หากพูดถึงสื่อต่างประเทศที่โด่งดังและเป็นที่นิยมในการติดตามสถานการณ์สหราชอาณาจักรและทั่วโลก เชื่อว่าช่อง BBC คือหนึ่งในตัวเลือกของใครหลาย ๆ คน และนี่ยังเป็นช่องโทรทัศน์ที่มีความสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารที่สำคัญ ที่เห็นได้ชัดคือข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น สื่อดั้งเดิมก็อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง
นี่ท้องฟ้าหรือทะเล? ปรากฏการณ์ “เมฆรูปคลื่น” หาชมยาก
นิตยสารไทม์ ยก “เซเลนสกี” ปธน.ยูเครน เป็นบุคคลแห่งปี 2022
ปูติน คาดสงครามยูเครน จะยังคงอยู่อีกนาน เตือนสงครามนิวเคลียร์เสี่ยงมีเพิ่มสูงขึ้น
ทิม เดวี ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ BBC ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ 2030s หรือในระยะประมาณ 10 ปีข้างหน้านี้ BBC จะปิดช่องโทรทัศน์และวิทยุลง และหันไปแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มตัว
“ลองนึกภาพโลกที่มีแต่อินเทอร์เน็ต ที่ซึ่งโทรทัศน์และวิทยุถูกปิด และทางเลือกมีไม่สิ้นสุด ... การยุติการออกอากาศโทรทัศน์และวิทยุจะเกิดขึ้นและควรเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และเราควรกระตือรือร้นในการวางแผนสำหรับเรื่องนี้” เดวีกล่าว
เขาเสริมว่า BBC มุ่งมั่นที่จะออกอากาศสด แต่ชาวอังกฤษควรเตรียมพร้อมสำหรับการปิดช่องในโทรทัศน์และสถานีวิทยุจำนวนมากภายในปี 2030
เดวีบอกว่า อนาคตของ BBC จะเป็นการนำ “ทุกคอนเทนต์ของ BBC ไปรวมไว้ในที่เดียว” ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันเดียวที่รวมทุกอย่างตั้งแต่รายการโทรทัศน์ไปจนถึงข่าวท้องถิ่นและสื่อการเรียนรู้
ผู้อำนวยการ BBC ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่ BBC จะกลายเป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ดาด ๆ ในตลาดที่มีผู้เล่นหนาแน่นอยู่แล้ว
“การย้ายไปสู่ระบบดิจิทัลไม่ใช่ความท้าทายในตัวของมันเอง การย้ายสู่ดิจิทัลโดยที่ไม่สูญเสียผู้ชมส่วนใหญ่และเสียเงินหลายล้านปอนด์โดยไม่จำเป็นต่างหากคือความท้าทาย” เดวีกล่าว
มีข้อมูลว่า แม้ว่าช่องโทรทัศน์และวิทยุของ BBC จะยังคงเข้าถึงชาวอังกฤษหลายสิบล้านคนต่อเดือน แต่ช่องทางเกือบทั้งหมดกลับพบว่าผู้ชมรายการสดของพวกเขาลดลงในระยะยาว
ขณะนี้ เดวีได้ประกาศแผนการเปลี่ยนช่อง CBBC และช่อง BBC Four เป็นแบบออนไลน์เท่านั้น โดยคาดว่าช่องอื่น ๆ จะตามมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนผู้ชมโทรทัศน์แบบดั้งเดิมยังคงสูงในหมู่ผู้สูงวัย แต่ผู้ชม BBC One โดยเฉลี่ยอยู่ในวัย 60 ปี และผู้ชมที่อายุน้อยกว่าก็หายไปโดยสิ้นเชิง
เขากล่าวว่าความท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงชาวอังกฤษหลายล้านคน ซึ่งมักจะแก่กว่า ยากจนกว่า หรืออยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่แรงพอและอาจถูกตัดขาดจาก BBC ที่จะอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงอย่างเดียว
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP