วานนี้ 30 พ.ย. เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียได้ออกมาแถลงข่าวระบุว่า จุดยืนของรัสเซียยังคงเหมือนเมื่อครั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ ได้ตกลงกับผู้นำรัสเซียในการเจรจาเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 ว่าจะไม่มีการทำสงครามนิวเคลียร์กัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียยังได้อธิบายจุดยืนเพิ่มเติมว่า รัสเซียไม่ต้องการให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างชาติมหาอำนาจถือครองนิวเคลียร์ แม้ว่าการเผชิญหน้านั้นจะเป็นการเผชิญหน้าด้วยอาวุธธรรมดาก็ตาม เพราะความขัดแย้งอาจบานปลายและควบคุมไม่ได้
รัสเซีย ปล่อยภาพการซ้อมรบของกำลังพลสำรอง
ขณะเดียวกันวันนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียก็ออกมาพูดเชิงตำหนิองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ว่าถูกครอบงำโดยชาติตะวันตก และกล่าวหาว่าชาติตะวันตกทำลายโอกาสที่จะสร้างสะพานความร่วมมือกับรัสเซีย
แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียจะออกมาพูดเรื่องการพยายามไม่เผชิญหน้ากันของสองมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าทางฝั่งรัสเซียเองก็จะเตรียมพร้อมด้านนิวเคลียร์เอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน
สังเกตได้จากท่าทีของเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ที่ออกมาแถลงเกี่ยวกับแผนงานของกระทรวงกลาโหมในปี 2023
รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า ในปีหน้ารัฐบาลมีแผนที่จะทุ่มงบประมาณไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกองกำลังนิวเคลียร์ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ระบบขีปนาวุธชนิดใหม่
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือการส่งสัญญาณเตือนจากฝั่งรัสเซียเพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกล้ำเส้นไปมากกว่านี้ เพราะทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกนาโตที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย
โดยประเด็นในการประชุมคือ การให้ความช่วยเหลือยูเครนและประเทศรอบข้าง รวมถึงการรับฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต
สำหรับประเด็นเรื่องความช่วยเหลือยูเครน ชัดเจนแล้วว่าความช่วยเหลือหลักๆ ในรอบนี้จะเป็นความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ชาวยูเครนสามารถอยู่รอดได้ในฤดูหนาวอีกสามเดือนต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั่นไฟหรือเชื้อเพลิงต่าง ๆ
ส่วนประเด็นเรื่องอาวุธนั้น เลขาธิการนาโตระบุแบบกว้างๆ เพียงว่านาโตจะส่งอาวุธเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน โดยไม่ได้ระบุว่าจะมีอาวุธชนิดบ้าง ซึ่งอาวุธที่หลายให้ความสนใจคือระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นแพทริออต
อย่างไรก็ดี ทางนาโตได้มีการเปิดอภิปรายประเด็นนี้ในที่ประชุม แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อสรุปออกมา
โดยทางเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบขีปนาวุธแพทริออตอยู่ ได้ออกมาบอกว่า ระบบขีปนาวุธนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนนาโต การจะเคลื่อนย้ายขีปนาวุธนี้ไปยังประเทศที่สามที่ไม่ใช่สมาชิกจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสมาชิกนาโตทั้งหมดก่อน นี่หมายความเยอรมนีอาจยังไม่ตอบรับคำขอของทางยูเครนในเวลานี้
ด้านดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ได้ออกมาแถลงเมื่อวานนี้ว่า ทางยูเครนจะพยายามโน้มน้าวเยอรมนีในประเด็นนี้อีกครั้ง
เขาระบุว่ายูเครนจำเป็นต้องใช้ระบบแพทริออตในการปกป้องชีวิตของพลเมืองจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย พร้อมย้ำว่าระบบแพทริออตไม่ใช่อาวุธสำหรับการโจมตี
นอกจากการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนแล้ว เมื่อวานนี้นาโตได้ออกมาระบุว่า ทางองค์การจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนและรัสเซียที่กำลังเผชิญกับผลกระทบของสงครามในครั้งนี้ด้วย
โดยประเทศที่จะได้รับความช่วยเหลือจากนาโต คือ มอลโดวา จอร์เจีย และ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต ระบุว่าแต่ละประเทศจะได้รับความช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไปตามความต้องการ
โดยความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ เลขาฯนาโตบอกว่าเป็นผลจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในยูเครน ที่นาโตไม่อยากยื่นมือเข้ามาในวันที่ปัญหานั้นยากเกินจะแก้ไข
นอกจากนี้ เยนส์ยังได้พูดถึงการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนด้วย โดยระบุว่ายูเครนจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้ โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ ยูเครนต้องชนะสงครามนี้ และนาโตจะช่วยเหลือยูเครนจนกว่าจะชนะ
นอกจากเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ การเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ตอนนี้ทั้งสองชาติอยู่ในกระบวนการสุดท้ายคือ กระบวนการให้สัตยาบันรับเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว ซึ่งกระบวนการนี้ต้องให้รัฐสภาของประเทศสมาชิกนาโต 30 ประเทศรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์
โดยขั้นตอนนี้ใกล้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เนื่องจากรัฐสภาของประเทศสมาชิกนาโต 29 จาก 30 ประเทศได้ให้สัตยาบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรัฐสภาของประเทศตุรกีที่ยังไม่ให้สัตยาบัน
เนื่องจากตุรกีเคยตั้งเงื่อนไขกับทั้งสองชาติไว้ว่า หากต้องการการให้สัตยาบันจากตุรกี ทั้งสองชาติจะต้องจัดการกับปัญหากลุ่มชาวเคิร์ดที่เป็นภัยความมั่นคงของตุรกีอย่างจริงจัง
ล่าสุดเงื่อนไขดังกล่าวกลายมาเป็นวาระสำคัญของการประชุมที่กรุงบูคาเรสต์ในรอบนี้
เมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีได้ออกมาแถลงหลังการหารือร่วมกับทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ในที่ประชุมว่า ทางตุรกียินดีและพอใจที่ได้เห็นความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องชาวเคิร์ดของทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ดี ทางตุรกีต้องการเห็นกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ อาทิ การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน การอายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย หรือการหยุดพฤติกรรมก่อการร้ายของชาวเคิร์ดในทั้งสองประเทศ
ถ้าฟังจากคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีแล้ว หมายความว่าตอนนี้ตุรกีจะยังไม่ให้สัตยาบันรับรองทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกในเวลานี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งสองประเทศจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต แต่ทางรัสเซียออกมาส่งสัญญาณความไม่พอใจอีกครั้ง พร้อมกับเตือนว่าการตัดสินใจแผ่อำนาจของนาโตจะยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคนี้
โดยคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือ มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย
เธอระบุว่า ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกนาโต สิ่งที่น่าสังเกตคือ ประเทศสมาชิกสภาอาร์กติก (Arctic Council) ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเทศ คือ แคนาดา เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ รัสเซีย สวีเดน และสหรัฐฯ
7 ใน 8 ประเทศสมาชิกสภาเหล่านี้ ยกเว้นรัสเซีย จะกลายเป็นสมาชิกถาวรขององค์การนาโต ซึ่งอาจนำไปสู่การเร่งสั่งสมกำลังทหารในภูมิภาคและสร้างความตึงเครียดขึ้น ตลอดจนก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้
ในขณะที่ชาตินาโตกำลังหารือร่วมกันเพื่อช่วยเหลือยูเครนและกำหนดวาระความมั่นคงต่าง ๆ สงครามในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป
ตอนนี้ผลจากการโจมตีของรัสเซียต่อระบบโครงสร้างพลังงานของยูเครนเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพลังงานในประเทศเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในบางพื้นที่
ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนก็ออกมาเตือนประชาชนอยู่เป็นระยะๆ ว่าให้เตรียมพร้อมกับการโจมตีรอบใหม่ของรัสเซีย เนื่องจากทางยูเครนเชื่อว่า รัสเซียกำลังซุ่มที่จะวางแผนโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนอีกครั้ง
ข้อสันนิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีราเมื่อวานนี้ที่ระบุว่า เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ต้องการให้กองทัพใช้อาวุธชนิดใหม่ต่อสู้กับยูเครน
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียไม่ได้ระบุว่าอาวุธดังกล่าวคืออาวุธรุ่นใด แต่ระบุสั้นๆ เพียงว่ากำลังทดสอบประสิทธิภาพอยู่ โดยอาวุธเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อโจมตีจรวดและปืนใหญ่ของยูเครน
ในขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียกำลังวางแผนปรับการรบ ด้านโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องการโจมตีของรัสเซีย ขณะที่ไปเข้าร่วมการประชุมเบอร์ลินซีเคียวริตี้คอนเฟอร์เรนซ์ (Berlin Security Conference) เช่นกัน
โดยผู้นำเยอรมนีระบุว่ารัสเซียจะไม่มีวันชนะในสงครามครั้งนี้ และการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนที่รัสเซียทำคือ เรื่องที่น่ากลัว ไม่ต่างจากการใช้กลยุทธ์ผลาญภพ
นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า เยอรมนีกำลังส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้ยูเครนและพยายามตรวจสอบว่ามีวิธีการอื่นใดอีกที่เยอรมนีจะช่วยเหลือยูเครนได้ โดยเฉพาะการป้องกันภัยทางอากาศ
ขณะเดียวกัน ตอนนี้ยูเครนเริ่มเตรียมความพร้อมให้แก่บรรดาทหารของตนเองที่จะต้องสู้รบในสงครามฤดูหนาวแล้ว
นี่คือภาพทหารจากภูมิภาคดอนบาสที่ได้รับเสื้อผ้า รองเท้า และถุงนอนในขณะที่อุณหภูมิด้านนอกลดลงเหลือ 0 องศาเซลเซียสแล้ว
ทหารยูเครนบอกว่าเสื้อผ้าเหล่านี้ช่วยให้อุ่นและถุงนอนที่ได้รับก็ค่อนข้างดีกว่าถุงนอนที่เคยใช้ก่อนหน้านี้