ภูเขาไฟใหญ่สุดในโลก “เมานาโลอา” ปะทุครั้งแรกในรอบ 40 ปี

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ภูเขาไฟ “เมานาโลอา (Mauna Loa)” ในฮาวาย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกิดการปะทุอีกครั้งในรอบเกือบ 40 ปี

เมื่อช่วงดึกวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ที่ผ่านมา ภูเขาไฟ “เมานาโลอา (Mauna Loa)” ในฮาวาย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกิดการปะทุอีกครั้งในรอบเกือบ 40 ปี ทำให้มีควันและเถ้าภูเขาไฟลอยคลุ้งในอากาศ

หน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ระบุว่า แม้จะมีลาวาไหลลงมาทางด้านหนึ่งของภูเขาไฟ แต่ยังอยู่ในพื้นที่ยอดเขา ดังนั้นการปะทุครั้งนี้จึงยังไม่ได้ส่งผลคุกคามต่อชุมชนโดยรอบ และยังไม่มีคำสั่งในการอพยพประชาชน

ภูเขาไฟซากุระจิมะปะทุ ญี่ปุ่น เตือนภัยสูงสุด สั่งอพยพ

“ภูเขาไฟน้ำแข็ง” ทั้งระบบสุริยะจักรวาลพบที่ "ดาวพลูโต" ที่เดียว

"เจอภูเขาไฟใต้ทะเล"ห่างจากระนอง 700 กม. จุดเฝ้าระวังแผ่นดินไหว สึนามิ

มิเอล คอร์เบ็ตต์ โฆษกของ USGS กล่าวว่า ภูเขาไฟจะปะทุนานเท่าใดและจะทำให้ลาวาไหลไปยังพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยบนเกาะหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณ์

“แต่ฉันสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้เรากำลังสื่อสารกับหน่วยงานป้องกันพลเรือนฮาวายอย่างต่อเนื่อง และพวกเขากำลังให้ข้อมูลอัปเดตแก่ประชาชนในพื้นที่” เธอกล่าว

ขณะนี้ หน่วยงานป้องกันพลเรือนกล่าวว่าได้เปิดศูนย์พักพิงในไคลัว-โคนาและพาฮาลา เนื่องจากมีรายงานว่าประชาชนตามแนวชายฝั่งโคนาใต้ตัดสินใจอพยพด้วยตนเอง

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีอันตรายจากลาวาโดยตรง แต่สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NWS) ประจำโฮโนลูลู ระบุว่า เถ้าภูเขาไฟที่ถูกปล่อยออกมาอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจได้ และผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจควรระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ

“ในบางพื้นที่อาจมีเถ้าภูเขาไฟสะสมได้สูงถึง 1/4 นิ้ว (0.6 ซม.)” NWS ระบุ และเสริมว่า ขี้เถ้าสามารถทำลายยานพาหนะและอาคาร ทำให้น้ำประปาปนเปื้อน ทำลายระบบบำบัดน้ำเสียและไฟฟ้า และสร้างความเสียหายต่อพืชได้ หน่วยบริการสภาพอากาศระบุ ขณะที่เถ้าภูเขาไฟที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสามารถระคายเคืองตาและปอดได้ด้วย

“ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจควรอยู่แต่ในอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมละอองเถ้าภูเขาไฟ และใครก็ตามที่ออกมาข้างนอกควรปิดปากและจมูกด้วยหน้ากากหรือผ้า อาจเกิดอันตรายต่อพืชผลและสัตว์ อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานอาจเกิดความเสียหายเล็กน้อย ทัศนวิสัยลดลง” NWS เตือน

ด้านหอสังเกตการณ์ภูเขาไฟฮาวายบอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าการปะทุเกิดขึ้นบริเวณเขตรอยแยก (Rift Zone) หรือจุดที่เป็นรอยแยกบนพื้นผิวภูเขาไฟ ซึ่งหากเกิดการปะทุ จะทำให้แมกมาโผล่ออกมาได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงที่จะกลายเป็นลาวาไหลลงมา

“จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ระยะแรกของการปะทุของภูเขาไฟเมานาโลอานั้นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตำแหน่งของการไหลของลาวาสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว” หอสังเกตการณ์ระบุ

พวกเขาเสริมว่า “หากการปะทุยังคงอยู่แค่บริเวณยอดภูเขาไฟ คาดว่าการไหลของลาวาส่วนใหญ่มักจะถูกคุมขังอยู่ภายในกำแพง อย่างไรก็ตาม หากเกิดการปะทุบริเวณเขตรอยแยก อาจทำให้มีลาวาไหลลงมาอย่างรวดเร็วได้”

ภูเขาไฟเมานาโลอาเป็นภูเขาไฟรูปโล่ (Shield Volcano) สูงจากระดับน้ำทะเล 4,169 เมตร เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 5 ลูกที่รวมกันเป็นเกาะใหญ่ (Big Island) ของฮาวาย ซึ่งเป็นเกาะทางใต้สุดของหมู่เกาะฮาวาย

เมานาโลอามีลักษณะค่อนข้างลาดชัน ซึ่งเมื่อเกิดการปะทุ ทำให้บางครั้งลาวาของมันสามารถไหลลงมาได้เร็วมาก โดยระหว่างการปะทุในปี 1950 ลาวาของภูเขาไฟสามารถเดินทางได้ไกล 24 กม. ไปยังมหาสมุทรภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง

 

คอนเทนต์แนะนำ
ตารางฟุตบอลโลก 2022 วันอังคารที่ 29 พ.ย. ช่องถ่ายทอดสดและอัปเดตผลบอลโลก
สภาพอากาศวันนี้! อุตุฯ เตือน ฉ.2 รับมือฝนก่อนอุณหภูมิลดฮวบ ใต้อ่วมฝนถล่มหนัก

 

เรียบเรียงจาก CNN / The Guardian

ภาพจาก AFP

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ