น้ำมันโลกขึ้น หลัง OPEC+ตัดลดการผลิตน้ำมันเดือนต.ค.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก เมื่อวานกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส มีการประชุมกัน และมีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 100,000 บาเรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปราคาน้ำมันปรับขึ้นทันทีหลังการประกาศของโอเปก

การประชุมโอเปกและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับลดการผลิตลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับที่ผลิตในเดือนกันยายน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป  นี่คือการปรับลดการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีของกลุ่มโอเปก

ปัจจุบัน ชาติสมาชิกโอเปกผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 30% หรือคิดเป็นปริมาณ 28 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

น้ำมันโลก ปรับขึ้นราคา หลัง OPEC+ เตรียมลดการผลิต

รัสเซียขายน้ำมันได้มากขึ้น แม้โดนชาติตะวันตกคว่ำบาตร

และถ้ารวมชาติพันธมิตรเข้าไปด้วย จะเรียกว่ากลุ่มโอเปกพลัส น้ำมันตลาดโลกที่มาจากกลุ่มนี้จะคิดเป็นถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการผลิตในตลาดโลก การประกาศลดกำลังการผลิตในคราวนี้เกิดขึ้นหลังจากโอเปกมีความกังวลว่า น้ำมันในตลาดโลกจะมีมากขึ้นหากสหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งจะมีผลทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง

มติของโอเปกที่ออกมาทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้นทันที น้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 2.72 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 95.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 เกิดอะไรขึ้นกับอิหร่านกับสหรัฐ และทำไมจึงสำคัญจนทำให้โอเปกใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลลดปริมาณการผลิตน้ำมัน

คำตอบก็คือ ศัตรูคู่แค้นนี้อาจหาทางตกลงกันได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯอาจยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งจะทำให้อิหร่านผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง

แต่เดิมสหรัฐฯกับอิหร่านคือพันธมิตรกัน ช่วงทศวรรษ 1960-1970 สหรัฐกับอิหร่านแนบแน่นมาก เพราะสหรัฐต้องพึ่งพาน้ำมันจากอิหร่านในช่วงเวลาดังกล่าว อิหร่านปกครองโดยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี

ปี 1979 เมื่อพระเจ้าชาห์ ถูกโค่นจากอำนาจ อิหร่านเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นรัฐอิสลาม โดยมีอยาตุลเลาะห์ อาลี โคมัยนี ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ

โคมัยนีมองว่าสหรัฐเป็นศัตรูและผู้ตักตวงผลประโยชน์ สถานะของสหรัฐเปลี่ยนจากจากพันธมิตรเป็นศัตรู

ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์กลุ่มนักศึกษาอิหร่านบุกยึดและจับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐประจำกรุงเตหะราน 52 คนเป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯตกต่ำถึงขีดสุด  สหรัฐฯตัดสัมพันธ์ทางการทูตทุกทางกับอิหร่าน อิหร่านปิดประเทศจากชาติตะวันตก และเริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ปี 2015 ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ด้วยด้วยการเลิกใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน ดึงอิหร่านทำข้อตกลงที่เรียกว่า JCPOA สำเร็จ

ภายใต้ข้อตกลง อิหร่านจะจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเพื่อทำอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ต่ออิหร่านอีกครั้งในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018

นโยบายของทรัมป์ผลักให้อิหร่านกลับไปพัฒนาโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีรายงานว่า อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เกือบสำเร็จแล้ว

ต้นปี 2021 มีความพยายามอีกครั้งในการดึงอิหร่านกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง ถ้าสำเร็จ ตลาดโลกจะมีน้ำมันจากอิหร่านเพิ่มอีกวันละประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันส่งผลให้โอเปกต้องรีบปรับลดการผลิตลงการปรับลดการผลิตมีผลทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นคือ การที่รัสเซียยุติการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 ไปเยอรมนีอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่าน

ที่คืออาวุธจากปูตินที่มีเป้าหมายทำลายเศรษฐกิจของยุโรป ราคาก๊าซในยุโรปปรับขึ้นกว่าร้อยละ 26-30 หลังการประกาศของรัสเซียคาดการณ์ว่า ยุโรปจะลำบากอย่างหนัก เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวซึ่งต้องใช้พลังงานสูงมากกว่าปกติ เศรษฐกิจของยุโรปจะถดถอยเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูงทำให้เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์

ความกังวลทำให้ค่าเงินยูโรตกหนัก เมื่อวานลงมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 0.9903 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นี่คือสิ่งที่ปูตินรอคอย รอให้ถึงฤดูหนาว และปล่อยหมัดเข้ายุโรปด้วยการยุติการส่งพลังงานให้โดยสิ้นเชิง ทิ้งให้ยุโรปเผชิญกับความหนาวเหน็บและเศรษฐกิจที่ถดถอยนั่นคือสิ่งที่ปูตินคิด และอาจเป็นสิ่งที่ได้เห็นจากคลิปที่บริษัท Gasprom ปล่อยออกมาเมื่อวานนี้

โดยในคลิปเปิดฉากด้วยภาพพนักงานก๊าซพรอมบิดวาล์วปิดท่อส่งก๊าซ จนทำให้ทั่วสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับความหนาวจัดจนหิมะปกคลุมไปทุกแห่ง ในบ้านเรือนประชาชนไม่มีก๊าซใช้ แต่เมื่อตัดภาพกลับมาที่รัสเซียกลับเป็นภาพฤดูหนาวที่สวยงาม

ในคลิปวิดีโอนี้ยังใช้เพลงประกอบที่ชื่อว่า And winter will be big หรือ "ฤดูหนาวนี้หนาวหนักแน่" ในเนื้อเพลงมีการบรรยายถึงสภาพอากาศและธรรมชาติที่ทุกสิ่งถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งในฤดูหนาว

หลายฝ่ายตีความว่า นี่คือการส่งสัญญาณเตือนและถากถางชาติยุโรปว่าอาจต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ไม่มีพลังงานใช้ หลังจากที่รัสเซียตัดการส่งพลังงานผ่านท่อนอร์ดสตรีม-1 ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

รัสเซียทำแบบนี้ต้องการอะไรเมื่อวานนี้โฆษกเครมลินมีการบอกว่า นี่คือผลจากการที่ยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ถ้าอยากได้ก๊าซจากรัสเซียต้องเลิกการคว่ำบาตร

นี่คือสงครามหรือการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยุโรปโดยมีพลังงานเป็นอาวุธ คำถามคือ ยุโรปจะยอมหรือไม่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนีประกาศว่าอัดเงิน 65,000 ล้านยูโร หรือราว 2 ล้าน 3 แสนล้านบาท เยียวยาประชาบน

ส่วนการขาดแคลนพลังงาน เขาระบุว่า ไม่ต้องกังวลเพราะก๊าซในคลังสำรองอยู่ที่ร้อยละ 85 ซึ่งพอสำหรับฤดูหนาวและมีการหาแผนสำรอง เช่น นำนิวเคลียร์กลับมาใช้ ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วจากรัฐมนตรีพลังงาน

โดยรัฐมนตรีพลังงานเยอรมนีบอกว่า จะเตรียมความพร้อมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เตาจากที่เหลืออยู่ในประเทศทั้งหมด 3 เตา เอาไว้สำหรับเผื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยทั้งสองเตาจะอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมไปจนถึงกลางเดือนเมษายนปีหน้า ทั้งที่แต่เดิมเยอรมนีมีเป้าหมายจะปิดเตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 เตาในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

ทั้งนี้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสองแห่งมีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์

รัฐมนตรีพลังงานเยอรมนียังย้ำว่า การเตรียมพร้อมเตาปฏิกรณ์ทั้งสองแห่งไม่ได้หมายความว่า เยอรมนีจะผิดสัญญาที่ให้ไว้เรื่องการเลิกพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022  แต่การเตรียมความพร้อมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว เพื่อพาประเทศผ่านพ้นฤดูหนาวไปให้ได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ