หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียและสมาชิกกลุ่ม “โอเปกพลัส” (OPEC+) ประกาศลดกำลังผลิตน้ำมันลงถึง 2 ล้านบาร์เรลในเดือนหน้า ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ค่อย ๆ ทวีรุนแรงขึ้นในยุโรปนอกจากประเด็นเรื่องพลังงานแล้ว ล่าสุดมีประเด็นใหม่ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง "สหรัฐฯ-ซาอุฯ" ย่ำแย่ลงกว่าเดิม หลังจากที่ศาลของซาอุดีอาระเบียสั่งจำคุกพลเมืองสหรัฐฯ
OPEC+ เล็งตัดลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี
ซาอุฯ เตรียมเนรมิตหิมะจัดเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว 2029
วันนี้ 19 ต.ค.สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ศาลซาอุดีอาระเบียได้พิพากษาจำคุกซาอัด อิบราฮิม อัลมาดี พลเมืองสัญชาติอเมริกัน-ซาอุดีอาระเบีย เป็นเวลา 16 ปีด้วยข้อหาพยายามทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และสนับสนุนหรือให้เงินแก่กลุ่มก่อการร้าย
ชาอัด อิบราฮิม อัลมาดี ถูกตำรวจของซาอุดีอาระเบียจับกุมตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขณะที่เขาเดินทางจากรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาไปยังกรุงริยาด เพื่อทำธุระส่วนตัว
ลูกชายของซาอัดให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า การพิจารณาของซาอัดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ศาลได้ใช้ภาพแคปข้อความจากในทวิตเตอร์ส่วนตัว 14 ข้อความเท่านั้นในการพิจารณาความผิด
โดยข้อความทั้ง 14 ข้อความของนายซาอัดที่ศาลนำมาพิจารณานั้น ล้วนเป็นข้อความที่นายซาอัดวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์และรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เช่น มกุฎราชกุมารบิน ซัลมานควบคุมเศรษฐกิจของซุดีอาระเบีย เป็นต้น
ด้านวีดานต์ ปาเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันว่า ทางการซาอุดีอาระเบียได้สั่งจำคุกพลเมืองชาวอเมริกันรายนี้จริง
อย่างไรก็ดี รองโฆษกต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่า ทางสหรัฐฯ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและได้ทวงถาม ตลอดจนแสดงข้อกังวลของสหรัฐฯ ไปยังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเรียบร้อยแล้ว
การตัดสินโทษจำคุกพลเมืองสหรัฐฯ เกิดขึ้นในวันที่ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯและซาอุดีอาระเบียกำลังมีปัญหาหลังจากที่ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธคำขอของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากที่รัสเซียยุติการส่งพลังงานให้กับยุโรป
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโอเปกและพันธมิตรซึ่งรวมถึงรัสเซียที่เรียกว่า ‘โอเปกพลัส’ ได้ประชุมกันที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย
ก่อนที่จะออกมาประกาศว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะผลิตนำมันออกสู่ตลาดโลกวันละ 41.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงถึง 2 ล้านบาร์เรลจากกำลังการผลิตปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในตลาดโลก
การตัดสินใจตัดลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวไม่ให้ซาอุดีอาระเบียทำเช่นนั้นด้วยการเดินทางไปพบกับเจ้าชายบิน ซัลมาน ผู้ที่ไบเดนเคยบอกว่าเป็นผู้สังหารจามาล คาช็อกกีนักข่าวชื่อดังชาวซาอุดีอาระเบียเมื่อ 4 ปีก่อน
หลังพบกัน ซาอุดีอาระเบียระบุว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันให้ 100,000 บาเรลต่อวัน ดังนั้นการที่โอเปกพลัสซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นสมาชิกหลักประกาศลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นการหักหน้าผู้นำสหรัฐฯ แบบตรงๆ
วันต่อมาหลังการประกาศของกลุ่มโอเปก ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษ์ว่าผิดหวังกับท่าทีซาอุฯ โดยมองว่าการทำแบบนี้เพื่อต้องการช่วยรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปกพลัส ให้มีเงินจากขายน้ำมันมาทำสงครามกับยูเครน หลังจากนั้นทำเนียบขาวก็ออกมาส่งสัญญานว่าจะทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
การประกาศทบทวนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อซาอุดีอาระเบียนั้นถือเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ คือผู้เล่นสำคัญบนเวทีโลกในขณะนี้ โดยฝั่งหนึ่งเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน อีกฝั่งเป็นมหาอำนาจด้านการทหาร
นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้ถึงรอยร้าวและการงัดข้อครั้งใหญ่ของทั้งสองชาติ โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียค้นพบน้ำมัน
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ของสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับอับดุล อาซิซ อิบัน ซาอุด แห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ซาอุดีอาระเบียส่งน้ำมันให้กับสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ให้หลักประกันความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียผ่านการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้
ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียเกือบศตวรรษ มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยยุคทองอยู่ที่ช่วงปี 1940-2000
ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะตกต่ำลง หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมตึกเวิล์ด เทรด เซนเตอร์ หรือ 911 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เนื่องผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งมีชาวซาอุดีอาระเบียอยู่ด้วย
หลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็มีปัญหากับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีโอบามา ตัดสินใจพูดคุยกับอิหร่าน ศัตรูหลักของซาอุดิอาระเบีย ในปี 2016 เพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
หลังจากนั้น ในปี 2018 เกิดการสังหารโหด จามาล คาช็อกกี นักข่าววอชิงตันโพสต์ชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสหรัฐฯออกมาชี้นิ้วว่า คนอยู่เบื้องหลังคือ มกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย
ส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากลุ่มโอเปกพลัสประกาศลดการผลิตน้ำมันซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นการกระทำที่ท้าทาย
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE หนึ่งในสมาชิกหลักของโอเปกบอกว่า การลดปริมาณการผลิตน้ำมันไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองเลย เป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทานทางการตลาดล้วนๆ
ในการแถลงข่าวมีการยืนยันด้วยว่า โอเปกจะเดินหน้าลดการผลิตน้ำมันวันละ 2 ล้านบาร์เรลนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนตามที่กลุ่มตกลงกันไว้
ทำให้สหรัฐฯ ตอนนี้มีโจทย์ใหญ่ คือต้องหาวิธีพยุงราคาน้ำมันในตลาดไม่ให้พุ่งสูงขึ้นหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตลง หนึ่งในนั้นคือ เอาน้ำมันจากคลังที่เก็บไว้ในยามวิกฤตออกมาใช้
เมื่อวานนี้สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนจะนำน้ำมันจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ Strategic Petroleum Reserve (SPR) มาใช้เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นในเดือนหน้า ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการเลือกตั้งกลางเทอม
คลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานจัดการพลังงานฟอสซิลและคาร์บอน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บน้ำมันสำรองไว้ใช้ในยามเกิดวิกฤต สำหรับบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะปิโตรเลียมขาดตลาด และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีที่สหรัฐฯ มีต่อโครงการพลังงานระหว่างประเทศ
ข้อมูลกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่าคลังสำรองสหรัฐฯ เคยบรรจุน้ำมันได้สูงสุดถึง 727 ล้านบาร์เรลเมื่อปี 2009 อย่างไรก็ตาม ปริมาณปิโตรเลียมในคลังสำรองตอนนี้อยู่ที่ 588 ล้านบาร์เรล
เมื่อลงไปดูรายละเอียดจากข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม ปี 2022 แหล่งจัดเก็บทั้ง 4 แหล่งจัดเก็บน้ำมันไว้ดังนี้
- แหล่งไบรอัน มอนด์ กักเก็บปิโตรเลียม ไว้ 218.2 ล้านบาร์เรล
- แหล่งบิก ฮิลล์ กักเก็บปิโตรเลียม ไว้ 129.9 ล้านบาร์เรล
- แหล่งเวสต์ แฮกเบอร์รี่ กักเก็บปิโตรเลียม ไว้ 180 ล้านบาร์เรล
- แหล่งบายู ช็อกตอว์ กักเก็บปิโตรเลียมไว้ 60.1 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ดี ตัวเลขปริมาณดังกล่าวอาจน้อยกว่านี้ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ประกาศนำน้ำมันดิบจากคลังสำรองมาใช้เป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้นำรัสเซียประกาศว่าจะยุติการส่งพลังงาน
ในวันนั้น สหรัฐฯ ประกาศว่ามีเป้าหมายที่จะระบายน้ำมันดิบอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและจะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนหน้า
การประกาศของสหรัฐฯ เมื่อหกเดือนก่อน ถือว่าเป็นการนำปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) มาใช้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ