วันนี้ (30 ม.ค.) เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) เรียกร้องให้เกาหลีใต้เพิ่มกำลังสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน โดยอ้างถึงประเทศอื่น ๆ ที่เปลี่ยนนโยบายของประเทศ เพื่อจัดหาอาวุธให้ยูเครนหลังการรุกรานของรัสเซีย
ขณะนี้ สโตลเทนเบิร์ก ยังอยู่ในกรุงโซล ซึ่งเป็นจุดพักก่อนเดินทางไปยังญี่ปุ่น การเดินทางของสโตลเทนเบิร์กครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับชาติที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เนื่องด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนและการแข่งขันกับจีนที่เพิ่มมากขึ้น
สวีเดนส่อชวดเข้านาโต! ตุรกีไม่พอใจปมเผาอัลกุรอาน-ไม่ส่งตัวชาวเคิร์ด
เลขาฯนาโต ยืนยัน ชาติตะวันตกต้องส่งรถถังให้ยูเครน
นาโต หวังชาติพันธมิตรตะวันตก ให้อาวุธหนักกับยูเครน
ในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของเกาหลีใต้ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่าเหตุการณ์ในยุโรปและการเคลื่อนไหวของอเมริกานั้นเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก และในฐานะพันธมิตรก็ต้องช่วยจัดการภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยขอความร่วมมือในแถบเอเชียเพิ่มขึ้น
เขาให้สัมภาษณ์ที่สถาบัน Chey Institute for Advanced Studies ในกรุงโซลว่า ขอขอบคุณเกาหลีใต้สำหรับความร่วมมือในการส่งอาวุธร้ายแรงต่ำให้ยูเครน แต่ต้องทำมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าควรจัดส่งชุดกระสุนให้ยูเครนเพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน
สโตลเทนเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศต่าง ๆ ที่มีนโยบายคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ต่างเปลี่ยนนโยบายหมดแล้ว เช่น เยอรมนีที่เตรียมจัดส่งรถถังเลพเพิร์ด ทู (Leopard 2) ให้ยูเครน รวมไปถึงสวีเดน และนอร์เวย์ พร้อมกล่าวว่า “หากเราไม่ต้องการให้ระบอบเผด็จการทรราชได้รับชัยชนะ ชาวยูเครนก็ต้องการอาวุธ นั่นคือความจริง”
ด้านเกาหลีใต้ แม้จะลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดส่งรถถัง เครื่องบิน และอาวุธอื่น ๆ กว่าหลายร้อยรายการให้แก่โปแลนด์ หนึ่งในสมาชิกนาโต นับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น แต่ประธานาธิบดี ยุน ซุก-ยอล ของเกาหลีใต้กล่าวว่า กฎหมายในเกาหลีใต้มีผลต่อต้านการจัดหาอาวุธให้แก่ประเทศที่มีความขัดแย้ง ทำให้การจัดส่งอาวุธแก่ยูเครนเป็นเรื่องยาก
เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้ส่งคณะทูตไปยัง NATO เป็นครั้งแรก โดยให้คำมั่นว่าจะกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในเรื่องการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย การให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ และด้านความมั่นคงอื่น ๆ
ซึ่งผลจากการมาเยือนเกาหลีใต้และเรียกร้องให้ส่งอาวุธแก่ยูเครนของสโตลเทนเบิร์ก ทำให้ฝั่งเกาหลีเหนือประกาศว่า “การมาเยือนในครั้งนี้ เป็นการโหมโรงสู่การเผชิญหน้าในสงคราม ที่นำพาเมฆอันดำมืดของ ‘สงครามเย็นครั้งใหม่’ มาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP