“ทุเรียน” ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไปยังนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดที่สำคัญอย่าง “ประเทศจีน” ซึ่งเป็นปลายทางการส่งออกทุเรียนที่สำคัญ
ทุเรียนเป็นสินค้าที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมากในประเทศจีน และกลายเป็นสินค้านำเข้าประเภทผลไม้อันดับต้น ๆ ในแง่ของปริมาณและมูลค่า
ส่งออกมันสำปะหลังครึ่งปีแรก 8.2 หมื่นล้าน หวังดันทั้งปีทำสถิติสูงสุดรอบ 15 ปี
ยึดทุเรียน 8 พันต้น เตรียมขนออกนอกประเทศ มูลค่ากว่า 2 แสนบาท
ทุเรียนไทยล็อตแรก ข้ามน่านฟ้าสู่จีน ผ่านด่านสนามบินหนานหนิง
แต่เมื่ออาเซียนรวมถึงไทยต้องพึ่งพาจีนในการส่งออกทุเรียนขนาดนี้ จึงเกิดคำถามสำคัญว่า หากวันหนึ่งจีนผลิตทุเรียนได้เอง (ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้สูงด้วย จากศักยภาพในภาคการผลิตด้านต่าง ๆ ของจีน) จะเกิดผลกระทบต่ออาเซียนในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอย่างไรบ้าง
ความเฟื่องฟูของตลาดทุเรียนในจีนถูกเร่งโดย ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2022 ที่ทำให้จีนสามารถนำเข้าผลไม้สดจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน RCEP เป็นการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็น 30% ของ GDP โลก
ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ครึ่งปีแรกยอดทะลุ 1 ล้านตัน รายได้กว่า 8 หมื่นล้าน
เริ่มใช้จ่าย 1 ก.ย.นี้ “คนละครึ่ง เฟส 5” พบยังไม่ยืนยันสิทธิเกือบ 8 ล้านราย
สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าร่วม RCEP ถือเป็นลมหนุนที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมการส่งออก นอกเหนือจากการยกเลิกภาษีแล้ว ขั้นตอนทางศุลกากรสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะแล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทุเรียนได้อย่างมาก
จีนคลั่งไคล้ทุเรียนแค่ไหน?
เมืองสิบสองปันนาในมณฑลยูนนานของจีนเป็นที่รู้จักกันว่า มีทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ตลาดค้าส่งผักและผลไม้หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มักเต็มไปด้วยพ่อค้าคนกลางและนักท่องเที่ยว และทุเรียนหลากหลายชนิดละลานตาที่ถูกนำเข้ามาจากทั่วภูมิภาค
ตามคำบอกของเจ้าของร้านทุเรียนแห่งหนึ่ง ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด ตลาดสามารถขายทุเรียนได้อย่างน้อย 1 ตันทุกวัน และแม้ว่าต้นทุนการนำเข้าทุเรียนจากอาเซียนจะลดลงตั้งแต่ RCEP มีผลบังคับใช้ แต่ราคาทุเรียนในจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2021 จีนนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้น 42.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 821,600 ตัน และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 82.4% เป็น 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.53 แสนล้านบาท) ตามสถิติของศุลกากรจีนพบว่า การนำเข้าทุเรียนเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปี 2017 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้
แม้จะมีราคาเฉลี่ยสูงเกือบ 50 หยวน (ราว 250 บาท) “ต่อชิ้น” แต่ทุเรียนก็ยังเป็นที่นิยมในจีน จากรสชาติหอมมันและคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ทุเรียนมักถูกวางซ้อนกันอย่างเด่นชัดในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบทุกแห่งของจีน และมีการสร้างสรรค์รายการเมนูที่มีเอกลักษณ์มากมาย เช่น เค้กทุเรียน เครปนมทุเรียน พิซซ่าทุเรียน และหม้อไฟทุเรียน ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประเทศผู้ผลิตในอเซียนต่างเร่งขยายการส่งออก เฉพาะประเทศไทยเอง สามารถผลิตทุเรียนได้ประมาณ 1.29 ล้านตันในปี 2021 เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปี 2019
เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในจีนกล่าวว่า “การนำเข้าทุเรียนของจีนนั้นสูงอยู่แล้ว แต่การบริโภคต่อหัวของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเกษตรกรไทยจึงมีแรงจูงใจอย่างมากที่จะขยายการผลิต”
สินค้าทุเรียนกลุ่มไฮเอนด์ เช่น “ทุเรียนมูซังคิง (Musang King)” ของมาเลเซีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “แอร์เมสของวงการทุเรียน” ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลมาเลเซียหนุนการขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อส่งเสริมการส่งออกสุดยอดทุเรียนของชาติตัวเอง ขณะที่เวียดนาม ลาว และกลุ่มทุนจีนเอง ก็กำลังเห็นกระแสการลงทุนในวงการทุเรียนด้วย
พึ่งพาจีนมากเกินไปอาจส่งผลเสีย?
อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูของทุเรียนในจีนก็มีความท้าทายที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังอยู่บ้าง
ประการแรก ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เกิดหยุดชะงัก ตัวอย่างเช่น มาเลเซียกำลังพัฒนาสวนทุเรียนอย่างรวดเร็วในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ นี่เป็นความเสี่ยงที่จะแลกทรัพยากรธรรมชาติกับการลงทุนในทุเรียน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ความคลั่งไคล้ทุเรียนของจีนจะอยู่นานแค่ไหน หากกระแสความนิยมลดลงมาก สิ่งที่ลงทุนและยอมแลกไปนี้อาจไม่คุ้ม
นอกจากนี้ ต้นทุเรียนต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีจึงจะสุกและออกผลที่ส่งออกได้ หากจีนหยุดหรือลดการนำเข้าหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เกษตรกรอาจจะประสบกับความสูญเสียมหาศาล
ที่น่ากังวลกว่านั้น คือขณะนี้จีนเองก็กำลังพยายามที่จะวิจัยพัฒนาและผลิตทุเรียนของตัวเองขึ้นมา ซึ่งน่ากลัวมากว่าจะประสบความสำเร็จในเวลาไม่นาน เมื่อคำนึงถึงความสามารถในการวิจัยและการผลิตที่เข้มแข็งของจีน
ประธานบริษัทแห่งหนึ่งที่ลงทุนในการปลูกทุเรียนในเกาะไหหลำ ซึ่งตั้งเป้าที่จะผลิตมูซังคิงขึ้นมาเอง กล่าวว่า “สภาพภูมิอากาศของเกาะไหหลำนั้นแตกต่างจากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงอย่างนั้น เราคิดว่าเราจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นแรกเพื่อการค้าได้ภายในเวลา 2 ปี”
ที่ผ่านมา ประเทศจีนมีความพยายามหลายครั้งในการผลิตทุเรียนระดับไฮเอนด์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของตัวเอง เช่น มณฑลยูนนาน กวางสี และไหหลำ แม้ว่าภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เจอพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้งจะไม่เอื้ออำนวยนัก แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีนได้ผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ตัดสินใจลงทุนในการผลิตทุเรียนมากขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้นหากจีนประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนเองภายในประเทศ? หากคุณภาพผลิตภัณฑ์ดีเหมือนก๊อปวางมาจากทุเรียนในอาเซียน และหากวันใดที่จีนสามารถผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพเองได้จำนวนมาก เราอาจเห็นภาพทุเรียนจีนแพร่กระจายและครอบงำในตลาด ก็เป็นไปได้ว่า จีนอาจลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ผลิตและส่งออกในอาเซียนอย่างแน่นอน
เรียบเรียงจาก Nikkei Asia
ภาพจาก AFP