โดยตัวเลขที่ผู้นำรัสเซียประกาศคือ 300,000 คน แต่สื่อรัสเซียบางแห่งระบุว่า ตัวเลขจริงที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการเกณฑ์ไปรบมีสูงถึง 1 ล้านคน นี่ทำให้เกิดการประท้วงสงครามและต่อต้านการระดมพลสำรองขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ห่างไกลของรัสเซีย ซึ่งตกเป็นเป้าหมายหลักของการระดมพลครั้งนี้
หนึ่งในนั้นคือ เขตปกครองสาธารณรัฐดา-เก-สถาน (Dagestan) ในเขตสหพันธ์รัฐคอเคซัสเหนือของรัสเซีย (North Caucasian Federal District) ใกล้กับชายแดนแคว้นเชชเนีย
ยูเครนจ่อเอาผิดชาวยูเครนที่ช่วยรัสเซียจัดลงประชามติผนวกดินแดน
“ปูติน” ลงนามอนุมัติ มอบสัญชาติรัสเซียให้ “สโนว์เดน”
ดาเกสถานเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนและไม่มีเสถียรภาพมากที่สุดของรัสเซีย ประชากรจำนวนมากเป็นชาวมุสลิมมีรายงานว่าผู้ชายที่นี่กำลังตกเป็นเป้าหมายของการระดมพลไปรบในยูเครน
หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่ารายงานดังกล่าวมีมูล คือการออกมาประท้วงของคนที่นั่น เช่นภาพนี้ หญิงคนดังกล่าวออกมาท้าทายตำรวจแบบไม่กลัวตาย
นอกจากดาเกสถานแล้ว อีกหนึ่งภูมิภาคที่ตกเป็นเป้าของการระดมพลคือ ไซบีเรีย ที่นี่มีการประท้วงต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการประกาศระดมพล โดยเป็นการประท้วงแบบกลุ่มเล็กๆ เพราะตำรวจพร้อมที่จะจับเข้าคุกทันทีที่มีการชุมนุม
ส่วนนี่คือบรรยากาศการประท้วงที่เมืองยาคุตสก์ ที่อยู่ไม่ไกลจากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย บรรดาผู้ประท้วงที่นี่ใช้วัฒนธรรมที่แสดงอัตลักษณ์อย่างการรวมกลุ่มเต้นและร้องเพลงเพื่อต่อต้านสงครามและการระดมพลของผู้นำรัสเซีย อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมเหล่านี้ก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมเหมือนกับผู้ประท้วงในเมืองอื่น ๆ ถัดไปดูที่ภูมิภาคบอลข่าน ที่นี่ก็มีการปะทะคารมอย่างดุเดือดระหว่างบรรดาผู้หญิงกับเจ้าหน้าที่ของทางการรัสเซีย โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่า หญิงกลุ่มนี้เป็นแม่ของผู้ที่เข้าเกณฑ์และถูกเรียกให้เข้ารับการฝึกเพื่อส่งไปรบในยูเครน พวกเธอถามเจ้าหน้าที่ของทางการแบบตรงไปตรงมาว่ามาเกณฑ์ทหารไปทำไม
นอกจากการประท้วงแล้ว การประกาศระดมพลกำลังสำรองยังก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างการทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือการพยายามฆ่าตัวตายเพื่อประท้วง โดยที่เมืองอุสต์-อิลิมสก์ (Ust-Ilimsk) เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงภายในสำนักงานสัสดี
อิกอร์ คอปเซฟ ผู้ว่าการภูมิภาคอีร์คุตสก์ (Irkutsk) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย นั่นคือหัวหน้าสำนักงานสัสดี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ส่วนผู้ก่อเหตุนั้นถูกควบคุมตัวได้ทันทีในที่เกิดเหตุและต้องได้รับโทษอย่างแน่นอน อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การพยายามจุดไฟเผาตัวเอง
สำนักข่าวโนวายากาเซียตาของรัสเซียรายงานว่า มีชายคนหนึ่งพยายามจุดไฟเผาตัวเองที่สถานีขนส่งในเมืองไรยาซาน (Ryazan) ที่อยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 185 กิโลเมตร ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าดับไฟและให้ความช่วยเหลือ ชายคนนี้ก็ตะโกนว่าไม่อยากไปรบในยูเครน ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถพยาบาลไป
รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ด้านตะวันออกคือทวีปเอเชีย ส่วนด้านตะวันตกคือยุโรป ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่างมอสโก
สื่อท้องถิ่นรัสเซียรายงานว่า คนที่ถูกระดมจำนวนมากเป็นคนพื้นที่ห่างไกลจากเมืองหลวง เช่นในภูมิภาคไซบีเรียทางตะวันออก คอเคซัส และทางใต้อย่างภูมิภาครอสตอฟ ออนดอน
ผ่านมาแล้วหนึ่งสัปดาห์ คนที่ได้รับหมายเรียกเริ่มทยอยเข้าศูนย์ฝึกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางน้ำตาและความอาลัยจากครอบครัว
ภาพที่เกิดขึ้นในเมืองรอสตอฟออนดอน หนุ่มสาวคู่นี้เข้าพิธีแต่งงานแบบง่ายๆ ก่อนที่ฝ่ายชายจะอำลาภรรยา มุ่งหน้าไปเข้าศูนย์ฝึก ก่อนที่จะถูกส่งไปรบที่ยูเครน ท่ามกลางการร่ำไห้ของครอบครัว ฝ่ายชายให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขากลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาก ๆ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนในเมืองรอสตอฟออนดอนที่กลัวการไปรบในยูเครน หลายคนที่มารายงานตัวบอกว่า พวกเขาไม่กลัวและจำเป็นต้องไปรบเพื่อปกป้องแผ่นดินรัสเซีย
ส่วนที่แคว้นคัมชัตกา ซึ่งเป็นภูมิภาคในตะวันออกไกลของรัสเซีย บรรดาผู้ชายที่ได้รับหมายเรียก ร่ำลาคนในครอบครัวที่มารอส่ง ท่ามกลางเสียงร้องไห้และน้ำตา
และนี่คือภาพภายในศูนย์ฝึกในภูมิภาคคัมชัตกา บรรดาครูฝึกนำอาวุธออกมาแจกจ่ายให้กับพลสำรอง บางคนมีประสบการณ์ในการใช้มาก่อน บางคนไม่เคยจับปืนเลย เมื่อผ่านการฝึกแล้ว คนเหล่านี้จะถูกส่งไปรบในสงครามยูเครนทันที
นักวิเคราะห์ระบุว่า การประกาศระดมพลสำรอง 300,000 นาย หรือที่สื่อรัสเซียบางสำนักบอกว่ามีถึง 1 ล้านนาย คือความพยายามอีกครั้งของประธานาธิบดีปูตินในการพลิกสถานการณ์สงครามที่รัสเซียกำลังเสียเปรียบ
อย่างไรก็ดีนอกจากการระดมพลแล้ว รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายลงโทษทหารหนีทัพด้วย
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินลงนามประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ระบุว่า ผู้ละทิ้งหน้าที่ มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี บังคับใช้กับทหารที่ยอมจำนนต่อข้าศึก พยายามหลบหนี หรือปฏิเสธการรบ
ด้านประธานาธิบดียูเครนได้ออกมาแสดงความเห็นและยื่นข้อเสนอให้กับทหารรัสเซียที่ไม่อยากทำสงคราม
โดยประธานาธิบดีเซเลนสกีระบุว่า ขอให้คนที่ไม่อยากทำสงครามยอมจำนน และยูเครนจะให้สัญญา 3 ข้อ
ข้อแรก ทหารเหล่านั้นจะได้รับการปฎิบัติเยี่ยงอารยะตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้อที่สอง จะไม่มีการให้ข้อมูลกับรัฐบาลรัสเซียว่ามีการยอมจำนน
และข้อสุดท้ายคือ จะไม่มีการส่งตัวกลับไปที่รัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนเชลยสงคราม
หลังการออกมาประกาศของประธานาธิบดีเซเลนสกี ยังไม่มีการตอบโต้ใดๆ ออกมาจากรัฐบาลรัสเซีย มีเพียงการแสดงความเห็นของหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของรัสเซียอย่าง พระสังฆราชประจำศาสนจักรออธอร์ดอกซ์แห่งมอสโก
เมื่อคืนที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชคิริลที่ 1 (Kirill I) ออกมากล่าวว่า ชาวรัสเซียที่ออกไปรบทุกคนกำลังทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ และการเสียสละหรือการตายเพื่อหน้าที่จะเป็นการลบล้างบาปทั้งปวงที่เคยทำมาในชีวิต
แต่ไม่ว่าโทษทางกฎหมายจะรุนแรงแค่ไหน หรือสังฆราชผู้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจจะออกมาพูดแบบใด ก็ไม่สามารถหยุดการอพยพออกนอกประเทศของชาวรัสเซียได้ สังเกตได้จากชายแดนของประเทศรัสเซียที่มีผู้คนพยายามอพยพออกไปอย่างล้นหลาม
ภาพจากบริษัทแมกซาร์ เทคโนโลยี (Maxar Technology) ที่แสดงให้เห็นถึงภาพรถยนต์ต่อแถวยาวเหยียดบริเวณจุดผ่านแดนชายแดนด้านใต้และตะวันตกของรัสเซีย ที่ติดกับประเทศจอร์เจียไปจนถึงคาซัคสถานและมองโกเลีย
ส่วนชายแดนด้านตะวันตกที่ติดกับฟินแลนด์ก็ยังมีผู้คนพยายามออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามรายงานของหน่วยงานที่ดูแลชายแดนของฟินแลนด์ระบุว่า มีคนข้ามแดนน้อยลงเมื่อเทียบกับสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนออกมาว่า ตั้งแต่มีการเรียกระดมกำลังสำรองเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา มีชาวรัสเซียออกนอกประเทศแล้วมากน้อยเพียงใด
แต่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลรัสเซียอาจมีมาตรการป้องกันห้ามไม่ใช้ผู้ชายที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารเดินทางออกนอกประเทศ
ล่าสุดดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินออกมาระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลรัสเซียยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะปิดพรมแดนหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการเรียกเกณฑ์ทหารจริง ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินประกาศออกมา
ในขณะที่รัสเซียกำลังเผชิญหน้ากับการระดมพลและการประท้วงใหญ่ในหลายเมือง
ทางฝั่งยูเครนก็มีเรื่องสำคัญเกิดขึ้น เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายในการลงประชามติแบ่งแยก 4 แคว้นของยูเครนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ภาพบรรยากาศที่คูหาลงประชามติในเมืองเมลิโตปอลของแคว้นซาโปริซเซีย บรรดาเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองเมลิโตปอลได้มาลงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของแคว้น โดยพวกเขาบอกว่าต้องการให้ซาโปริซเซียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เพื่อที่ลูกหลานจะได้อยู่อย่างสงบสุขในอนาคต
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของรัสเซียรายงานว่า บรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแคว้นต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัสเซีย อาทิ หัวหน้ากลุ่มกบฏของแคว้นลูฮันสก์ ก็ได้มาร่วมลงประชามติในวันนี้ด้วย
นอกจากนี้ สำนักข่าว Tass ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า รัสเซียได้เกณฑ์นักโทษกว่า 200 คนจากแคว้นโดเนตสก์มาร่วมลงประชามติด้วย
ในช่วงเวลาดึกๆ ของคืนวันนี้ตามเวลาบ้านเรา คณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งโดยรัสเซีย จะปิดคูหาและเริ่มนับคะแนน และคาดว่าจะทราบผลการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการในช่วงเที่ยงคืน-เช้ามืดของวันพรุ่งนี้
สิ่งที่สำคัญคือ หากผลประชามติออกมาว่าทั้ง 4 แคว้นคือ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริซเซีย และเคอร์ซอน ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย จะทำให้สงครามในยูเครนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ นักวิเคราะห์บางคนใช้คำว่าสงครามยูเครนกำลังเข้าสู่จุดอันตรายเพราะรัสเซียจะใช้ผลการทำประชามติเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนเหล่านี้คืออาณาเขตของรัสเซีย หากมีการโจมตีในพื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเท่ากับว่ายูเครนใช้อาวุธของบรรดาชาติตะวันตกโจมตีแผ่นดินรัสเซีย