ปธน.ยูเครน เยือนสหรัฐฯ รัสเซียระบุยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สำหรับสถานการณ์สงครามในยูเครนวันนี้ เรื่องที่ถูกจับตามองคือการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำของยูเครนเพื่อพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และสมาชิกสภาคองเกรส

หลังจากก่อนหน้านี้มีรายงานว่าประธานาธิบดีเซเลนสกี มีแผนเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และมีแผนที่จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาคองเกรส เพื่อโน้มน้าวให้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ยังคงการสนับสนุนรวมถึงเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านการทหารกับยูเครนเพื่อรับมือการรุกรานของรัสเซียต่อไป

ล่าสุดมีการยืนยันการเดินทางครั้งนี้ของประธานาธิบดียูเครนแล้ว

นิตยสารไทม์ ยก “เซเลนสกี” ปธน.ยูเครน เป็นบุคคลแห่งปี 2022

"ไบเดน"ต่อสายหา "เซเลนสกี" สนับสนุนระบบป้องกันภัยเพิ่ม

เมื่อไม่มีกี่ชั่วโมงที่ผ่านมา บัญชีทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครนมีการโพสต์ข้อความว่า “ผมกำลังเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านกลาโหม ผมจะเข้าหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส รวมถึงการประชุมความร่วมมือทวิภาคีอื่นๆ ด้วย”

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์สได้เผยแพร่คลิปวิดีโอของผู้นำยูเครน พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ขณะเดินทางด้วยขบวนรถไฟถึงสถานีรถไฟที่เมืองเปอร์เซมีเซิลในโปแลนด์  ก่อนจะขึ้นเครื่องบินต่อไปยังสหรัฐอเมริกา

ตามกำหนดการประธานาธิบดีเซเลนสกีจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทยก่อนสี่ทุ่มคืนนี้  และจะเข้าพบประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ทำเนียบขาว ในเวลาประมาณ 12.00 น. โดยผู้นำทั้งสองจะพบหารือกันที่ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) จากนั้น ประธานาธิบดีทั้งสองจะเปิดแถลงข่าวร่วมกัน

ส่วนในช่วงเย็นถึงค่ำ เซเลนสกีจะเข้าร่วมประชุมสภาคองเกรสและกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม ถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 เดือนของเซเลนสกีนับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

ทำไมผู้นำยูเครนจึงเสี่ยงเดินทางออกจากยูเครนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 300 วัน เพราะสงครามคือกิจกรรมทางการทหารที่ต้องใช้งบประมาณสูงมาก และสหรัฐฯ คือผู้สนับสนุนหลักของยูเครนทั้งเรื่องของงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์

ตัวเลขประมาณการณ์ที่ยูเครนใช้ในการทำสงครามขณะนี้ คือ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนโดยตรงต่อยูเครน ทั้งทางด้านอาวุธและมนุษยธรรม รวมเป็นเงินแล้วทั้งสิ้น 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 1.6 ล้านล้านบาท (หรือเทียบเท่างบประมาณครึ่งปีของประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยังไม่ทีท่าว่าจะยุติ ทำให้ยูเครนต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาประธานาธิบดีเซเลนสกีใช้วิธีปราศรัยต่อรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงรัฐสภาหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขอร้องให้มีการสนับสนุนยูเครน ผ่านทางระบบวีดีโอคอล 

รวมถึงการส่งผู้แทนไป ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ รวมถึงสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง โอเลนา เซเลนสกา เนื่องจากประธานาธิบดียูเครนต้องการประจำการและติดตามสถานการณ์การรบอยู่ที่ยูเครน

ทั้งนี้การเดินทางมาสหรัฐฯในครั้งนี้ของผู้นำยูเครน เกิดขึ้นในขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสกำลังลงมติร่างกฎหมายงบประมาณค่าใช้จ่ายรอบสิ้นปีของรัฐบาล

ซึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าวมีงบประมาณการช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ยูเครนมูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1 ล้าน 5 แสนล้านบาทรวมอยู่ด้วย เป็นจำนวนงบประมาณที่จะช่วยให้ยูเครนสามารถทำสงครามกับรัสเซียต่อไปได้อีก ไม่น้อยกว่า 6-8 เดือน

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในสภาคองเกรส หลังพรรคเดโมแครตสูญเสียสถานะการเป็นเสียงข้างมากในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร

โดยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนเคยประกาศว่าจะดำเนินการตรวจสอบงบประมาณในการช่วยเหลือยูเครนอย่างละเอียด

นั่นหมายความว่า ร่างงบประมาณในส่วนที่เป็นงบช่วยเหลือยูเครนจำนวน 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นอาจติดขัด ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาล่างได้ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ผู้นำยูเครนต้องเดินทางมาสหรัฐฯ ด้วยตนเอง

มีรายงานว่า นอกเหนือจากการมาเพื่อขอร้องให้สหรัฐฯยังคงความช่วยเหลือทั้งทางการทหารและทางมนุษยธรรมต่อยูเครนต่อไป อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้นำยูเครนจะหยิบยกมาพูดทั้งในระหว่างการพบกับสมาชิกสภาคองเกรสและกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือการขอให้สหรัฐฯ ตัดสินใจส่งระบบป้องกันขีปนาวุธประสิทธิภาพสูงอย่างระบบแพทริออตให้กับยูเครน

ประเด็นการส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้กับยูเครนเป็นเรื่องใหญ่ต่อเนื่องตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาหรือนับตั้งแต่เข้าฤดูหนาว หลังรัสเซียใช้วิธีการโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนอย่างหนัก โดยมีเป้าหมายให้ยูเครนขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานในฤดูหนาวที่อากาศหนาวจัดถึงขั้นอุณหภูมิติดลบ

แม้ว่าตอนนี้ยูเครนจะได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศจากพันธมิตรแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือกับการโจมตีลักษณะนี้

ยูเครนจึงออกมาเรียกร้องระบบที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นอย่างระบบป้องกันภัยทางอากาศ แพริออต ของสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับการโจมตีของรัสเซีย

ระบบขีปนาวุธแพทริออต PATRIOT (Phased Array Tracking Radar to Intercept of Target) หรือ MIM-104 แพทริออต เป็นขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศของกองทัพสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโต้และทำลายเครื่องบินรบและหัวรบแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ขีปนาวุธร่อน หรือขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่ถูกยิงเข้ามา ถือเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดตัวหนึ่งของโลกในเวลานี้

ขณะที่ชาวยูเครนต่างก็คาดหวังว่า การเดินทางไปสหรัฐฯ ด้วยตนเองของประธานาธิบดีเซเลนสกีครั้งนี้ จะช่วยโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ตอบสนองต่อคำร้องของยูเครน

ท่ามกลางความคาดหวังของชาวยูเครนว่าการเดินทางไปสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีเซเลนสกีครั้งนี้อาจช่วยให้ยูเครนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมและสามารถปกป้องดินแดนของพวกเขาต่อไปได้

อย่างไรก็ดีโฆษกรัฐบาลเคลมลินได้พูดถึงการเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำยูเครนครั้งนี้ว่าจะไม่ส่งผลดีต่อยูเครน

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีเซเลนสกี จะไม่ส่งผลดีใดๆต่อยูเครน ขณะนี้รัสเซียมองไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลยูเครน

พร้อมย้ำว่าการสนับสนุนด้านอาวุธของโลกตะวันตกต่อยูเครนจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกยิ่งขึ้น

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ