ปฏิบัติการครั้งนี้มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไป 9 คนและกำลังก่อให้เกิดความโกรธแค้นอย่างหนักโดยกลุ่มฮามาส ผู้ปกครองฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ได้ระดมยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลอย่างหนักหน่วง
ช่วงเช้ามืดวันนี้ 27 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น เกิดการโจมตีตอบโต้กันไปมาอย่างหนักระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาและกองทัพอิสราเอล
กลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดจากฉนวนกาซาไปทางตอนใต้ของอิสราเอล แต่ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลสกัดไว้ได้ ส่งผลให้เกิดเสียงไซเรนดังตลอดทั้งคืน เตือนให้ประชาชนเร่งหลบภัยเบื้องต้นไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
"มัสยิดอัล-อักซอ" ชนวนขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
ประท้วงต่อต้านเผาอัลกุรอาน ลุกลามทั่วตะวันออกกลาง
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กองทัพอิสราเอลได้ยิงจรวดตอบโต้ไปยังฉนวนกาซา นี่คือภาพแสดงการโจมตีในฉนวนกาซาที่กองทัพอิราเอลเผยแพร่ออกมา โดยทางกองทัพระบุว่าได้กำหนดเป้าหมายการโจมตีไปยัง ‘สถานที่ผลิตจรวดใต้ดิน’ ทางตอนกลางของฉนวนกาซา และฐานทัพของกลุ่มฮามาสที่อยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
การตอบโต้กันอย่างดุเดือดระหว่างปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและกองทัพอิสราเอลเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ทหารอิสราเอลนำกำลังเข้าปิดล้อมอาคารหลายแห่งรวมถึงค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในเมืองเจนินซึ่งอยู่ดินแดนเวสต์แบงก์
ภาพที่กองทัพอิสราเอลได้เผยแพร่ออกมา เป็นภาพทหารอิสราเอลขณะที่กำลังบุกเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทางทหารอิสราเอลที่นำโดยหน่วยคอมมานโดมีอาวุธหนักครบมือ และระหว่างการบุกเข้าไป มีเสียงปืนจากในค่ายตอบโต้ออกมาเป็นระยะๆ
นอกจากเสียงปืน มีรายงานเสียงร้องดังด้วยความตกใจและหวาดกลัวของคนที่อยู่ในนั้นอีกด้วย
หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย มีพลเรือน 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสูงอายุ ส่วนอีก 7 รายเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 20 คน
หลังเกิดเหตุการณ์ ชาวปาเลสไตน์ทั้งในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา รวมถึงที่เยรูซาเล็มโกรธแค้นอย่างหนักและออกมาประท้วงการกระทำของอิสราเอล นี่คือส่วนหนึ่งของภาพการประท้วงของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
ชาวปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่งโบกธงและเผายางบริเวณชายแดนที่ติดกับอิสราเอล ทางตะวันออกของฉนวนกาซา
ขณะที่สมาชิกในกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นผู้ปกครองในฉนวนกาซารวมตัวประท้วงในกาซา โดยผู้นำกลุ่มฮามาสได้แถลงการณ์ว่าอิสราเอลกำลังจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งรุนแรง และฝ่ายอิสราเอลจะต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนี้
ขณะเดียวกันมีรายงานชายชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลยิงเพิ่มอีก 1 ราย ใกล้กับเมืองรามัลลาห์ในเขตเวสต์แบงก์ระหว่างการประท้วงต่อต้านการกระทำของอิสราเอล
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลในรามัลลาห์เพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตรายนี้ และล่าสุด วันนี้ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนเดินขบวนแห่ศพเพื่อไว้อาลัยให้กับชายที่ถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลยิงจนเสียชีวิตรายนี้
โดยผู้เสียชีวิตชื่อ ยูเซฟ มูฮายเซน อายุ 22 ปี เสียชีวิตในระหว่างที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงที่ต่อต้านปฏิบัติการในเมืองเจนิน และกองทัพอิสราเอล
ความขัดแย้งในเมืองเจนินทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มฮามาสก็จะระดมโจมตีใส่อิสราเอล ส่วนฝั่งอิสราเอลตอบโต้กลับอย่างต่อเนื่องตลอดคืนที่ผ่านมา ทำให้หลายฝั่งกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะลุกลามกลายเป็นสงครามย่อยๆ อีกหรือไม่
ชาวกาซารายนี้รู้สึกกังวลและกลัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะกาซามักเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำไมทหารอิสราเอลจึงบุกเข้าไปในเมืองเจนินซึ่งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์
ทำความรู้จักกับเมืองเจนินซึ่งเป็นจุดของการเกิดความขัดแย้งครั้งนี้กันก่อน เจนินตั้งอยู่สุดพื้นที่ชายขอบของดินแดนเวสต์แบงก์ซึ่งติดกับดินแดนอิสราเอล
เวสต์แบงก์เป็นหนึ่งในจุดระอุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาอย่างยาวนานระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
เวสต์แบงก์มีพื้นที่ประมาณ 5 พันกว่าตารางกิโลเมตร ตั้งริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
ที่นี่อยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษหลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่จะตกอยู่ในความครอบครองของอาหรับในเวลาต่อมา
ปี 1967 เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six Day War)
สงครามคราวนั้นจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล ที่สามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้เป็นจำนวนมากรวมถึงเขตเวสต์แบงก์ หลังจากนั้นชาวยิวก็เริ่มทะยอยเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น
ชาวอาหรับที่อาศัยในเขตเวสต์แบงก์ไม่พอใจ ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลนิ่งเฉย จนประชาคมโลกต้องออกโรง
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติเมื่อปี 2016 ระบุว่า การตั้งนิคมของชาวยิวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง
แต่ไม่เป็นผล ชาวยิวยังคงเข้าไปตั้งนิคมในเขตเวสต์แบงก์ต่อ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลอิสราเอลสนับสนุน มีการให้งบประมาณในการสร้างบ้านเรือน สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว
ชาวปาเลสไตน์เริ่มถูกบีบ บางคนเสียที่ดินและบ้านเรือนจนต้องมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย อย่างเช่นค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองเจนิน
ชาวอาหรับที่ไม่พอใจเริ่มประท้วงหนักขึ้น กลายเป็นการปะทะ ความรุนแรงถมทับทวีขึ้นทุกวัน
ทั้งนี้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความตึงเครียดเหล่านี้ โดยเมื่อปี 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ บรรลุข้อตกลงสันติภาพที่เรียกว่า ข้อตกลงออสโล เพื่อคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ส่วนหนึ่งของข้อตกลงออสโลคือ การแบ่งเวสต์แบงก์ออกเป็น 3 บริเวณ
Area A - มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 18 ให้อยู่ในความปกครองของปาเลสไตน์ มีรัฐบาลและดูแลความมั่นคงของตัวเอง
Area B- มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 22 ให้ปาเลสไตน์มีอำนาจทางการเมือง แต่การดูแลความมั่นคงจะเป็นหน้าที่ของอิสราเอล
Area C - พื้นที่ที่เหลือทั้งหมดให้อิสราเอลดูแลทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงใน Area C นี้เองคือพื้นที่ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวอาศัยและตั้งนิคมอยู่
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวยิวเริ่มขยับขยายจาก Area C เข้าไปตั้งถิ่นฐานใน Area B และ A มากขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ถูกบีบ บางคนเสียที่ดินและบ้านเรือนจนต้องมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีการปะทะกันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะที่เมืองเจนินซึ่งอยู่ตรงขอบของ Area A
เมืองเจนินเป็นจุดร้อนมาตลอดเนื่องจากตั้งอยู่บนขอบแดนนี้ โดยทางการอิสราเอลอ้างว่า ชาวปาเลสไตน์ใช้ที่นี่เป็นที่ซ่องสุมกำลังเพื่อเข้ามาโจมตีอิสราเอล
ซึ่งในการยกกำลังเข้าบุกค่ายผู้ลี้ภัยเมื่อวานนี้ อิสราเอลอ้างว่าเพื่อจับกุมตัวนักรบติดอาวุธที่กำลังวางแผนโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่
ล่าสุด ทางการปาเลสไตน์ออกมาบอกว่า ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ได้ยุติความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอิสราเอลในดินแดนเวสต์แบงก์แล้ว โดยระบุว่าเป็นเพราะอิสราเอลรุกรานชาวปาเลสไตน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบ่อนทำลายข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ลงนามกันไว้
โดยความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอิสราเอลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีส่วนช่วยในการรักษาระเบียบในดินแดนเวสต์แบงก์และป้องกันการโจมตีอิสราเอล
ทั้งนี้ สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดถูกจับตาจากหลายฝ่ายทั้งโลกอาหรับ สหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางเยือนอียิปต์ อิสราเอล และเวสต์แบงก์ในสัปดาห์หน้าเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น