เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ชวนให้คนทั้งโลกอิจฉาจริง ๆ สำหรับข่าวที่มีผู้ถูกรางวัลแจ็กพอตลอตเตอรี่พาวเวอร์บอลของสหรัฐฯ งวดวันที่ 8 พ.ย. 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งคว้ารางวัลไปถึง 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
แต่จำนวนเงินที่มากมายมหาศาลนี้ สำหรับคอหวยสหรัฐต่างรู้กันดีว่า มันก็เป็นแค่เพียงภาพลวงหลอกตา เพราะเมื่อเจอเข้ากับ “ภาษี” เงินที่จะตกมาถึงมือผู้ถูกรางวัลก็ถูกหั่นลงไปพอสมควร (แต่ก็มากอยู่ดี!)
ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอลแจ็กพอตแตกแล้ว! รับเละ 7.5 หมื่นล้านบาท
ไม่มีคนถูก ! แจ็กพอต ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล พุ่ง 7 หมื่นล้าน
ชี้ช่องรวย !! ยอดลอตเตอรี่พาวเวอร์บอลสหรัฐสะสมทะลุ 56,000 ล้านบาท
ก่อนจะพูดกันเรื่องภาษี เรื่องแรกที่เราควรทราบคือ เมื่อถูกรางวัลแจ็กพอตแบบนี้ จะมีตัวเลือกรับเงินอยู่ 2 แบบ คือ รับเงินก้อน (Lump Sum) หรือรับเงินงวดรายปี (Annuity) ซึ่งจะจ่ายให้ 30 งวดเป็นเวลา 29 ปี ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป แต่ที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ไม่มีใครเลือกรับเงินแบบเงินงวดรายปีเลย
สำหรับตัวเลือกรับเงินก้อนนั้น ข้อเสียหลักเลยคือ เงินสุทธิที่ได้จากรางวัลแจ็กพอตนั้น จะต้องถูกหั่นออกไปราว ๆ ครึ่งหนึ่ง เช่นแจ็กพอต 2.04 พันล้านดอลลาร์นี้ มีรายงานว่าจะถูกหั่นเหลือประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท)
จากนั้นเงินส่วนที่เหลือนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามกฎหมายสรรพากร 24% และจะต้องเสียภาษีเข้ารัฐบาลกลางอีกสูงสุด 37% ขึ้นอยู่กับสถานะ เช่น โสดหรือแต่งงาน มีงานทำหรือว่างงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในบางรัฐจะมีการเรียกเก็บภาษีส่งให้รัฐหรือเมืองด้วย ที่เรียกเก็บสูงที่สุดคือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเก็บเพิ่มอีกประมาณ 10% แต่จะมีอยู่ 14 รัฐที่ไม่เรียกเก็บภาษีในส่วนนี้เลย ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา นิวแฮมป์เชียร์ เปอร์โตริโก เซาธ์ดาโกตา เทนเนสซี เทกซัส หมู่เกาะเวอร์จิน วอชิงตัน (ไม่ใช่ วงชิงตัน ดี.ซี.) และไวโอมิง
ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดแล้ว หากผู้ถูกรางวัล 2.04 พันล้านดอลลาร์เลือกเงินก้อน จะเหลือเงินสุทธิประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น (ในกรณีนี้ไม่ถูกหักภาษีส่งให้รัฐ เพราะซื้อลอตเตอรี่จากแคลิฟอร์เนีย)
อีกหนึ่งข้อเสียคือ เมื่อได้เงินก้อนมา หากใช้จ่ายหรือลงทุนไม่เป็น ก็อาจสูญเงินได้ในพริบตา
แต้ข้อดีของการเลือกเงินก้อนคือ ผู้ที่ถูกรางวัลจะไม่ต้องไปปวดหัวกับการจ่ายภาษีในปีอื่น ๆ เพราะเสียทีเดียวจบ และสามารถนำเงินก่อนนี้ไปลงทุนต่อยอดอื่นได้ทันที
ส่วนการเลือกรับเงินแบบเงินงวดรายปีนั้น จะได้เงินครบทั้ง 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จะแบ่งจ่ายเป็น 30 งวด 29 ปี โดยในปีแรกจะได้น้อยก่อน แล้วปรับเพิ่มขึ้น 5% ทุกปี
ปัญหาของการรับเงินแบบเงินงวดรายปีคือ จะต้องคอยมานั่งเสียภาษีเงินได้ให้รัฐบาลกลางสูงสุด 37% และภาษีให้รัฐทุก ๆ ปี ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวหากต้องมานั่งแจงเงินได้ทุกปี
แต่ข้อดีของการรับเงินแบบนี้คือ ได้เงินครบ เช่นในกรณีล่าสุดที่มีคนถูก 2.04 พันล้านดอลลาร์นี้ ก็จะได้ทั้งหมด แต่จะเสียภาษีรัฐบาลกลางและภาษรัฐ/เมือง ซึ่งจะทำให้เหลือเงินสุทธิราว ๆ 1-1.2 พันล้านดอลลาร์ (3.6-4.4 หมื่นล้านบาท) และถือเป็นรายได้แบบ Passive Income ที่มั่นคง
ในส่วนของการเสียภาษีนี้ บ่อยครั้งที่จะเห็นการนำเงินลอตเตอรี่ไปบริจาคหรือก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อลดหย่อนภาษี หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่มีมูลนิธิต่าง ๆ มาออกันวุ่นวายอยู่หน้าบ้านผู้ถูกรางวัลเพื่อขอให้ผู้ถูกรางวัลบริจาคเงิน ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยในสหรัฐฯ เช่นกัน ถือเป็นหนึ่งในความยากลำบากที่เกิดขึ้นจากการถูกรางวัลใหญ่
ดังนั้นแล้ว เวลาที่เห็นข่าวว่ามีคนถูกแจ็กพอตลอตเตอรี่อเมริกาหลายหมื่นล้านบาท นั่นคือตัวเลขที่ยังไม่ถูกหั่นจากภาษีต่าง ๆ แต่กระนั้น ต่อให้จะถูกหักภาษีไปมากแค่ไหนก็ตาม หากถูกรางวัลใหญ่พอ มันก็ยังเป็นเงินมหาศาลที่เหมือนจะใช้ทั้งปีทั้งชาติก็ไม่หมดอยู่ดี
เรียบเรียงจาก Annuity.org / Forbes
ภาพจาก AFP