เพราะตอนนี้อิหร่านกำลังเจอกับการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี หรืออาจใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 หลังจากที่ตำรวจศีลธรรมทุบตีหญิงสาวรายหนึ่งเสียชีวิตเพียงเพราะเธอสวมใส่ฮิญาบไม่เหมาะสม
ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ออกมาท้าทายรัฐบาลและผู้นำสูงสุดของอิหร่านแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ทำให้รัฐบาลอิหร่านต้องใช้ไม้แข็งปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างหนัก แต่ฝั่งผู้ชุมนุมในหลายเมืองยังคงปักหลักสู้ไม่ถอย
นักเรียนหญิงอิหร่าน ถอดฮิญาบ-ปลดรูปผู้นำ
อิหร่านหนุนรัสเซียทำสงครามในยูเครน
ภาพการประท้วงจากเมืองอับดานาน ทางภาคตะวันตกของอิหร่าน ที่นี่บรรดาผู้ประท้วงได้จุดไฟเผารูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มบาซิส ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กองกำลังของกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หรือ IRGC ( Islamic Revolutionary Guard Corps) และเป็นกลุ่มที่ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนัก
ถัดมาที่เมืองชาห์เรคอร์ด (ชา-เร-คอร์ด) ที่อยู่ห่างจากเมืองอับดานานราว 600 กิโลเมตร คือภาพกลุ่มผู้ชุมนุมชาวอิหร่าน ที่รวมตัวกันประท้วงอยู่ด้านนอกของมหาวิทยาลัยอิสลามอาซาด
ในขณะที่ประท้วง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนป่าวร้องสโลแกนของการประท้วงว่า “หนึ่งคนถูกสังหาร อีกพันคนก่อเกิดใหม่”
นอกจากที่เมืองทางภาคตะวันตกแล้ว ที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านก็มีการประท้วงเกิดขึ้นเช่นกัน
ภาพบรรยากาศประท้วงของกลุ่มผู้ประท้วงชาวอิหร่าน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุไฟไหม้ปริศนาที่คุกเอวิน ที่เป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองของอิหร่าน
ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาบ้านเรา สำนักข่าวท้องถิ่นรายงานโดยอ้างคำแถลงหน่วยงานยุติธรรมอิหร่านที่ระบุว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่คุกเอวินแห่งนี้
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของทางการให้สัมภาษณ์ IRNA ซึ่งเป็นสื่อของอิหร่านว่า สาเหตุเกิดจากการปะทะกันระหว่างนักโทษในแดนที่กระทำผิดในฐานลักขโมยและกระทำผิดในฐานก่ออาชญากรรมทางการเงิน
ก่อนจะนำไปสู่การจุดไฟเผาโกดังเย็บผ้าและเก็บเครื่องแบบของบรรดาเจ้าหน้าที่ ซึ่งในภายหลังหัวหน้าพัศดีของเรือนจำแห่งนี้อ้างว่า นี่เป็นหนึ่งในแผนการหลบหนีที่นักโทษวางไว้
ผลจากการจุดไฟเผาโกดังเย็บผ้าดังกล่าว ทำให้เพลิงลุกลามจนไหม้อาคารวอดทั้งหลัง และโครงสร้างอาคารบริเวณหลังคาทรุดตัวลงมา ส่งผลให้จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 60 คน
ด้านสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า พยานที่อยู่ในเรือนจำให้สัมภาษณ์สวนทางกับคำพูดของทางการ โดยระบุว่าบรรดานักโทษไม่ได้เป็นผู้จุดไฟเผาอาคารดังกล่าว
เช่นเดียวกันกับสำนักข่าว VOA ที่รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของอดีตนักโทษที่เคยถูกคุมขังในคุกเอวินว่า ปกติแล้วโกดังจะปิดตอนตะวันตกดิน และนักโทษจะถูกนำตัวกลับเข้าห้องขัง จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีนักโทษลักลอบออกมาก่อเหตุวางเพลิงตอนกลางคืน
คุกเอวินแห่งนี้เป็นคุกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อคุมขังบรรดานักโทษทางการเมืองของอิหร่านมาตั้งแต่ปี 1972
พื้นที่บางส่วนของคุกแห่งนี้มีชื่อเล่นว่า “มหาวิทยาลัยเอวิน” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีนักศึกษาและปัญญาชนชาวอิหร่านจำนวนมากถูกนำมาคุมขัง เพราะต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอิหร่าน
บรรดาองค์กรและนักสิทธิมนุษยชน ระบุว่าเรือนจำเอวินเป็นเรือนจำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงกับนักโทษที่ถูกคุมขัง ในห้องขังไม่มีที่นอนหรือแม้กระทั่งหมอน และถ้านักโทษต้องการจะเข้าห้องน้ำ ก็ต้องขออนุญาตผู้คุมก่อน
นี่ทำให้เรือนจำแห่งนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิในโลกตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนาน และภายหลังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำในปี 2018 จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
อย่างไรก็ดี ทางการของอิหร่านออกมาชี้แจงแล้วว่า เหตุความไม่สงบในเรือนจำกับเหตุการณ์ประท้วงไม่เกี่ยวข้องกัน
แต่หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เรือนจำเอวินได้ไปกระตุ้นความรุนแรงของการประท้วงในหลายเมืองทั่วอิหร่าน
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความหนักใจและสร้างโจทย์ทางการเมืองที่ใหญ่มากให้แก่บรรดาชนชั้นปกครองของอิหร่าน ซึ่งผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานหลายสิบปี
สังเกตได้จากท่าทีของผู้นำอิหร่านที่ออกมาแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้
เมื่อวานนี้ ( 17 ต.ค.) อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีของอิหร่านได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับกรณีความไม่สงบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ
โดยผู้นำอิหร่านระบุว่า เรื่องทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นล้วนเป็นฝีมือของสหรัฐฯ ที่ต้องการทำลายอิหร่าน