EU ช่วยเหลือยูเครนเพิ่ม หลายชาติกดดันเยอรมนีส่งรถถัง

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สงครามในยูเครนดำเนินมาครบรอบ 11 เดือนเต็มแล้ว ในเดือนนี้เราได้เห็นพัฒนาการก้าวสำคัญของสงคราม ที่บรรดาชาติตะวันตกกำลังถกเถียงกันเรื่องการส่งอาวุธที่หนักขึ้นอย่างรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครน

ทำให้ตอนนี้แรงกดดันจากทุกฝ่ายก็พุ่งเป้าไปที่เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและถือใบอนุญาตส่งมอบรถถังรุ่นดังกล่าว เนื่องจากทางการเยอรมนียังมีท่าทีที่คลุมเครือกับประเด็นการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความคลุมเครือของเยอรมนี หลายชาติได้ออกมาประกาศให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรปที่ออกมาประกาศเมื่อวานนี้ว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนเพิ่มเติม

ไรฮ์นเมทัลล์ เผย สามารถส่ง“รถถัง Leopard” ให้ยูเครนได้ถึง 139 คัน

รถถัง “Leopard 2” กับการเดิมพันอนาคตของสงครามยูเครน

วานนี้ 23 ม.ค. มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งวาระหลักของการประชุมมี 2 ประเด็น คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนและการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม

สำหรับเรื่องความช่วยเหลือยูเครน ก่อนการประชุมจะเริ่ม บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย รวมถึงลักเซมเบิร์ก ได้ให้สัมภาษณ์เชิงกดดันเยอรมนีเรื่องการส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครน

ขณะเดียวกัน ที่ด้านหน้าของอาคารคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ที่เป็นสถานที่จัดการประชุม ชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยได้มายืนปักหลักแสดงจุด ประกาศขอให้ยุโรปส่งรถถังไปช่วยเหลือยูเครนทันที

โดยผู้ชุมนุมบอกว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปลดปล่อยดินแดนตนเอง เพราะดินแดนที่รัสเซียครอบครองตอนนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เลวร้าย เช่น การซ้อมทรมานผู้คน

หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น โจเซป บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป ได้ออกมาแถลงว่า อียูตัดสินใจมอบความช่วยเหลือทางการทหารชุดที่ 7 ที่มูลค่ากว่า 600 ล้านยูโร หรือราว 2,140 ล้านบาทให้แก่ยูเครน

นอกจากนี้ เขายังได้พูดถึงเรื่องการอนุมัติส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 โดยระบุว่าเยอรมนีจะไม่ห้ามการส่งออกรถถังไปยังยูเครน

ด้านมาแตร์อุส มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเรื่องการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครน ได้ออกมาแถลงว่า โปแลนด์จะยื่นใบคำร้องขอส่งมอบอาวุธให้เยอรมนีพิจารณา

แต่เขาย้ำว่าการส่งใบคำร้องดังกล่าวเป็นประเด็นรอง เพราะประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ยูเครนต้องการรถถังเพื่อรับมือกับรัสเซียในอีกสองเดือนข้างหน้า

ดังนั้น ถ้าเยอรมนีไม่อนุมัติคำขอดังกล่าว ทางโปแลนด์และพันธมิตรก็จะเดินหน้าส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครนเหมือนเดิม

บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนีที่ให้สัมภาษณ์ร่วมกับเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตว่า เยอรมนีจะตัดสินใจเรื่องการส่งรถถังไปยังยูเครนในเร็ว ๆ นี้ 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องการส่งรถถังไปยังยูเครนกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน สังเกตได้จากการที่บางประเทศในที่ประชุมแรมสไตน์ก็พิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนเหมือนนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี

ขณะเดียวกันบอริสยังพูดในทำนองน้อยใจว่า เยอรมนีคือหนึ่งในชาติที่สนับสนุนยูเครนเหมือนชาติอื่นๆ แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องการส่งรถถังเข้ามา หลายฝ่ายอาจลืมเรื่องดังกล่าวไป แต่เยอรมนียังมีกำลังใจที่ดีจากชาติพันธมิตรอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส หรือ สหรัฐฯ

 

หลังจากที่หลายชาติตะวันตกของมาประกาศให้ความช่วยเหลือยูเครนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งรถถัง ทำให้เมื่อวานนี้ทางฝั่งรัสเซียออกมาปรามพฤติกรรมดังกล่าวของชาติตะวันตก

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการส่งรถถังของบรรดาชาติตะวันตกว่า การส่งรถถังให้แก่ยูเครนครั้งนี้จะทำให้ชาวยูเครนลำบากมากขึ้น และชาติใดก็ตามที่ส่งรถถังให้แก่ยูเครน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม มีราคาที่ต้องจ่ายและต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางฝั่งรัสเซีย เช่น ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและรองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย เคยออกมาพูดเตือนชาติสมาชิกนาโตว่า ความพ่ายแพ้ของรัสเซียอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้

 หลายฝ่ายมองว่าคำพูดดังกล่าวของเมดเวเดฟ คือ สัญญาณที่เตือนว่าโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางด้านนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์คิวบาในปี 1962

พอล อินแกรม ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า โลกกำลังเข้าใกล้วันสิ้นโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเราได้เห็นสัญญาณหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในคือ สงครามในยูเครนที่มีการขู่ใช้นิวเคลียร์

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง ผลกระทบจากการใช้นิวเคลียร์จะไม่จบที่การระเบิดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งจะคร่าชีวิตผู้คนบนโลกได้มากกว่าพันล้านคน

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าวว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบาก สงครามในยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังยกระดับคววามขัดแย้งก่อนที่ไปลดระดับความขัดแย้งในภายหลัง

ดังนั้นในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้ โลกน่าจะได้เห็นความวุ่นวายของสงครามยูเครน แต่ถ้าผ่านเฟสดังกล่าวไปได้โดยที่ไม่มีการใช้นิวเคลียร์ ก็มีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเริ่มตระหนักเรื่องการเจรจา

ดังนั้น พอล อินแกรมจึงมองว่า ในปีนี้ทิศทางของสงครามยูเครนอาจดีขึ้นและเป็นหมุดหมายใหม่ในการเริ่มเจรจา เพื่อปลดสลักวิกฤตด้านนิวเคลียร์ที่เพิ่มสูงขึ้นชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แนวคิดดังกล่าวของพอล อินแกรม สอดคล้องกับความเห็นของฟูลวิโอ เบลลินี นักวิชาการจากอิตาลี ที่มองว่า การสนับสนุนอาวุธหนักให้แก่ยูเครนของชาติตะวันตก จะทำให้สงครามที่ดำเนินอยู่รุนแรงมากขึ้น และจะทำให้ชาวยูเครนได้รับผลกระทบต่อไปไม่รู้จบ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ