ที่แม้ไม่มีพรมแดนติดอาร์กติก อย่างจีน และสหราชอาณาจักรก็ล้วนอยากมีส่วนร่วมในดินแดนใหม่เช่นกัน
ถ้อยแถลงจากประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ในวันกองทัพเรือรัสเซียที่ผ่านมา ผู้นำประกาศสิ่งที่เรียกว่า New Navy Doctrine หรือหลักนิยมกองทัพเรือฉบับใหม่ แน่นอนว่า มหาสมุทรอาร์กติกถูกรวมอยู่ในนั้น
ขณะเดียวกันยังพาดพิงถึงสหรัฐฯ และนาโต้ว่าเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากพันธมิตรชาติตะวันตกพยายามที่จะควบคุมมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลกและขยับเข้าใกล้พรมแดนรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับอาร์กติก ในอนาคตอันใกล้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การแข่งขันอันดุเดือดระหว่างนานาชาติในการจับจองพื้นที่ กองทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนนักวิจัยและบริษัทพลังงานของชาติต่างๆ ที่มีกรรมสิทธิ์ในอาร์กติกจะถูกส่งไปที่นั่น เพราะไม่อาจปล่อยให้รัสเซียขยายอิทธิพลเพียงฝ่ายเดียว
ความร่วมมือระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียยากจะเกิดขึ้น ตราบใดที่สงครามในยูเครนยังไม่ยุติ นั่นหมายความว่า อาร์กติกอาจกลายมาเป็นสมรภูมิใหม่ในอนาคตที่แต่ละชาติจำเป็นต้องปกป้องดินแดนและผลประโยชน์ของตน
ท่ามกลางน้ำแข็งที่กำลังละลายในอัตรารวดเร็วและผืนทะเลที่กำลังเปิดกว้าง แรงกดดันจากความขัดแย้งของมนุษย์ก็ทวีความร้อนแรงให้กับพื้นที่อันหนาวเหน็บแห่งนี้ด้วยเช่นกัน