นั่นทำให้ตอนนี้ชาติพันธมิตรของยูเครนต้องเร่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงรถถังประจัญบาน เข้าไปให้ยูเครนเพื่อใช้รับมือกับการบุกของรัสเซีย
โดยสหรัฐฯ จะส่งขีปนาวุธพิสัยไกลไปให้ยูเครน ทำให้รัสเซียออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างหนักและระบุว่านี่คือการยั่วยุ
ขณะที่สถานการณ์การสู้รบในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จุดที่ทั้งสองฝ่ายปะทะและมีการโจมตีเกิดขึ้นอย่างหนักคือ ทางภาคตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะเมื่อคืนที่ผ่านมารัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธโจมตีเมืองครามาทอร์สก์ ที่เป็นศูนย์กลางของการส่งกำลังบำรุงของยูเครน
สงครามยูเครน การต่อสู้ด้วยรถถังยุคเก่าในสนามรบยุคใหม่
ไรฮ์นเมทัลล์ เผย สามารถส่ง“รถถัง Leopard” ให้ยูเครนได้ถึง 139 คัน
สภาพอาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในเมืองครามาทอร์สก์ที่เสียหายอย่างหนัก หลังถูกขีปนาวุธของรัสเซียยิงถล่ม
เจ้าหน้าที่ทางการของยูเครนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 รายและบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 20 ราย
ขณะเดียวกัน หน่วยงานกู้ภัยของยูเครนยังคงค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามนำร่างของผู้เสียชีวิตออกจากซากปรักหักพังให้ได้ทั้งหมด
สาเหตุที่ครามาทอร์สกเป็นเป้าหมายสำคัญของการโจมตีในรอบนี้ เป็นเพราะว่าครามาทอร์สก์เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแคว้นโดเนตสก์ มีพื้นที่ประมาณ 117.1 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณเขตลาดกระบังของกรุงเทพมหานคร
ที่นี่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์สำหรับทั้งสองฝ่าย ในด้านเศรษฐกิจ ก่อนเกิดการรุกรานยูเครน ครามาทอร์สก์เคยเป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตอุปกรณ์ขุดเจาะเหมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแคว้นโดเนตสก์
ส่วนในด้านการทหาร ครามาทอร์สก์เป็นเมืองที่ยูเครนใช้ลำเลียงและขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้าต่าง ๆ ในภูมิภาคดอนบาส และเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศยูเครน
เมื่อหลายเดือนก่อน เมืองครามาทอร์สก์เป็นหนึ่งในเมืองที่ถูกรัสเซียโจมตีอย่างหนัก ก่อนที่ฝั่งรัสเซียจะชะลอการโจมตีไปในช่วงเดือนที่ 9
ของสงคราม อย่างไรก็ดี ทางการยูเครนรายงานว่ารัสเซียเริ่มกลับมาโจมตีเมืองนี้อย่างหนักอีกครั้งในช่วงปลายปีที่แล้ว
ขณะที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครนเปิดเผยว่า การโจมตีด้านตะวันออกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากคำสั่งของประธานาธิบดีปูติน ที่ตั้งเป้าหมายว่าต้องการยึดภูมิภาคดอนบาสให้ได้ ก่อนฤดูหนาวจะสิ้นสุดลงหรือภายในสิ้นเดือนนี้
ขณะที่ผู้นำยูเครนออกมายืนยันเรื่องนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยระบุว่าสถานการณ์ด้านตะวันออกมีความยากลำบากมากขึ้น หลังจากที่รัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีต่อเนื่อง ส่วนภาคพื้นดิน การต่อสู้ของทหารทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นไปอย่างดุเดือด
ประธานาธิบดีเซเลนสกีบอกว่า รัสเซียทำเช่นนี้เพราะต้องการยึดดอนบาสให้ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อเป็นผลงานไปประกาศต่อสาธารณชนว่า ปฏิบัติการพิเศษทางการสำเร็จหลังดำเนินการมานานเกือบ 1 ปี
การโจมตีภาคด้านตะวันออกอย่างหนักเกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า รัสเซียกำลังวางแผนบุกยูเครนครั้งใหญ่อีกรอบช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้พันธมิตรของยูเครนต้องเร่งเครื่องในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ยูเครนใช้รับมือกับรัสเซีย
โดยยุทโธปกรณ์ล่าสุดที่ยูเครนจะได้รับและเชื่อกันว่าจะช่วยให้ยูเครนพลิกเกมสงครามคือ รถถังประจัญบานหรือรถถังหลัก โดยเฉพาะเลพเพิร์ด 2 ซึ่งเป็นรถถังหลักสัญชาติเยอรมันที่ถูกประจำการมากกว่า 2,000 คัน ใน 13 ประเทศยุโร
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่สภาพความพร้อมของตัวรถถังในแต่ละประเทศนั้นมีไม่เท่ากัน และอาจทำให้รถถังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของยูเครนได้อย่างเพียงพอ
สังเกตได้จากที่เมื่อวานนี้ ( 1 ก.พ.) บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบคลังอาวุธ แถลงว่าบริษัทผู้ผลิตอาจต้องเร่งการผลิตรถถังให้เร็วขึ้น เพื่อให้ยูเครนมีรถถังเพียงพอตามที่ต้องการ
การขาดแคลนรถถังที่มีสภาพพร้อมใช้งาน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายกังวล เพราะถ้ามีรถถังไม่เพียงพอ ทางฝั่งยูเครนจะไม่สามารถเปลี่ยนดุลในสนามรบได้
อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีสัญญาณที่ดีว่าปัญหาดังกล่าวอาจแก้ไขได้ เมื่อเฟรดดี เวอร์สลู ประธานบริหารของ “โอไอพี แลนด์ ซิสเต็มส์ (OIP LAND SYSTEMS)” บริษัทยุทโธปกรณ์สัญชาติเบลเยียม เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีรถถังรุ่นเลพเพิร์ด 1 รุ่น A5 อยู่ในคลังกว่า 50 คันและพร้อมที่จะขายให้แก่ประเทศที่ต้องการ
เฟรดดี ระบุว่า ตอนนี้มีรัฐบาลจากหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน รวมถึงยูเครน ได้ติดต่อทางบริษัทเพื่อขอซื้อรถถังเหล่านี้
โดยบริษัทประเมินราคาขายไว้ที่ประมาณ 2-5 แสนยูโร หรือราว 7-18 ล้านต่อคัน ขึ้นอยู่กับสภาพของรถถังว่าต้องมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมส่วนใดเพิ่มเติมบ้าง
การเร่งผลิตและหารถถังจากแหล่งอื่น ๆ เป็นสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่า สงครามยูเครนอาจจะไม่ยุติในเร็ววัน และต่อจากนี้ประเทศในยุโรปจะเดินหน้าเพิ่มงบด้านกลาโหมให้กับประเทศของตนเองและยูเครน
อย่างไรก็ตาม รถถังประจัญบานเพียงอย่างเดียวยังไม่พอในการเอาชนะสงคราม ยูเครนจำเป็นต้องใช้เครื่องบินรบด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 วันที่ก่อน ประธานาธิบดีเซเลนสกีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของรัฐบาลยูเครน ออกมาเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรส่งเครื่องบินรบ โดยเฉพาะเครื่องบิน F-16 หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงท่าทีปฏิเสธ เนื่องจากกลัวว่าสงครามจะลุกลามบานปลาย
ล่าสุดวันนี้ มีความเห็นออกมาจากพันธมิตรคนสำคัญของยูเครน อย่างบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่า การให้เครื่องบินรบกับยูเครนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกับการให้รถถัง
ดังนั้นชาติตะวันตกไม่ควรประวิงเวลาและควรส่งเครื่องบินรบหรืออาวุธที่จำเป็นให้แก่ยูเคร เพื่อจบสงครามโดยเร็ว
นอกจากรถถังหลัก ยานยนต์หุ้มเกราะ และเครื่องบินรบ ตอนนี้สื่อตะวันตกบางสำนักรายงานว่าชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแผนที่จะส่งอาวุธประสิทธิภาพสูงอย่างขีปนาวุธพิสัยไกลไปให้แก่ยูเครน
วันนี้สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจส่งระเบิดนำวิถีขนาดเล็กชนิดจากพื้นสู่พื้น หรือ Ground Launched Small Diameter Bomb; GLSDB
โดยระเบิดนำวิถีดังกล่าวจะอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือทางการทหารครั้งใหม่ที่สหรัฐฯ จะมอบให้ยูเครน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 660,000 ล้านบาท
สำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า อาวุธชนิดนี้อาจเดินทางไปถึงยูเครนในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หรือในอีก 1-2 เดือนหลังจากนี้ ถ้าการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง นั่นหมายความว่า ทางยูเครนจะได้รับอาวุธที่มีพิสัยการโจมตีที่ไกลกว่าเดิมถึงเท่าตัว โดยอาวุธอย่างจรวดหลายลำกล้องนำวิถี (GMRLS) ที่ยูเครนใช้เพื่อโจมตีอยู่ในตอนนี้ มีพิสัยไกลสุดอยู่ที่ 77 กิโลเมตรเท่านั้น
แต่ระเบิดนำวิถีขนาดเล็กชนิดจากพื้นสู่พื้นมีพิสัยการโจมตีได้ไกลสุดที่ 151 กิโลเมตร ทำให้ยูเครนสามารถโจมตีเข้าถึงฐานที่มั่นของรัสเซียที่อยู่ไกลออกไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ อาวุธชนิดใหม่นี้สามารถติดตั้งระเบิด รวมถึงหลบสิ่งกีดขวางและระบบป้องกันภัยทางอากาศได้ ซึ่งแตกต่างจากปืนใหญ่ดั้งเดิม ที่เคลื่อนที่ด้วยแนวโค้งแบบพาราโบลาไปยังเป้าหมาย นอกจากสหรัฐฯ แล้ว อีกประเทศที่ส่งสัญญาณว่าอาจช่วยเหลือยูเครนคือ อิสราเอล
เมื่อวานนี้ สำนักข่าวเดอะเทเลกราฟของสหราชอาณาจักรรายงานว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เปิดเผยว่ากำลังพิจารณาเรื่องการส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ยูเครน และกำลังพิจารณาเรื่องการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้ทั้งสองฝ่ายในเวลาที่ “เหมาะสม”
โดยยุทโธปกรณ์ที่คาดว่าอิสราเอลจะส่งให้ยูเครนคือ ระบบไอรอนโดม ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลที่มีประสิทธิภาพสูงตัวหนึ่งของโลก
สาเหตุที่มีการคาดการณ์เช่นนี้เป็นเพราะ เมื่อวานนี้นักข่าวของ CNN ได้ถามผู้นำอิสราเอลว่าจะสามารถส่งระบบไอรอนโดมให้แก่ยูเครนได้หรือไม่ และนายกฯ เนทันยาฮู ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่”
หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวออกมา เมื่อวานนี้ มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ก็ได้ออกมาตอบโต้ทันที โดยระบุว่ารัสเซียจะทำลายอาวุธที่ถูกส่งมายังยูเครนทิ้งทั้งหมด และจะไม่พิจารณาว่าเป็นอาวุธของประเทศใด