โดยล่าสุด บรรดาผู้นำชาติสมาชิก G20 ได้ทยอยเดินทางถึงอินโดนีเซียแล้ว แต่สิ่งที่ถูกจับตามากที่สุดในวันนี้ ก็คือการหารือนอกรอบระหว่างประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ของจีน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่พบกันซึ่งหน้านับตั้งแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 โดยสถานะของไต้หวันคือประเด็นใหญ่ในการหารือสองฝ่ายครั้งนี้
เผชิญหน้ากันครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำจีน ในการประชุมG20 วันจันทร์หน้า
ไม่มีศัตรูถาวร! สี จิ้นผิง พร้อมจับมือกับสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์
การพบกันของผู้นำสหรัฐฯ และจีน มีขึ้นที่โรงแรมมูเลีย ซึ่งเป็นโรงแรมหรูบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ถือเป็นการพบกันนอกรอบก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมการประชุม G20 ที่จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ ( 15 พ.ย.)
โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวเริ่มต้นการประชุมว่า เขายึดมั่นต่อการรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกันให้เปิดกว้างอยู่เสมอ เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันในประเด็นเร่งด่วนของโลก เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่มั่นคงทางอาหาร
ไบเดน ยังบอกว่าในฐานะผู้นำจีนและสหรัฐฯ เขาเชื่อว่าตัวเองและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างมีหน้าที่ในการแสดงให้เห็นว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ สามารถจัดการความแตกต่าง และป้องกันไม่ให้การแข่งขันกลายเป็นอะไรก็ตามที่เข้าใกล้ความขัดแย้ง
ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บอกว่าเขารู้ดีว่าการประชุมนี้ถูกจับตาจากทั่วโลก เขายอมรับว่าในช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจมาก เพราะนี่ไม่เป็นไปตามผลประโยชน์พื้นฐานของทั้งสองฝ่ายและประชาชนของทั้งสองประเทศ ที่ไม่ใช่สิ่งที่ประชาคมโลกคาดหวังจากจีนและสหรัฐฯ
ดังนั้น ในฐานะผู้นำของสองประเทศใหญ่ ทั้งเขาและไบเดนจึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางและหาทิศทางที่ถูกต้องสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในอนาคตและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
การพบกันแบบซึ่งหน้าครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน นับตั้งแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนม.ค.ปี 2021
แต่ความจริงแล้วทั้งคู่รู้จักกันมายาวนานนับ 10 ปี นับตั้งแต่ไบเดนยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา และเมื่อไบเดนดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศทั้งคู่ก็เคยต่อสายตรงหารือกันทางโทรศัพท์และวิดีโอคอลมาแล้ว 5 ครั้ง
ก่อนการหารือจะมีขึ้น ทำเนียบขาวเผยว่า ไม่น่าจะมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน แต่มองว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายมีเสถียรภาพ
การพบกันระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังย่ำแย่จากหลากหลายประะเด็นตั้งแต่ท่าทีต่อรัสเซียที่รุกรานยูเครน ประเด็นคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนการที่จีนกระชับอำนาจควบคุมฮ่องกง และความตึงเครียดต่อประเด็นไต้หวัน ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจตึงเครียดหนัก
โดยเฉพาะหลังการเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาของ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่ทำให้จีนไม่พอใจจนระดมกองทัพออกมาซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันเป็นการตอบโต้
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีไบเดนก็ได้ระบุว่า กองกำลังของสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหากจีนรุกราน ซึ่งถือเป็นถ้อยแถลงที่ชัดเจนที่สุดของประธานาธิบดีไบเดนเท่าที่เคยมีมา และยิ่งเป็นจุดที่ทำให้จีนไม่พอใจมากขึ้น จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยิ่งตึงเครียดหนักเข้าไปอีก
โดยเรื่องไต้หวันเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญในการหารือครั้งนี้กัประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
เมื่อวานนี้ระหว่างอยู่ในกัมพูชา ประธานาธิบดีไบเดนเผยว่า ในการพูดคุยครั้งนี้เขาต้องการสร้าง “เส้นแดง” ในความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเส้นแดงที่ไบเดนพูดถึงก็คือ ขีดจำกัดของขอบเขตที่จะไม่ยอมให้อีกฝ่ายก้าวล่วงในประเด็นต่างๆ ที่เป็นความขัดแย้ง
ไบเดนยังบอกว่า เขารู้จักประธานาธิบดีสี และประธานาธิบดีสีก็รู้จักเขา ทั้งคู่หารือกันอย่างตรงไปตรงมาเสมอ โดยผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าตอนนี้ทั้งฝ่ายมีความไม่เข้าใจกันอยู่เล็กน้อย การพบกันครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
โดยในระหว่างร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กัมพูชา ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวในที่ประชุมว่า ช่องทางสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเปิดอยู่เสมอเพื่อป้องกันความขัดแย้ง แม้สหรัฐฯ จะแข่งขันกับจีนอย่างดุเดือด แต่ก็รับรองว่าการแข่งขันนั้นจะไม่กลายเป็นความขัดแย้ง พร้อมย้ำความสำคัญของสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน
ด้านหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน รายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าในการหารือกับผู้นำจีน ประธานาธิบดีไบเดนจะพูดถึงการให้ความสำคัญของสหรัฐฯ ต่อกิจกรรมทางการทหารของจีนใกล้กับไต้หวันที่มีลักษณะยั่วยุ
ขณะที่ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่บอกว่า การนั่งคุยกันครั้งนี้ของสองผู้นำ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อบรรลุดข้อตกลง แต่ต้องการ “สร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์” เพื่อป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนตกลงไปสู่จุดที่เกิดความขัดแย้งอย่างเปิดเผย นี่เป็นการพูดคุยเพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจถึงสิ่งที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญ และลดความเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนการพบกันของสองผู้นำจะมีขึ้น ‘จ้าว หลี่เจียน’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดบิดเบือนหลักการจีนเดียว และยอมรับการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน
การหารือซึ่งหน้าในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ แต่เป็นผลจากการหารือยาวนานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
นอกจากเรื่องไต้หวันแล้ว ผู้นำสหรัฐฯ และจีนยังได้พูดคุยกันประเด็นสงครามของรัสเซียในยูเครน และความร่วมมืออื่นๆ ที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับจีน เช่นเรื่องท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนือ
การประชุม G20 ถือเป็นการประชุมนัดสำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบสัปดาห์นี้ต่อจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชาและการประชุมเอเปคที่กำลังจะมีขึ้นในกรุงเทพฯ
แม้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้อินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพหวังว่า การประชุม G20 จะทำให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนที่เป็นรูปธรรมในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก แต่ก็คาดการณ์กันว่าสงครามในยูเครนจะยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของการประชุม G20 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้น
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียไม่ได้มาร่วมการประชุม G20 ด้วยตัวเอง แต่ส่ง ‘เซอร์เก ลาฟรอฟ’ รัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมแทน
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะไม่แสดงความรู้สึกผิดต่อการให้ความช่วยเหลือปกป้องยูเครน
ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กัมพูชาที่ผู้นำสหรัฐฯ ร่วมวงหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย สมาชิกอาเซียนและหุ้นส่วนชาติอื่นๆ ก็จบลงด้วยการไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากความเห็นต่างระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในกรณีสถานการณ์ยูเครน ทำให้ถูกจับตาว่าการประชุม G20 ที่อินโดนีเซียจะลงเอยในรูปแบบเดียวกันหรือไม่
ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนระบุว่า จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม G20 ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ในวันพรุ่งนี้ด้วย
G20 หรือ Group of Twenty เป็นการประชุมของสหภาพยุโรปและอีก 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ขณะที่สเปนได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมเสมอในฐานะแขกรับเชิญถาวร
ประเทศ G20 มีจีดีพีคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพีโลก ส่วนหัวข้อการหารือก็กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความยั่งยืนด้านพลังงาน แต่ละปีประเทศที่รับหน้าที่ประธานจะเป็นผู้กำหนดวาระการประชุม
อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนในปีนี้ ต้องการให้เวที G20 ที่อินโดนีเซียให้ความสนใจไปที่มาตรการด้านสาธารณสุขของโลกและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด และยังต้องการส่งเสริมการรับรองพลังงานยั่งยืนด้วย
ขณะเดียวกัน G20 ก็เป็นเวทีให้บรรดาผู้นำหรือตัวแทนรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมได้หารือความสัมพันธ์ทวิภาคีกันนอกรอบด้วย
เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพประชุม G20 ที่เกาะบาหลีรอบนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดมาตรการด้านสุขภาพที่เคร่งครัดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด
โดยที่เขตนูซา ดูอา บนเกาะบาหลีซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม ได้มีการประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไปจนถึง 17 พฤศจิกายน รวมถึงมีกฎให้ผู้เข้าร่วมต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในอาคารและรอบสถานที่จัดการประชุม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้จัดหายานพาหนะไฟฟ้ากว่า 1,000 คัน เพื่อเป็นยานพาหนะหลักในการรับส่งผู้เข้าร่วมการประชุม G20 เพื่อแสดงให้เห็นความพยายามของอินโดนีเซียในการลดการปล่อยคาร์บอนด้วย