"มัสยิดอัล-อักซอ" ชนวนขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

โดย PPTV Online

เผยแพร่

แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อาจปะทุขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้ หลังรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ที่เพิ่งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ได้เดินทางไปยังมัสยิดอัล-อักซอ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองเก่าของนครเยรูซาเลม และยังเป็นหนึ่งในพื้นที่เปราะบางที่สุดในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มฮามาสออกมาประณามและระบุว่าการกระทำนี้เป็นการยั่วยุ และ เหตุการณ์นี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่

ภาพของรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ "อิตามาร์ เบน กวีร์" ที่กำลังเดินเข้าไปในบริเวณมัสยิดอัล-อักซอ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของนครเยรูซาเล็ม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น

เปิดโผ 20 องค์กรที่น่าทำงานที่สุดในโลกประจำปี 2565

จอมขมังเวทเม็กซิโก เผยคำทำนายปี 2023

เบน กวีร์เป็นหนึ่งในคนที่มีแนวคิดขวาจัด เขามาจากพรรคพลังชาวยิว (Jewish Power) ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรลัทธิไซออนิสต์เคร่งศาสนา และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา

มีรายงานว่าเบน กวีร์  เดินทางไปมัสยิดอัล-อักซอในช่วงเวลาเช้าตรู่ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการละหมาด

เบน กวีร์ใช้เวลาอยู่ภายในมัสยิดอัล-อักซอไม่นาน ก่อนจะทวีตภาพตัวเองบนบัญชีทวิตเตอร์พร้อมกับเขียนข้อความที่มีระบุถึง Temple Mount หรือ เนินพระวิหาร ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวยิวใช้เรียกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้

เขาให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับสื่อมวลชน ระบุว่า รัฐบาลอิสราเอลจะไม่ยอมยกสถานที่แห่งนี้ให้กับองค์กรอาชญากรรม

โฆษกของกลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองพื้นที่ฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ออกมาแถลงการณ์ประณามทันที โดยระบุว่า พื้นที่ของมัสยิดอัล-อักซอ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์ โลกอาหรับ และศาสนาอิสลาม

สิ่งที่เบน กวีร์ทำ คืออาชญากรรม และชาวปาเลสไตน์จะไม่วันยอม จะต่อสู้อย่างสุดกำลังเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างมัสยิดอัล-อักซอ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อีกครั้ง

มัสยิดอัล-อักซอ อยู่ที่ไหน มีความสำคัญอย่างไร และจะกลายเป็นชนวนสงครามได้อย่างไร มาทำความรู้จักกับที่ตั้งของมัสยิดอัล-อักซอกันก่อน นั่นก็คือ เขตเมืองเก่าของนครเยรูซาเลม

เขตเมืองเก่าของนครอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสิ่งผูกมัดทางจิตวิญญานของ 3 ศาสนาสำคัญของโลก นั่นคือ ยูดาห์ คริสต์และอิสลาม

ที่โดดเด่นที่สุดคือ โดม ออฟ เดอะร็อค หรือโดมแห่งศิลา ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงจุดสูงสุดของเมืองจุดนี้คือข้อถกเถียงหลักระหว่างคนต่างศาสนาตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา

สำหรับชาวมุสลิม ใต้โดมแห่งศิลานี้คือแผ่นหินที่ศาสดามุฮัมหมัดได้เหยียบก่อนจะถูกนำตัวขึ้นสู่สรวงสววรค์เพื่อรับโองการสวดละหมาดวันละ 5 เวลาจากพระเจ้ามาสู่ชาวมุสลิมทุกคน        

ใกล้ๆ กับโดมแห่งศิลาคืออีกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเชื่อมโยงกัน นั่นก็คือมัสยิดอัล-อักซอ มัสยิดแห่งนี้มีความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับสามของศาสนาอิสลาม เป็นมัสยิดที่ศาสดามุฮัมมัดละหมาดก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นสู่สรวงสวรรค์

อย่างไรก็ตาม ชาวยิวเห็นไม่ตรงกับชาวมุสลิม สำหรับชาวยิว ใต้โดมแห่งศิลาคือ Temple Mount

Temple Mout ถือเป็นที่สถิตของแผ่นหินที่พระเจ้าของชาวยิวทรงสร้างโลกขึ้นมาเป็นจุดแรก เป็นสถานที่ตั้งของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ก่อนจะถูกทำลาย

มหาวิหารของยิวยุคแรกถูกทำลายโดยบาบิโลนก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นก็มีการสร้างมหาวิหารยุคที่ 2 ขึ้น แต่ถูกทำลายโดยโรมันในปี ค.ศ.70

วันนี้เราไม่สามารถมองเห็นพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวแล้ว เพราะจุดดังกล่าวขณะนี้คือ โดมแห่งศิลาซึ่งถูกสร้างขึ้นแทนที่เมื่อชาวมุสลิมเข้ามาครอบครองเยรูซาเลมในศตวรรษที่ 7

ถึงแม้มองไม่เห็น แต่สำหรับชาวยิว Temple Mount ไม่เคยหายไปและรอวันกลับมา นี่เป็นเหตุผลที่นักการเมืองฝ่ายขวาของอิสราเอลเดินทางไปที่นั่นหลายครั้งเพื่อประกาศความเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอาหรับแล้ว  ข้อมูลที่ว่าข้างใต้โดมทองแห่งศิลาของมุสลิมคือซากพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของยิวเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวปาเลสไตน์จะไม่พอใจอย่างหนักเมื่อรัฐมนตรีของอิสราเอลเข้าไปที่มัสยิดอัล-อักซอและใช้คำพูดว่าที่นี่คือ Temple Mount ไม่ใช่ครั้งแรกที่มัสยิดอัล-อักซอ กลายเป็นสถานที่จุดชนวนความขัดแย้ง

เดือนพฤษภาคมปี 2021 ทางการอิสราเอลมีการห้ามชาวปาเลสไตน์เข้าไปทำพิธีทางศาสนาในมัสยิดโดยอ้างว่าเป็นมาตรการป้องการโควิด-19

ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจ เกิดการปะทะกัน และลุกลามกลายเป็นการทำสงครามย่อยๆ ระหว่างกลุ่มฮามาสกับกองทัพอิสราเอล

7 พฤษภาคม 2021 ทหารอิสราเอลเข้าสลายการรวมกลุ่ม ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ที่มาทำพิธีทางศาสนา ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงค่ำที่ชาวมุสลิมกำลังละหมาด ละศีลอดประจำวัน 

ทหารอิสราเอลมีการยิงแก๊สน้ำตา ระเบิดควัน และระเบิดแฟลช เกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างสองฝ่าย

ฝั่งปาเลสไตน์มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 160 คน ส่วนฝั่งอิสราเอลมีทหารได้รับบาดเจ็บราว 20 นายหลังจากวันนั้น การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายยังคงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ทั้งในนครเยรูซาเลม กาซา และเขตเวสต์แบงค์พากันออกมาประท้วงการกระทำของทหารอิสราเอล เกิดความวุ่นวายในหลายเมือง

การปะทะกันลุกลามกลายเป็นสงคราม เมื่อกลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองแผ่นดินปาเลสไตน์ในฉนวนกาซายิงจรวดโจมตีอิสราเอลอย่างหนัก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมปี 2021 กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้ยื่นคำขาดให้อิสราเอลปลดกองกำลังรักษาความปลอดภัยออกจากบริเวณอัล-อักซอ และย่านชีคจาร์ แต่ทางฝั่งอิสราเอลกลับนิ่งเฉย ไม่แสดงท่าทีใดๆ ออกมา

กลุ่มฮามาสจึงยิงจรวดไปยังประเทศอิสราเอลและกรุงเยรูซาเลม โดยระบุว่าเป็นการปกป้องชาวมุสลิม

ขณะที่ทางฝ่ายอิสราเอลก็เริ่มปฏิบัติการทางอากาศและยิงจรวดตอบโต้ไปยังฉนวนกาซา

การโจมตีระหว่างอิสราเอลและกาซาสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายปาเลสไตน์ จรวดของอิสราเอลทำลายย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมาก นานาชาติต่างออกมาประณามการกระทำของทั้งสองฝ่าย

การสู้รบกันเกิดขึ้นต่อเนื่อง 11 วัน ประกอบไปด้วยการยิงจรวด 4,000 ลูกของกลุ่มติดอาวุธ และกองทัพอิสราเอลที่โจมตีทางอากาศไปยัง 1,500 เป้าหมายในฉนวนกาซา

โดยทางการปาเลสไตน์กล่าวว่า ในฉนวนกาซา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 245 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็กมากกว่า 100 ราย

ฝ่ายอิสราเอลระบุว่าสังหารสมาชิกกลุ่มติดอาวุธไปอย่างน้อย 225 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตในประเทศรวมทั้งหมด 66 ราย

ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยมีอียิปต์เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย ชาวปาเลสไตน์ออกมาฉลองแสดงความยินดีกันในฉนวนกาซา

หลังหยุดยิง ผู้นำคนหนึ่งของฮามาสบอกกับสำนักข่าวบีบีซีในฉนวนกาซาว่า อิสราเอลตกลงที่จะไม่เข้าไปยุ่งกับมัสยิดอัล-อักซอในเยรูซาเลมตะวันออก อย่างไรก็ดี อิสราเอลปฏิเสธเรื่องนี้

ประเด็นมัสยิดอัล-อักซอ ทำให้เกิดความขัดแย้ง การปะทะ จนกลายเป็นสงครามย่อยๆ หลายครั้งหลายครา

การเดินทางไปมัสยิดอัล-อักซอของนักการเมืองขวาจัดอิสราเอลคราวนี้จึงทำให้เกิดการถกเถียงอีกครั้งของสถานะของมัสยิดแห่งนี้

ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือท่าทีและคำพูดที่มาจากผู้นำของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ฮัซซาน นัซรุลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ที่กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะใดๆ ของมัสยิดอัล-อักซอ จะนำมาซึ่งหายนะของภูมิภาค

ส่วนท่าทีของสหรัฐฯ นั้น โฆษกทำเนียบขาวได้ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องการรักษาสถานะที่เป็นอยู่เอาไว้ นั่นคือการที่มัสยิดอัล-อักซอ อนุญาตเฉพาะการละหมาดของชาวมุสลิม ขณะที่อิสราเอลมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายใต้ข้อตกลงที่มีมาอย่างยาวนาน

โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นอันตรายต่อสถานะเดิมของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเยรูซาเล็มนั้นยอมรับไม่ได้

ขณะที่ชาติอาหรับอื่นๆ อย่าง จอร์แดน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และตุรกีต่างออกมาประณามการกระทำของเบน กวีร์ว่าเป็นการยั่วยุที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ล่าสุด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจีนออกมาเรียกร้องให้สหประชาชาติจัดประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วนก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลาย โดยคาดว่าการประชุมเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ( 5 ม.ค.)

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ