พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ว่ายและดำน้ำได้เหมือนเป็ด!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นักวิจัยค้นพบ “ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่” ที่มีวิถีการล่าหาอาหารเหมือนกับ “เป็ด” ในโลกปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับ “ไดโนเสาร์” หลายคนอาจนึกถึงบรรดากิ้งก่าหรือสัตว์มีเกล็ดทั้งหลายตามภาพจำจากภาพยนตร์ยุคเก่า บางคนอาจนึกถึงนกตามข้อมูลสมัยใหม่ที่ว่าไดโนเสาร์มีกายภาพภายนอกเป็นขน ๆ คล้ายกับนก

แต่การศึกษาใหม่ชวนว้าวจากนักวิจัยจะทำให้เราอึ้งทึ่งกันไปอีกขั้น เมื่อพวกเขาได้ค้นพบ “ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่” ที่มีวิถีการล่าหาอาหารเหมือนกับ “เป็ด” ในโลกปัจจุบัน!

พบฟอสซิลไดโนเสาร์ในสวนหลังบ้านในโปรตุเกส คาดใหญ่ที่สุดในยุโรป

โครงกระดูกไดโนเสาร์ต้นแบบ “แรปเตอร์” ถูกประมูลสูงถึง 430 ล้านบาท

จีนพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์ คล้ายกับไก่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลับอัลเบอร์ตา และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มองโกเลีย ได้ร่วมกันศึกษาไดโนเสาร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานว่ามันสามารถ “ว่ายน้ำ” และ “ดำน้ำ” ได้เหมือนกับเป็ด

เจ้าไดโนเสาร์สุดแปลกชนิดนี้มีชื่อว่า “นาโทเวเนเตอร์ โพลิดอนทัส (Natovenator polydontus)” เป็นไดโนเสาร์กลุ่ม เทโรพอด (Theropod) หรือไดโนเสาร์กลุ่มที่กระดูกมีลักษณะกลวง มี 3 นิ้วหรือกรงเล็บ กลุ่มเดียวกับ ที-เร็กซ์ สไปโนซอรัส เวโลซิแรปเตอร์

หลักฐานจากฟอสซิลทำให้เชื่อว่า นาโทเวเนเตอร์ โพลิดอนทัส มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส ราว 145 ล้านถึง 66 ล้านปีก่อน โดยเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นมองโกเลียในปัจจุบัน

นักวิจัยระบุว่า นาโทเวเนเตอร์ มีซี่โครงที่เบาและเพรียวเหมือนกับที่พบในนกมราสามารถดำน้ำได้ในปัจจุบัน “รูปร่างของมันบ่งบอกว่า นาโทเวเนเตอร์เป็นนักล่าที่สามารถว่ายน้ำได้ และร่างกายที่คล่องตัวก็วิวัฒนาการในทางที่ต่างจากไดโนเสาร์เทโรพอดสายพันธุ์อื่น ๆ”

นักวิจัยบอกว่า ตัวอย่างของนาโทเวเนเตอร์ที่พบนั้น มีความคล้ายคลึงกับ ฮาลส์ซกาแรปเตอร์ (Halszkaraptor) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์อีกสายพันธุ์ที่ค้นพบในมองโกเลีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์กึ่งน้ำเช่นกัน แต่ตัวอย่างของนาโทเวเนเตอร์นั้นสมบูรณ์กว่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปรูปร่างลักษณะของมันได้ง่ายกว่า

นักวิจัยอธิบายว่า ทั้งนาโทเวเนเตอร์และฮาลส์ซกาแรปเตอร์นั้นน่าจะใช้แขนท่อนปลายในการเคลื่อนไหวขณะอยู่ในน้ำ นอกจากนี้ นาโทเวเนเตอร์ยังมีกระดูกที่หนาแน่นซึ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ที่ดำน้ำใต้ผิวน้ำ โดยนักวิจัยนิยามว่า มันเป็นไดโนเสาร์ที่ “มีร่างกายที่ค่อนข้างเป็นไปตามหลักอุทกพลศาสตร์ (Hydrodynamics)”

ขั้นตอนต่อไปคาดว่าจะเป็นการสร้างแบบจำลองรูปร่างของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ขึ้นมา เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า มันเคลื่อนไหวได้อย่างไร “มันใช้เท้าพายหรือเปล่า? มันจะเคลื่อนที่ได้เร็วแค่ไหน?”

อย่างไรก็ตาม นิซาร์ อิบราฮิม อาจารย์อาวุโสด้านบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้นพบนี้ ออกมาบอกว่า เขายังไม่เชื่อผลการศึกษานี้ทั้งหมด เขาแย้งว่าการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่เข้มงวดกว่านี้จะทำให้การค้นพบนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น

“ผมอยากเห็นคำอธิบายที่ชัดเจนจริง ๆ เกี่ยวกับความหนาแน่นของกระดูกของมัน เกี่ยวกับการศึกษาโครงสร้างระดับจุลภาค องค์ประกอบทางเคมีและหน้าที่ของกระดูก ในแบบที่เป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่” เขากล่าว

กระนั้น เขาก็มองว่า การศึกษานี้จะช่วยเปิดประตูสู่แนวคิดที่กว้างมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของไดโนเสาร์ ก่อนหน้านี้ มนุษย์เคยคิดว่าไดโนเสาร์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตบนบก แต่มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งบอกว่า ไดโนเสาร์บางชนิดใช้เวลาอยู่ในน้ำมากพอ ๆ กับบนบก

“ผมแน่ใจว่าจะมีเซอร์ไพรส์อีกมากมาย แล้วเราจะพบว่าไดโนเสาร์ไม่ได้แค่ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่อย่างยาวนานเท่านั้น แต่คุณรู้ไหมว่าไดโนเสาร์มีความหลากหลายและเก่งมากในการบุกรุกเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ” อิบราฮิมกล่าว

 

คอนเทนต์แนะนำ
ตารางฟุตบอลโลก 2022 รอบ 16 ทีม จันทร์ที่ 5 ธ.ค. ช่องดูบอลสดและอัปเดตผลบอลโลก
ฮือฮา! แผนปั้นช้างศึกรุ่นใหม่ อย่างกับการ์ตูนดัง “บลูล็อก”

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก Yusik Choi

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ