สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันพร้อมด้วยสมาชิกนอกกลุ่มที่รวมกันแล้วเรียกว่า โอเปกพลัส กำลังพิจารณาตัดลดการผลิตน้ำมันลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนที่จะมีการประชุมกันในวันพรุ่งนี้ ( 5 ต.ค.) ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย โดยตัวเลขดังกล่าวไม่รวมถึงการสมัครใจตัดลดการผลิตเพิ่มเติมของสมาชิกแต่ละประเทศ
หากสมาชิกโอเปกพลัสเห็นชอบการตัดลดดังกล่าว ก็จะถือเป็นการตัดลดการผลิตน้ำมันติดต่อกันเป็นเดือนที่สองแล้ว หลังจากกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตลง 100,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนที่ผ่านมา
น้ำมันโลกขึ้น หลัง OPEC+ตัดลดการผลิตน้ำมันเดือนต.ค.
จับตา "น้ำมันขาขึ้น" กลุ่มโอเปกพลัสประชุม 5 ต.ค. จ่อหั่นกำลังการผลิต
การพิจารณาตัดลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่เกิดขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง 4 เดือนต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากการล็อกดาวน์ในจีนซึ่งถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่กระทบกับความต้องน้ำมัน ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนและค่าเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก
โดยจนตอนนี้ราคาน้ำมันปรับลดลงมาอยู่ในช่วงราคาประมาณ 90 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่อยู่ที่เหนือ 100 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้สมาชิกหลักของกลุ่มอย่างซาอุดีอาระเบียเสนอแนะให้มีการลดกำลังการผลิตเพื่อดึงให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น
หลังมีรายงานออกมาว่าโอเปกพลัสอาจตัดลดการผลิตครั้งใหญ่ เมื่อวานนี้ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 4 โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ปรับราคาเพิ่มขึ้น 3.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 4.4 ปิดที่ 88.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ปรับราคาเพิ่มขึ้น 4.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 5.2 ปิดที่ 83.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวที่ออกมา ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่เผชิญกับการขาดแคลนพลังงานหรือพลังงานมีราคาสูงขึ้นหลังรัสเซียไม่ส่งก๊าซธรรมชาติให้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจและการประท้วงรัฐบาลในหลายประเทศ
ภาพการประท้วงของประชาชนราว 7,000 คน ที่ด้านนอกอาคารทำเนียบรัฐบาลในกรุงคีชีเนาของมอลโดวาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจล่าสุดของหน่วยงานพลังงานมอลโดวาในการเพิ่มราคาก๊าซขึ้นไปอยู่ที่ 30 ลิวมอลโดวาต่อลูกบาศก์เมตร
ถือเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ในขณะที่มอลโดวากำลังเผชิญเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่าร้อยละ 34ท่ามกลางแรงกดดันที่ประชาชนต้องแบกรับจากราคาค่าครองชีพที่พุ่งสูง ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา หรือไม่เช่นนั้นก็ลาออกไป
มอลโดวามีชายแดนติดกับยูเครน และก็มีความต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปไม่ต่างกัน แต่มอลโดวาก็พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างสูง และได้รับผลกระทบหนักจากราคาก๊าซที่พุ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มก่อสงครามในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการของมอลโดวาก๊าซ ซึ่งเป็นบริษัทจ่ายก๊าซในมอลโดวาเผยว่า ‘ก๊าซพรอม’ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียจะตัดลดการส่งก๊าซธรรมชาติไปมอลโดวาลงร้อยละ 30 ในเดือนตุลาคมนี้ โดยก๊าซพรอมระบุว่าปัญหาด้านเทคนิคเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องลดการส่งออกก๊าซลง
ทั้งนี้ เพิ่งมีคำเตือนจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ว่ายุโรปเผชิญ “ความเสี่ยงสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ในเรื่องก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ในฤดูหนาวนี้
โดยจนถึงตอนนี้รัสเซียยังคงส่งก๊าซไปยุโรปผ่านท่อที่ทอดผ่านยูเครนมายังสโลวาเกีย และผ่านท่อที่ลอดใต้ทะเลดำผ่านตุรกีไปยังบัลแกเรีย แต่ท่อก๊าซอื่นๆ ทั้งที่ผ่านมาทะเลบอลติกไปเยอรมนีและที่ผ่านเบลารุสไปยังโปแลนด์ถูกปิดไปแล้ว
แม้สหภาพยุโรปบอกว่าตอนนี้มีก๊าซสำรองแล้วร้อยละ 88 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าต้องสำรองก๊าซให้ได้ร้อยละ 80 ก่อนฤดูหนาว แต่ IEA ก็เตือนว่าควรมีสำรองไว้ร้อยละ 90 หากเกิดกรณีที่รัสเซียตัดการส่งก๊าซ
ส่วนที่สหราชอาณาจักร ปัญหาค่าครองชีพและราคาพลังงานพุ่งสูงก็กำลังเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลด้วยเช่นกัน
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนนับพันคนลงถนนประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยที่กรุงลอนดอนมีประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมกันที่ย่านคิงส์ครอส พร้อมถือป้ายข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพที่กำลังสร้างภาระหนักให้กับประชาชน
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ได้เผยเค้าโครงของแผนใหม่ในการช่วยเหลือครัวเรือนและภาคธุรกิจรับมือราคาพลังงานที่พุ่งสูง
ภายใต้แผนดังกล่าว ครัวเรือนทั่วไปในสหราชอาณาจักรจะจ่ายค่าพลังงานไม่เกิน 2,500 ปอนด์ต่อปี โดยจะมีผลในตลอดช่วง 2 ปีจากนี้ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่ายังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง
แม้สหราชอาณาจักรพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไม่มาก เนื่องจากแหล่งนำเข้าหลักคือจากนอร์เวย์ รวมถึงยังเลิกนำเข้าทั้งก๊าซจากรัสเซียแล้วในตอนนี้ แต่การที่รัสเซียจำกัดการส่งก๊าซไปภาคพื้นทวีปยุโรปก็สร้างความปั่นป่วนให้กับก๊าซสำรองในตลาดก๊าซนานาชาติ กระทบต่อราคาพลังงานที่ประชาชนในสหราชอาณาจักต้องจ่ายด้วยเช่นกัน
ส่วนตุรกี เมื่อวานนี้สำนักงานสถิติประกาศว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นตัวเลขที่วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการของเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83.45 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.08 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม
นี่ถือเป็นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงสุดในรอบ 24 ปี โดยตุรกีเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงที่ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพหนักมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดี ‘เรเจพ แทยิพ แอร์โดอาน’ ของตุรกีได้ประกาศให้สัญญาว่าจะเร่งจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังสร้างภาระหนักให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้นำตุรกีมีแนวทางจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อแตกต่างไปจากประเทศอื่นที่ธนาคารกลางพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
โดยประธานาธิบดีแอร์โดอานซึ่งพุ่งเป้าให้ความสำคัญไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปกลางปีหน้า คัดค้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และบอกว่านี่คือศัตรูสำคัญที่สุด ซึ่งธนาคารตุรกีก็เดินตามแนวคิดดังกล่าว
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางตุรกีเพิ่งตัดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 13 เหลือร้อยละ 12 แต่ประธานาธิบดีแอร์โดอานยังคงเรียกร้องให้ปรับลดลงมาอีกโดยบอกว่าควรตัดลดให้เหลือเลขตัวเดียวภายในสิ้นปีนี้