เปิดเบื้องลึก เบื้องหลัง ของ "ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง" กับการเปลี่ยนตัวผู้นำจีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้จะพาไปเจาะลึกข้อมูล ระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกฯ หลี่เค่อเฉียง หลังมีข่าวลือของการเปลี่ยนตัวผู้นำจีน

ก่อนหน้านี้มีภาพประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ปรากฎเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่อุซเบกิสถานเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีกระแสข่าวลือในไทย เรื่องอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้นำจีน ซึ่งไม่มีการรายงานในสื่อใหญ่ๆ ระดับโลกแต่อย่างใด ผู้ติดตามสถานการณ์ในจีน ได้พยายามหาที่มาของข่าว ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นข่าวที่ปล่อยจากกลุ่มคนจีนที่อยู่ในสหรัฐ และมีสื่ออินเดียนำมาเล่นต่อ 

ทูตจีน เผยกำลังเตรียมรองรับ "สี จิ้นผิง"ร่วมเอเปค

“ปูติน” ลงนามอนุมัติ มอบสัญชาติรัสเซียให้ “สโนว์เดน”

ถึงแม้จะเป็นข่าวปลอม แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่มีการปล่อยข่าวนี้มาในช่วงก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนหน้า ที่จะมีการรับรองการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดี สี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกหลังได้มีการเปลี่ยนกฎที่ให้ผู้นำอยู่ในตำแหน่งได้ 2 สมัยโดยเป็นการเปิดทางให้ประธานาธิบดีสี อยู่ในตำแหน่งนานเท่าที่ต้องการ ความพยายามที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมก่อนการประชุม เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีสีรู้ดี และได้พยายามอย่างมาก ที่จะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอะไรระหว่างทางในการดำรงตำแหน่งสมัยที่  3  

ในข่าวลือระบุว่าคนที่จะมาเป็นผู้นำแทนประธานาธิบดีสี คือ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจอันดับ 2 

ในจีน ทำไมเป็นเช่นนั้น ผู้ปล่อยข่าวอาจจับจุดความไม่ลงรอยระหว่างผู้นำทั้ง 2 คน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรายงานในสื่อใหญ่ ๆ มาแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประธานาธิบดีสี เรียกร้องให้คนทั้งประเทศทำสงครามกับโควิด และยึดนโยบายโควิดเป็นศูนย์ 

แต่จู่ ๆ นายกหลี่ กลับเรียกประชุมทางวิดีโอกับผู้นำท้องถิ่น ขอให้สร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโควิดกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากนั้นนายกฯ หลี่ได้ใช้อีกหลายโอกาส เตือนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับจีนจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ 

สิ่งที่นายกหลี่พูด ดูจะย้อนแย้งกับนโยบายของประธานาธิบดีสี และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในจีน มองว่า สิ่งที่นายกหลี่พูด เหมือนกับกาประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 1962 ที่มีการย้อมรับความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดด ที่พยายามจะทำให้เศรษฐกิจจีนทันสมัย แต่กลับทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารผู้คนล้มตายจำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม สร้างความประหลาดใจให้ผู้ติดตามสถานการณ์ในจีน ที่จู่ ๆ หลี่เค่อเฉียง ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และที่ผ่านมาทำงานอยู่ใต้เงา สี จิ้นผิง กลับขึ้นมาโดดเด่น

หลี่เคยถูกมองว่าจะมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป โดยเขาเป็นคนในสายของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นทาว หลี่ได้รับการมอบหมายให้ดูแลการรับมือกับการระบาดของโควิด แต่นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ และในช่วงหลัง ๆ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ได้รับการวิจารณ์มากหลังจากที่มีการปิดเมืองใหญ่หลายเมืองรวมถึงเซี่ยงไฮ้ ที่ส่งผลต่อการค้าและการผลิต

ในช่วงเดือนพฤษภาคม นักวิเคราะห์พยายามมองหาสัญญาณจากสิ่งที่หลี่พูด ที่มีมากกว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจ หนึ่งในสัญญาณที่จะจับได้ คือ การรายงานของหนังสือพิมพ์ พีเพิลเดลี่ ของทางการจีน ซึ่งมักจะสะท้อนความเห็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงแม้จะมีการสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งของประธานาธิบดีสีต่อเนื่อง แต่มีอยู่ 5 ครั้ง ที่เรื่องของประธานิบดีสี ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่พาดหัว 

ขณะที่นายกหลี่ กลับมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น และมีการนำเอาเนื้อหาสิ่งที่พูดในการประชุมทางเศรษฐกิจของเขามาเผยแพร่ ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อจีนมองว่า จากเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีสัญญาณที่สับสนส่งออกมาทั้งคำถามที่เกิดกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์และแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการตอบในเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ต้องมาจากประธานาธิบดีสี คนเดียวอีกต่อไป นั่นทำให้มีการคาดการว่า ประธานาธิบดีสี อาจเจอแรงต้านภายในพรรค และอาจเป็นโอกาสของนายกหลี่ ที่อาจมีความคิดที่ดีกว่าในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ

หลี่เค่อเฉียง รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2013 และเขาจะหมดวาระในเดือนมีนาคมปีหน้า เป็นเวลา 10 ปีที่บริหารประเทศร่วมกับประธานาธิบดีสี และคาดว่าจะไม่มีชื่อเขาในการประกาศผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ในเดือนตุลาคม

ในขณะที่ประธานิบดีสีจิ้นผิง มาจากครอบครัวของผู้นำทางการเมือง แต่หลี่เค่อเฉียงมาจากครอบครัวคนธรรมดา พ่อของเขาเป็นข้าราชการในเมืองเล็ก ๆ ของมณฑลอันฮุย หลี่เป็นเด็กที่เงียบ ๆ ไม่ซนและรักการเรียน 

ในปี 1978 เขาได้เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่บ่มเพาะนักวิชาการ และนักการเมืองสายเสรีนิยมหลายคน เขาเรียนปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่นิยมแนวคิดตลาดเสรี หลี่ได้เข้าร่วมทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ซึ่งได้ปูทางให้เขาก้าวเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์ 

 

คอนเทนต์แนะนำ
มท.จัดงบ 2.23 พันล้าน จาก"การไฟฟ้านครหลวง-ภูมิภาค"ลดค่าไฟเดือนก.ย.
ปภ. เตือน 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง รับมือระดับน้ำเพิ่มสูง ช่วง 28 ก.ย. – 2 ต.ค. 65

 

และในปี 2013 ด้วยการสนับสนุนจากประธานาธิบดีหู จิ่นทาว ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง หลี่เค่อเฉียงก็ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  หลี่เข้ามาในขณะที่จีนกำลังเจอกับแรงกดดันครั้งใหญ่ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรป และเศรษฐกิจที่ถดถอยในสหรัฐ ในปี 2012 จีนเจอกับสภาวะผลผลิตทางอุตสาหกรรมตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000 

หลี่ ได้กล่าวในสุนทรพจน์หลังรับตำแหน่ง ที่จะปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบาของเขามีคนตั้งชื่อให้ว่า "หลี่โคโนมิกส์" โดยมุ่งเน้นการลดการแทรกแซงของรัฐบาลในตลาดเสรี รวมถึงการลดภาษี ทำให้ขั้นตอนการรับรองการทำธุรกิจไม่สะดุด และยกเลิกข้อกำหนดเรื่องเงินทุนสำหรับบริษัทใหม่ ๆ นอกจากนั้นยังได้ลดรายชื่อบริษัทลงทุนจากต่างชาติที่ติดเรตลบของจีนลง ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลงทุนต่างประเทศ ถึงแม้นโยบายของหลี่ตามทฤษฎีแล้ว เป็นนโยบายที่ดีแต่การนำไปปฏิบัติใช้กลับมีปัญหา เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการเมืองในการนำไปใช้ ซึ่งอุปสรรคสำคัญไม่ใช่อะไรหรือใครที่ไหนแต่คือผู้ชายที่ชื่อ "สี จิ้นผิง" 

ในการแก้รัฐธรรมนูญปี 2018 ทำให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่จำกัดวาระ แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึง หลี่ต้องลงจากตำแหน่งในปีหน้า 

นอกจากนั้นประธานาธิบดีสี ยังขยายอำนาจมายังส่วนที่เป็นการดูแลของหลี่ ทำให้สีถูกตั้งฉายาว่าเป็นประธานของทุกอย่าง นับตั้งแต่สีขึ้นมามีอำนาจเมื่อปี 2012 เขาได้จัดตั้งและเป็นประธานของคณะทำงานต่าง ๆ มากมายตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจ ไปจนถึงเรื่องกิจการไต้วันและความมั่นคง ทำให้แทบจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้หลี่ในการตัดสินใจผลักดันความคิดของตัวเอง รัฐบาลกลางซึ่งหลี่เป็นนายก ได้ถูกเปลี่ยนหน้าที่จากผู้กำหนดนโยบาย มาเป็นผู้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตาม

ถึงแม้จะเหลือเวลาไม่มากในตำแหน่ง แต่หลี่ก็ยังไม่หยุดที่จะพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด เขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ 6 มณฑลใหญ่ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ เพื่อหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไปเยือนเสิ่นเจิ้น ที่เป็นสัญลักษณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน รวมถึงกล่าวชื่นชมเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าประธานาธิบดีสี ชื่นชมเหมาเจ๋อตุง และไม่ค่อยชอบพูดถึงเติ้งเสี่ยวผิง 

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน มองว่า ใครที่มองว่าหลี่จะสามารถมาล้มประธานาธิบดีสีได้ คงคิดผิดถึงแม้จะมีความกังวลของคนในพรรค เรื่องอำนาจรวมศูนย์มาอยู่ในมือของประธานาธิบดีสี เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สีได้สร้างบารมีและเครือข่ายอย่างแข็งแกร่ง และการปล่อยให้หลี่ออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจในตอนนี้อาจเป็นแผนของสี เพราะหากพลาดคนที่จะต้องรับผิดชอบ คือ หลี่ 

แต่หากสำเร็จคนที่ได้ประโยชน์ก็คือสี ถึงแม้ในช่วงต้นปีจะมีสัญญาณว่าอาจมีความท้าทายเกิดขึ้นบ้าง แต่ในตอนนี้ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก่อนการประชุมใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จะไปเลือกใครให้มาเป็นผู้นำต่อนอกจากผู้ชายที่ชื่อ "สี จิ้นผิง"

 

คอนเทนต์แนะนำ
ชาวคิวบาลงประชามติเห็นชอบกฎหมายคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้
ฟิลิปปินส์สั่งปิดบริษัท 175 แห่ง เกี่ยวพันการพนันออนไลน์ในจีน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ