ทางการรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ ประกาศงดการจัดเทศกาลเก็บเกี่ยวปูหิมะอะแลสกา (Alaska Snow Crab) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกเลยที่มีการสั่งงด โดยเหตุผลก็คือ “ประชากรปูหิมะลดลงมากผิดปกติ”
คณะกรรมการประมงอะแลสกาและสภาการจัดการประมงแปซิฟิกเหนือรายงานว่า ประชากรปูหิมะในเขตทะเลเบริง (Bering Sea) มีจำนวนลดลงจนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะสามารถเปิดให้จับหรือทำประมงได้
“ดาวเคราะห์ที่มีน้ำ” หายากแค่ไหน ในจักรวาลอันกว้างใหญ่
ภาพถ่ายธรรมชาติสุดปัง ดอกไม้ทะเลอาศัยอยู่ “ใต้น้ำแข็งแอนตาร์กติก"
นักวิทย์ญี่ปุ่นไขปริศนาพันล้านปี “ชีวิต” มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หากถามว่าลดลงมากแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าลดลงในระดับที่น่าตกใจ เบนจามิน ดาลี นักวิจัยจากกรมประมงและการล่าสัตว์อะแลสกา กล่าวว่า จากประชากรกว่า 8 พันล้านตัวในปี 2018 กลับเหลืออยู่เพียง 1 พันล้านตัวในปี 2021 เท่านั้น หรือก็คือ ประชากรปูหิมะอะแลสกาหายไปถึง 7 พันล้านตัวในระยะเวลาเพียง 3 ปี
ดาลีเสริมว่า “ปูหิมะเป็นปูที่มีปริมาณมากที่สุดในบรรดาปูทะเลเบริงที่เปิดให้จับเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้น การที่ประชากรปูหิมะหลายพันล้านตัวสูญหายไปนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าตกใจและหวาดกลัว เพราะที่หายไปยังรวมถึงปูตัวเมียและปูเกิดใหม่ทั้งหมดด้วย”
ผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมติฐานการหายไปอย่างรวดเร็วของประชากรปูหิมะอะแลสกาไว้ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คืออาจเกิดจาก “การจับปูมากเกินไป” โดย มาร์ก สติเชิร์ต ผู้ประสานงานการจัดการประมงปลาก้นทะเลและหอย กล่าวว่า มีการจับปูขึ้นมามากเกินกว่าที่จะทดแทนได้ทัน “มีประชากรถูกนำออกมามากกว่าที่เกิดใหม่หรือถูกใส่เข้าไป”
เขากล่าวว่า ระหว่างการสำรวจที่ดำเนินการในปี 2021-2022 พบว่า เฉพาะประชากรปูหิมะเพศผู้ที่โตแล้ว ลดลงประมาณ 40% โดยน้ำหนักรวมของปูหิมะเพศผู้ในทะเลเบริงทั้งหมดรวมกันเหลืออยู่เพียงราว 45 ล้านปอนด์เท่านั้น “มันเป็นตัวเลขที่น่ากลัว”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มมองว่า มีการจับปูหิมะมากก็จริง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ประชากรปูหิมะเกิดภาวะ “ล่มสลาย” ขนาดนี้ และชี้ว่าสาเหตุหลักอาจจะมาจาก “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” มากกว่า
ไมเคิล ลิตโซว์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโคดิแอค ภาคการประมง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) บอกว่า ไม่ใช่การจับปูมากเกินไปที่ทำให้เกิดวิกฤตประชากรปูหิมะลดลง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการลดลงอย่างน่าตกใจของปูหิมะ
ลิตโซว์กล่าวว่า ปูหิมะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำเย็น และพบได้มากในพื้นที่ที่อุณหภูมิของน้ำต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อมหาสมุทรอบอุ่นขึ้นและน้ำแข็งในทะเลหายไปจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงทำให้ทะเลและมหาสมุทรรอบ ๆ อะแลสกาเริ่มไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดนี้
“มีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่ศึกษาอุณหภูมิจำเพาะในทะเลเบริงหรือน้ำแข็งทะเลเบริงในปี 2018 พวกเขาได้ข้อสรุปว่า อุณหภูมิและสภาวะที่มีน้ำแข็งน้อยลงในทะเลเบริงเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน” ลิตโซว์กล่าว
นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า อุณหภูมิรอบ ๆ อาร์กติกอุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 4 เท่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาร์กติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลเบริงของอะแลสกา
ในการจะฟื้นฟูประชากรปูหิมะที่ลดลงไปนั้น อีธาน นิโคลส์ ผู้ช่วยนักชีววิทยาด้านการจัดการพื้นที่ของกรมประมงและการล่าสัตว์อะแลสกา กล่าวว่า “การปิดการประมงและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง คือความพยายามหลักในการฟื้นฟูประชากรปูหิมะ ณ จุดนี้”
ด้าน สติเชิร์ต กล่าวว่า อาจมีข่าวดีอยู่บ้าง เนื่องจากเริ่มมีปูหิมะตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัวปรากฏขึ้นในระบบนิเวศ แต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปีก่อนที่พวกมันจะเจริญวัยและมีส่วนทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นได้
ลิตโซว์เสริมว่า “โลกอุ่นขึ้นเล็กน้อยทุกปี และความแปรปรวนนั้นสูงมากในระบบนิเวศของอาร์กติก ดังนั้นหากเราสามารถทำให้ทะเลเย็นกว่านี้ได้ นั่นก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับปูหิมะ”
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก NOAA Fisheries