ในส่วนของการชิงเก้าอี้สมาชิกวุฒิสภาในสภาสูง (Senate) นั้น พรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายได้ที่นั่ง ส.ว. นำหน้าพรรคเดโมแครต อยู่ที่ 49 ต่อ 48
ส่วนในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร (House) ปรากฏว่าพรรครีพับลิกัน ก็ยังคงได้จำนวนที่นั่งส.ส. นำหน้าพรรคเดโมแครตอยู่ที่ 209 ต่อ 191 โดยที่พรรครีพับลิกันต้องการอีกเพียง 9 ที่นั่งเท่านั้น ก็จะได้ครองเสียงข้างมากตามเกณฑ์ (218 ที่นั่ง) ในสภาผู้แทนราษฎรทันที
อีลอน มัสก์ ทวิตเชียร์ "พรรครีพับลิกกัน" คว้าชัยเลือกตั้งกลางเทอม
ผลเลือกตั้งกลางเทอม "รีพับลิกัน"ครองเสียงข้างมากสภาล่าง
จนถึงขณะนี้ มี 39 รัฐ จาก 50 รัฐ ที่เสร็จสิ้นกระบวนการนับคะแนนเลือกตั้งกลางเทอมไปแล้วแบบครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีก 11 รัฐ ที่กระบวนการนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น และทำให้การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่สามารถทำได้
ทั้ง 11 รัฐที่การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้นประกอบด้วย อะลาสกา ,แคลิฟอร์เนีย , เนวาดา , ออริกอน , วอชิงตัน , ไอดาโฮ , โคโลราโด, นิวเม็กซิโก, แอริโซนา, นิวยอร์ก , และรัฐเมน
ขณะที่รัฐที่ถือว่าเป็น Battleground state อย่างจอร์เจียนั้น แม้ว่าการนับคะแนนจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผลคะแนนที่ออกมาปรากฎว่า ยังไม่มีผู้สมัครคนใดในรัฐนี้ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 50
โดยเจ้าของที่นั่งเดิมอย่าง ราฟาเอล วอร์น็อค สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต ได้คะแนนเสียงไปร้อยละ 49.2
ขณะที่เฮอร์เชล วอล์กเกอร์ อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ได้คะแนนตามมาที่ร้อยละ 48.7
ซึ่งตามกฎการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจียได้ระบุว่า กรณีที่ผู้สมัคร ส.ว. ที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรกของรัฐ ต่างได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 50 ทั้งคู่จะต้องมาแข่งขันกันใหม่ในรอบชี้ขาด ที่กำหนดไว้แล้วว่าจะเป็นวันที่ 6 ธันวาคมนี้
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดหีบเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ สื่อแทบทุกสำนัก ทั้งในและนอกอเมริกาต่างพากันคาดหมายว่า บรรดาผู้สมัครของพรรครีพับลิกันทั้งผู้สมัคร ส.ว. , ส.ส., และผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ น่าจะช่วยกันกวาดชัยชนะและคว้าที่นั่งมาครองได้อย่างถล่มทลาย ไม่ต่างจากการซัดถล่มของคลื่นสีแดง (ซึ่งเป็นสีประจำของพรรครีพับลิกัน)
แต่หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งมาได้ 2 วัน ผลการนับคะแนนที่ทยอยออกมาตามรัฐต่างๆ กลับกลายเป็นพรรคเดโมแครตที่ทำผลงานได้ดีเกินกว่าความคาดหมาย จากการที่ประธานาธิบดีไบเดน และพรรคเดโมแครตยังคงมีโอกาสรักษาการครองเสียงข้างมากในสภาสูง อีกทั้งยังสามารถรักษาที่นั่งสำคัญๆ ของตัวเองในรัฐที่ถือเป็น Battleground State เอาไว้ได้
ขณะที่ในส่วนของพรรครีพับลิกัน แม้ทางพรรคจะใกล้ได้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร แต่ชัยชนะส่วนใหญ่ของรีพับลิกันเกิดขึ้นในรัฐเล็กรัฐน้อย ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐสำคัญๆ ขนาดใหญ่ที่ถือเป็น Battleground State แต่อย่างใด ยกเว้นที่เนวาดาเพียงรัฐเดียว
โดยชัยชนะของอดัม ลาซาลต์ จากรีพับลิกัน ที่เอาชนะเจ้าของที่นั่งเดิมอย่าง แคเธอรีน คอร์เทซ มาสโต ของเดโมแครต ในการชิงตำแหน่ง ส.ว.ที่รัฐเนวาดา ดูเหมือนจะกลายเป็นความสำเร็จเดียวของพรรครีพับลิกัน ที่สามารถแย่งชิงเก้าอี้ในรัฐสำคัญ มาจากฝั่งเดโมแครตได้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์สชี้ว่า เหตุผลประการแรกมาจากการที่พรรครีพับลิกัน มัวแต่พุ่งเป้าแต่โจมตีความล้มเหลวของรัฐบาลโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เพราะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกันจำนวนมากต่างทราบดีว่าปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาราคาพลังงานในตลาดโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ล้วนเป็นปัจจัยเชิงลบหลักที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลโจ ไบเดน เพียงอย่างเดียว
ส่วนเหตุผลประการที่สอง คือ แม้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือไม่ถึงร้อยละ 40 แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากก็ “ยังไม่เชื่อมั่น” ที่จะปล่อยให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาครองอำนาจได้โดยง่าย
เนื่องจากทรัมป์ได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า เขาเป็นผู้นำที่ “ไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย” และอยู่เบื้องหลังการปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนของตัวเองบุกรัฐสภาจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 2 ปีก่อน
เหตุผลประการที่สาม มาจากนโยบายต่อต้านการทำแท้งของพรรครีพับลิกัน ที่มีความสุดโต่งมากจนเกินไป จนละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงที่เรียกร้องการได้สิทธิเป็นผู้ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง และความสุดโต่งของนโยบายนี้ ทำให้ฝั่งรีพับลิกันเสียคะแนนไปไม่น้อย
สำหรับเหตุผลประการที่ 4 มาจากการที่ผู้สมัครส.ส.และส.ว.ของรีพับลิกันส่วนใหญ่ มีนโยบายตัดลดสวัสดิการทางสังคม ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐในโครงการต่างๆ ไม่กล้าเทคะแนนให้กับพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะในยุคที่เงินเฟ้อพุ่งสูงและสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกชนิดมีราคาแพง
โดยคนกลุ่มนี้ยังคงโหวตให้กับพรรคเดโมแครตต่อไป เพื่อต้องการให้โครงการช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ ที่พวกเขาได้รับ ยังคงมีอยู่
หลายคนโหวตเลือกเดโมแครต ทั้งๆที่ไม่ได้ชอบหรือสนับสนุน โจ ไบเดน ด้วยซ้ำ และเหตุผลประการสุด้าย คือ ความแตกแยกกันเองภายในของสมาชิกพรรครีพับลิกัน
แม้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อกลับมามีบทบาทสำคัญภายในพรรครีพับลิกันอีกครั้ง เพื่อหวังผลว่าจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี สมาชิกระดับแกนนำของพรรครีพับลิกันหลายคน ซึ่งรวมถึง รอน ดีแซนติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ต่างก็หมายปองศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 เช่นกัน และคนกลุ่มนี้ย่อมพยายามขัดขวางการกลับมาของทรัมป์อย่างถึงที่สุด
ขณะที่ผู้สมัครหลายคนซึ่งทรัมป์หนุนให้ลงสมัครเลือกตั้งกลางเทอมหนนี้ กลับทำคะแนนได้ไม่น่าประทับใจ สร้างความผิดหวังและไม่พอใจแก่แกนนำของพรรค ที่เชื่อว่าบทบาทที่มากเกินไปของทรัมป์ คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พรรคไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในศึกเลือกตั้งกลางเทอมหนนี้
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของตัวเอง หลังจากเพิ่งนำพรรคเดโมแครตฝ่าสมรภูมิสู้ศึกเลือกตั้งกลางเทอม พร้อมกับสามารถหยุดยั้ง “ปรากฏการณ์คลื่นสีแดง” หรือการกวาดที่นั่งแบบถล่มทลาย ของพรรครีพับลิกันเอาไว้ได้
ไบเดน ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 80 ปีในเดือนนี้ ถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องอนาคตทางการเมืองระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ซึ่งเจ้าตัวได้ตอบว่า ขอเวลาตัดสินใจขั้นสุดท้ายในช่วงต้นปีหน้า ว่าจะลงสมัครสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าในปี 2024 หรือไม่
ในเบื้องต้น ไบเดนกล่าวว่า ตัวเขามีความตั้งใจที่จะลงสมัครอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ จะต้องขอหารือกับครอบครัวเสียก่อน และการตัดสินใจในเรื่องนี้ จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของครอบครัว
นอกจากนั้นไบเดนยังเปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่พรรคเดโมแครตสามารถทำผลงานได้ดีเกินกว่าที่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ไว้ในศึกเลือกตั้งกลางเทอมหนนี้ และรู้สึกโล่งใจที่สามารถขัดขวางแนวร่วม MAGA (Make America Great Again) ของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน ไม่ให้กลับมามีอำนาจควบคุมรัฐบาลได้อีก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามประธานาธิบดีไบเดนว่า หากลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2024 คิดว่าใครจะเป็นคู่แข่งที่น่าหนักใจกว่ากัน ระหว่างอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับรอน ดีแซนติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาที่เพิ่งคว้าชัยชนะมาได้อย่างยอดเยี่ยมในศึกเลือกตั้งกลางเทอมหนนี้
ไบเดน ก็ตอบเพียงว่า เขารู้สึกว่าการที่ทรัมป์และดีแซนติสต้องมาแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนุกต่อการรับชมแล้ว