มีจุดเริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตของหญิงสาวที่มีชื่อว่า มาห์ซา อามินี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมและทำร้ายร่างกายในข้อหาสวมฮิญาบไม่เรียบร้อย
การประท้วงลุกลามไปในหลายเมือง และลามเข้าไปถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์
หลายฝ่ายจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในอิหร่านหรือไม่หลังจากที่หลานสาวของผู้นำสูงสุดของประเทศออกมาร่วมวงประท้วงครั้งนี้ด้วย
ปธน.อิหร่านโทษสหรัฐฯ ชักใยก่อความไม่สงบในประเทศ
"อิหร่าน" ไม่พอใจ ชาติตะวันตก ปมประท้วงหญิงชาวเคิร์ด ถูก ตร.ทำร้าย
คลิปแถลงการณ์ของ ฟาริเดห์ โมรัดคาห์นิ หลานสาวของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านที่ถูกเผยแพร่เมื่อคืนที่ผ่านมา
ในคลิปดังกล่าว ฟาริเดห์ได้พูดเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกตัดความสัมพันธ์ทุกช่องทางกับรัฐบาลอิหร่าน
เธอขอร้องให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลของตนเองยุติการติดต่อสื่อสารใดๆ กับระบอบการปกครองของอิหร่านที่กำลังสังหารประชาชน โดยเธอระบุว่า ระบอบการปกครองของอิหร่านไม่มีความซื่อสัตย์กับหลักการทางศาสนา มีเพียงแค่ความพยายามในการรักษาอำนาจเท่านั้น
คลิปแถลงการณ์ของหลานสาวผู้นำสูงสุดของอิหร่านถูกปล่อยออกมาและมีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางทาง Social Media ของประเทศขณะที่มีรายงานว่า เธอถูกจับกุมตัวไปตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ไม่มีการให้ข้อมูลว่า คลิปที่ปล่อยออกมานี้ถ่ายเมื่อใด และถ่ายจากสถานที่แห่งใด
คลิปนี้ได้รับความสนใจเพราะฟาริเดห์ โมรัดคาห์นิ หลานสาวของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เป็นผู้ออกมาพูดด้วยตัวเอง
อิหร่านมีระบบการปกครองที่ซับซ้อนและไม่เหมือนใคร เป็นการผสมผสมผสานกันระหว่างระบอบเทวาธิปไตยของศาสนาอิสลามกับการระบอบประชาธิปไตย โดยฝ่ายศาสนาเป็นผู้นำสูงสุด และมีประธานาธิบดีกับรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ระบบนี้ถูกนำมาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชหลังจากการปฎิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 คนที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศคือ ผู้นำสูงสุด ที่มีเพียง 2 คนนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คนแรกคือ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้ที่โค่นพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน
ผู้นำสูงสุดคนที่ 2 และถือเป็นคนปัจจุบันคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพและกองกำลังความมั่นคง เป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะตุลาการ และควบคุมกิจการทางศาสนาอย่างเบ็ดเสร็จในทุกมิติ
ส่วนคนที่มีอำนาจลำดับต่อมาคือ ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี
ดังนั้นการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของหลานสาวผู้นำสูงสุดด้วยการเรียกร้องให้ประชาคมโลกตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลอิหร่านจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
การประท้วงเริ่มขึ้นเมืองกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจาก มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมเพราะละเมิดกฎหมายที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องปกปิดเส้นผมด้วยผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบ และปกปิดแขนขาด้วยเสื้อผ้าหลวมๆ หลังจากถูกจับกุมได้ไม่กี่วัน อามินีเธอเสียชีวิตจากการถูกตำรวจทุบตี
ในอดีตการสวมใส่ฮิญาบเป็นทางเลือก ไม่ใช่ข้อบังคับแต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979
ผู้หญิงทุกคนถูกกำหนดให้ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะและเสื้อผ้าหลวมๆ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะเพื่อปกปิดรูปร่าง โดยมีตำรวจศีลธรรมทำหน้าที่สอดส่องว่าผู้หญิงในอิหร่านแต่งตัวเหมาะสมตามการตีความของทางการหรือไม่ หากละเมิดกฎมีโทษตั้งแต่ปรับ จำคุก จนถึงเฆี่ยนตี
การปราบปรามผู้ต่อต้านคำสั่งสวมฮิญาบเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่การตายของอามินีจุดกระแสความโกรธของประชาชนมากที่สุดจนนำมาสู่การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี วิธีการจัดการกับผู้ประท้วงของผู้ปกครองอิหร่านคือ ใช้ไม้แข็ง
มีรายงานว่า กองกำลังอิหร่านใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้กระบองทุบตี รวมถึงการใช้โทษประหารชีวิต
โวลเกอร์ เติร์ก (Volker Turk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประท้วงในอิหร่าน ถูกจับกุมตัวไปแล้วมากกว่า 14,000 คน และมีอย่างน้อย 6 คนที่ถูกประหารชีวิต
หน่วยความมั่นคงที่ถูกใช้ให้ทำหน้าที่จัดการกับผู้ประท้วงคือ กองกำลังอาสาสมัครบาซิจ (Basij) สังกัดกลุ่มกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) แห่งอิหร่าน
กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ถือเป็นกองกำลังทหารชั้นดีที่สุดของอิหร่าน มีกำลังพลมากกว่า 150,000 นาย
ก่อตั้งหลังการปฎิวัติอิสลาม มีหน้าที่ในการปกป้องผู้นำสูงสุดและระบอบการปกครองจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก
หน่วยที่สำคัญที่สุดของ IRGC คือ หน่วยรบพิเศษคุดส์ หน่วยนี้ถูกใช้ในการขยายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค เช่นการเข้าสนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน สงครามในซีเรียและอิรัก
อีกหน่วยหนึ่งของ IRCG คือ บาซิจ (Basij) หน่วยนี้เป็นกองกำลังอาสา มีกำลังประจำการพร้อมกองหนุนพร้อมเรียกกว่า 1 ล้านนาย
และในวันที่อำนาจของผู้นำสูงสุดถูกท้าทาย บาซิจ (Basij) ถูกนำมาใช้ในการปราบปรามผู้ประท้วง เพราะเชื่อว่า การประท้วงใหญ่ครั้งนี้คือความพยายามของต่างชาติเพื่อทำลายความมั่นคงของอิหร่าน
คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้เองคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เขาปรากฎตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก่อนประกาศยกย่องกำลังอาสาสมัครบาซิจ (Basij)ว่ามีความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่มีต่างชาติหนุนหลัง
นี่เป็นสัญญานว่า ผู้ปกครองอิหร่านที่นำโดยผู้นำสูงสุดจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการประท้วง
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากก็ไม่ยอมถอยเช่นเดียวกัน นอกจากการนำการประท้วงรัฐบาลเข้าไปในการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้ว ที่อิหร่านการประท้วงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวัน
ในภาพคือการประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ในเมืองซาฮิดาน เมืองในจังหวัดซิสถานและบาลูจิสถาน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศใกล้กับชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถาน
ประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวตามท้องถนนตะโกนขับไล่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของประเทศ แม้จะมีความหวาดกลัวว่าการประท้วงนี้อาจถูกปราบปรามจากทางการ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านในระลอกนี้ดูจะมีความรุนแรงที่สุด และถือเป็นความท้าทายที่สุดต่อรัฐบาลอิหร่าน ที่ครองอำนาจอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979
ขณะเดียวกัน การประท้วงไม่ได้เกิดขึ้นแต่ภายในอิหร่านเท่านั้น ตอนนี้ การประท้วงได้ถูกจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น การประท้วงล่าสุดที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอนของสหรัฐอาณาจักร ซึ่งผู้ประท้วงจัดกิจกรรมโกนหัวประท้วง เพื่อเรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิของผู้หญิงในอิหร่าน