โดยพื้นที่ที่รัสเซียต้องการครอบครองให้ได้ก่อนครบรอบ 1 ปีของสงครามคือ เมืองบัคมุตในแคว้นโดเนตสก์ ส่งผลให้การสู้รบในพื้นที่เป็นไปอย่างดุเดือด
วันนี้ 13 ก.พ. สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (ISW) รายงานว่า ในรอบ ทหารรัสเซียและยูเครนปะทะกันอยู่ถึง 7 จุดตลอดแนวพื้นที่ของภูมิภาคดอนบาส 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตามแผนที่ที่แสดงอยู่ตอนนี้
โดยจุดที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างหนักคือ เมืองบัคมุต ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นโดเนตสก์
"ยูเครน" เผย "รัสเซีย" เสียทหารวันเดียวนับพัน
รัสเซีย ไม่พอใจเยอรมนี ส่ง"รถถังเลพเพิร์ด 2" ให้ยูเครน
เมื่อวานนี้ นักข่าวของสำนักข่าวบีบีซีที่ลงพื้นที่แนวหน้าของแคว้นบัคมุตรายงานว่า การสู้รบในพื้นที่ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด เนื่องจากกองทัพรัสเซียพยายามตีวงล้อมยูเครนจากทางตอนเหนือของเมืองบัคมุต และระดมยิงปืนใหญ่โจมตีอย่างหนัก
ทหารในพื้นที่ได้เปิดเผยว่า ตอนนี้รัสเซียโจมตีเมืองบัคมุตอย่างหนักโดยไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร
ผลจากการโจมตีและต่อสู้กันอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย ทำให้การต่อสู้ในเมืองบัคมุตมีลักษณะเป็นสงครามซ้อนสงคราม (war within a war) ที่ทั้งสองฝ่ายแบ่งกำลังจากสงครามใหญ่มาสู้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อยึดครองพื้นที่ดังกล่าว โดยรัสเซียใช้ความพยายามมากว่า 6 เดือนแล้วเพื่อยึดเมืองแห่งนี้ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องต่อสู้กันอย่างหนัก เป็นเพราะเมืองบัคมุตป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากมีถนนที่สามารถเชื่อมไปได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือหรือทางตะวันตกของภูมิภาคดอนบาส
สำหรับฝั่งยูเครน การเสียเมืองบัคมุตจะทำให้ยูเครนสูญเสียเส้นทางในการขนส่งเสบียงให้กับทหารในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งส่งผลเสียต่อยูเครนอย่างมากหากต้องการทำสงครามยาว
ส่วนฝั่งรัสเซีย การครอบครองเมืองบัคมุตได้ จะสร้างหลักประกันว่ารัสเซียจะสามารถเคลื่อนทัพต่อไปยังเมืองต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น โดยรัสเซียจะสามารถมุ่งหน้าไปยังเมืองแฝดคู่สำคัญอย่างครามาทอร์สก์และสลาเวียนสก์ได้ และจะควบคุมแนวรบได้ง่ายขึ้น
แต่ที่มากกว่าการควบคุมแนวรบคือ การยึดครองเมืองบัคมุตจะทำให้รัสเซียมีผลงานเพื่อยืนยันต่อสาธารณชนว่า ปฏิบัติการพิเศษทางการทหารตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ศูนย์เปล่า และรัสเซียกำลังจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะเดียวกัน มิไคโล หัวหน้าหน่วยกองพันทหารราบยานยนต์ที่ 93 ของยูเครน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระบุว่า ทหารในพื้นที่เริ่มขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่เพื่อใช้โจมตีรัสเซีย ทำให้การต่อสู้ในพื้นที่เป็นการต่อสู้บนทรัพยากรที่มีจำกัด
นี่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ว่า กองทัพยูเครนจะต้องเผชิญกับ “วิกฤตกระสุนปืนใหญ่” ซึ่งเกิดจากการที่ชาติตะวันตกไม่สามารถสนับสนุนกระสุนให้ยูเครนได้อย่างเพียงพอ จนยูเครนเสียเปรียบในสนามรบ เนื่องจากตัวกระสุนเป็นรุ่นที่เก่าเกินไปจนผู้ผลิตเลิกผลิตไปแล้ว หรือผลิตล็อตใหม่ไม่ทัน
โดยสัญญาณการเสียเปรียบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.)หลังจากที่กลุ่มแวกเนอร์หรือกลุ่มนักรบรับจ้างของรัสเซีย ได้เผยภาพวิดีโอขณะที่ยืนอยู่หน้าป้ายที่เขียนว่า “คราสนา โฮรา” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของเมืองบัคมุต
เยฟเกนี ปริโกชิน มหาเศรษฐีชาวรัสเซียคนสนิทของประธานาธิบดีปูตินและผู้ก่อตั้งกลุ่มนักรบแวกเนอร์ระบุว่า กลุ่มแวกเนอร์สามารถยึดหมู่บ้านแห่งนี้ได้สำเร็จ พร้อมยืนยันว่ากลุ่มนักรบแวกเนอร์สามารถยึดพื้นที่รอบ ๆ เมืองบัคมุตได้แล้ว
จากสถานการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นในเมืองบัคมุต ทำให้ตอนนี้ความหวังของยูเครนอยู่ที่อาวุธและความช่วยเหลือชุดใหม่จากชาติตะวันตก ซึ่งจะมีตั้งแต่กระสุนปืนใหญ่ไปจนถึงรถถังหลัก ที่กำลังทยอยเดินทางมายังยูเครน
อย่างไรก็ดี อาวุธอีกชนิดหนึ่งที่เป็นความหวังของยูเครนคือเครื่องบินรบ ซึ่งผู้นำยูเครนได้เดินทางไปขอชาติพันธมิตรตะวันตกด้วยตนเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุดมีรายงานว่า สโลวาเกีย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรนาโตกำลังเริ่มการเจรจาเพื่อส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน
เมื่อศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสโลวาเกีย เปิดเผยว่ากำลังเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเพื่อส่งเครื่องบินรบขับไล่รุ่นมิโคยัน มิก-29 ให้แก่ยูเครน
โดยให้เหตุผลว่า กองทัพสโลวาเกียไม่ได้ใช้เครื่องบินเหล่านี้แล้ว และการส่งเครื่องบินเหล่านี้ไปจะทำให้สโลวาเกียได้เงินชดเชยจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยชาวยูเครนด้วย
ขณะเดียวกัน อันด์แชย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ หนึ่งในแกนนำหลักที่ต้องการส่งเครื่องบินรบไปยังยูเครน ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของบีบีซีเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไป
ประธานาธิบดีโปแลนด์ระบุว่า การส่งเครื่องบินรบตระกูล F-16 ไปยังยูเครน จะต้องเป็นการส่งแบบอาศัยความร่วมมือกับชาติพันธมิตร เช่นเดียวกับการส่งรถถังเท่านั้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา
โดยปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ ความสามารถในการบำรุงรักษาเครื่องบินของยูเครน รวมไปถึงจำนวนของเครื่องบินรบที่โปแลนด์มีในครอบครอง
หลังจากนั้น ผู้นำโปแลนด์ย้ำว่าการตัดสินใจเรื่องส่งเครื่องบินให้ยูเครนเป็นเรื่องที่สำคัญและยากมากในเวลาเดียวกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนตอนนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า ในอนาคตโปแลนด์และชาติบอลติกอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับยูเครน
นอกจากสถานการณ์ในยูเครนแล้ว ล่าสุดอีกประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ การพบกันระหว่างสองพันธมิตรของรัสเซียอย่าง อิหร่านและจีน ท่ามกลางสงครามยูเครนที่ดำเนินไปอย่างดุเดือดและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกับสหรัฐฯ ที่ตึงเครียด
ไออาร์เอ็นเอ (IRNA) สำนักข่าวของทางการอิหร่านรายงานว่า อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านจะเดินทางไปเยือนจีนในช่วงเย็นวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น และจะเข้าพบกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนในวันพรุ่งนี้
โดยวาระหลักในการเดินทางไปพบกันครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากสื่อของอิหร่านรายงานว่า ผู้นำอิหร่านจะลงนามเอกสารความร่วมมือหลายฉบับกับจีน และเข้าพบกับนักธุรกิจแถวหน้าของอิหร่านที่อยู่ในจีน
การพบกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ทั้งสองพบกันเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วที่นครซามาร์คันต์ ประเทศอุซเบกิสถาน
หลายฝ่ายมองว่าการไปเป็นเยือนของผู้นำอิหร่านในครั้งนี้เป็นไปเพื่อต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น ท่ามกลางการถูกคว่ำบาตรของอิหร่านจากการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์