ท่ามกลางขยะกองขยะมหึมา ชาวอาร์เจนตินาหลายคนกำลังคัดเลือกขวดพลาสติก ลังกระดาษ และสิ่งที่พอจะเก็บไปขายต่อได้เพื่อหาเงินประทังชีวิต
พวกเขาบอกว่าราคาข้าวของพุ่งสูงขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี ทำให้แรงงานนอกระบบที่หาเงินได้เท่าเดิมต้องลำบากขึ้น เพราะเงินที่หามาได้ไม่มีค่าอีกต่อไป หลังอัตราเงินเฟ้อในอาร์เจนติน่าเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก ขณะที่อัตราความยากจนอยู่ที่กว่าร้อยละ 40
อาร์เจนตินา ประกาศวันหยุดแห่งชาติ หลังทีมคว้าแชมป์โลก
เมสซี่ นำทัพ อาร์เจนตินา ถึงมาตุภูมิหลังคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022
ราคาข้าวของที่พุ่งขึ้นสวนทางกับรายรับ ส่งผลให้จำนวนชาวอาร์เจนตินาที่มาคัดเลือกขยะเพื่อนำไปขายต่อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
สภาพปัจจุบันของผู้คนส่วนมากในอาร์เจนตินา ประเทศที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือประเทศที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วงเวลานั้นอาร์เจนตินาคือคู่แข่งที่ทัดเทียมกับแคนาดาและออสเตรเลีย
รายได้ต่อหัวของอาร์เจนตินาสูงกว่าอิตาลี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีโอกาสติดอันดับประเทศร่ำรวย 1 ใน 10 ของโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลมาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา
รากฐานที่แข็งแกร่งของอาร์เจนตินาในยุคนั้นได้รับการวางโดย ฮวน เบาติสตา อัลเบอร์ดี (Juan Bautista Alberdi) ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1853
อัลเบอร์ดีได้วางร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้เพื่อไม่ให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจและเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้ภาคเอกชนมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
ด้วยพื้นฐานที่ดี ทำให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจากยุโรปจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามายังอาร์เจนตินา พร้อมๆ กับเงินทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการเกษตร
อาร์เจนตินาผลิตสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์คุณภาพสูงได้จำนวนมาก การส่งออกคือเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ประเทศในยุโรปซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอาร์เจนตินาประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และไม่สามารถซื้อสินค้าจากอาร์เจนตินาได้อีกต่อไป
เมื่อเครื่องจักรที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างการส่งออกหยุดชะงัก ภาวะนิ่งสนิทจึงเกิดขึ้น ตามมาด้วยความไม่พอใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางซึ่งเคยได้ผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง
ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมเริ่มเผยออกมา โดยเฉพาะปัญหาคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแสวงหาอำนาจทางการเมืองโดยใช้นโยบายประชานิยม
ผลที่เกิดขึ้นคือ เงินทุนสำรองของประเทศเริ่มร่อยหรอ จากนั้นก็เริ่มกู้เงินจากต่างประเทศจนแทบหมดเครดิตและเริ่มพิมพ์ธนบัตรใช้เอง ก่อนที่อาร์เจนตินาจะประสบกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก
ผู้คนไร้ทางออก บรรดาผู้มีอำนาจหยิบยื่นความหวังใหม่ให้ในนามของการปฏิวัติรัฐประหาร ลากความเชื่อมั่นของอาร์เจนตินาให้ต่ำลงไปอีก
แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่ยืนอยู่คู่อาร์เจนตินาต่อเนื่องมาไม่มีเปลี่ยนคือ นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะในช่วงของประธานาธิบดีฮวน เปรอง
ในทศวรรษที่ 1940 อดีตนายพลผู้นี้คือหนึ่งในผู้นำที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้นมากที่สุด และสร้างความนิยมอย่างมหาศาลกลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล มีการตั้งชื่อรูปแบบการปกครองในยุคนี้ว่า ลัทธิเปรอง หรือ Peronism
ภายใต้การปกครองของเปรอง มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้การค้าเสรีถูกจำกัด รายจ่ายสาธารณะเพิ่มขึ้น นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องเริ่มควบคุมราคาสินค้า และบริษัทเอกชนหลายสิบแห่งถูกโอนให้เป็นของภาครัฐ
นโยบายนี้ทำให้ผู้นำอย่างเปรองกลายเป็นที่รัก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การรัฐประหารเพื่อโค่นเขาลงจากอำนาจในปี 1955
อาร์เจนตินาดำดิ่งต่อเมื่อเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกหลายครั้งในช่วงระหว่างปี 1974-1990 และลากยาวมาถึงปัจจุบัน บีบบังคับให้อาร์เจนตินาต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF
การกู้เงินครั้งใหญ่ที่สุดจาก IMF เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 หรือ 4 ปีที่แล้ว รัฐบาลในสมัยของประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากริ ลงนามกู้เงินจาก IMF คิดเป็นมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาทซึ่งถือเป็นการปล่อยเงินกู้จำนวนสูงที่สุดเท่าที่ IMF เคยปล่อย โดยอาร์เจนตินาจะแบ่งจ่ายหนี้เป็น 3 งวด โดยกำหนดชำระงวดสุดท้ายคือปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าอาร์เจนตินาต้องปฎิรูประบบการเงินให้มีความโปร่งใส ปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และเลิกใช้นโยบายประชานิยม
เงื่อนไขของ IMF ถือเป็นการสิ้นสุดนโยบายประชานิยมที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน บีบให้ผู้คนต้องลำบากมากขึ้นและทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น ผู้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจจนเกิดการประท้วง
นี่คือหนึ่งในการประท้วงใหญ่ในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันชาติของอาร์เจนตินา
คนจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองวันชาติตามท้องถนน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายหนี้คืน IMF
การกู้เงินต่อเนื่องทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของอาร์เจนตินาอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยปัจจุบันอาร์เจนตินามีหนี้สาธารณะร้อยละ 74.4 ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกประเทศ อย่างหนี้ IMF
ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน นี่คือความเสี่ยงสูงอย่างมาก เพราะอาร์เจนตินาต้องแบกรับกับความผันผวนของค่าเงินแบบเต็มๆ
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg ตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า ‘วิกฤตผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์กำลังคืบคลานเข้าสู่หมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่’ รวมถึงอาร์เจนตินา
ความยุ่งเหยิงและความซับซ้อนของปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกมัดรวมมานานกว่า 100 ปี ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติเงินเฟ้อที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นที่มาของภาพการคุ้ยขยะเพื่อประทังชีพของคนจำนวนมาก และการออกมาประท้วงของชาวอาร์เจนตินาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพื่อเรียกร้องสภาพความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น
เกือบ 100 ปีผ่านไป แคนาดาและออสเตรเลียคือชาติที่จุดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งติดอันดับต้นๆ ของโลก รายได้ต่อหัวประชากรสูงติด 1 ใน 10 ของโลก
แต่เป็น 100 ปีที่หยุดอยู่กับที่สำหรับอาร์เจนตินา และกลายเป็นประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง