นอกจากจะไม่เห็นหนทางในการที่คู่สงครามอย่างยูเครนและรัสเซียจะเจรจาสันติภาพกันแล้ว ยังมีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ว่ากองทัพรัสเซียจะยกพลครั้งใหญ่เพื่อบุกยูเครนอีกครั้ง หลังจากในปีที่ผ่านมารัสเซียพ่ายแพ้ในหลายสนามรบ
นี่เป็นเหตุผลให้ชาติตะวันตกต้องเร่งส่งยุทโธปกรณ์หนักให้ยูเครน และวันนี้คาดว่าสหรัฐฯ จะประกาศส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน
ประธานาธิบดีปูตินออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก โดยระบุว่าชาติตะวันตกกำลังรุมขยี้รัสเซีย และสงครามต่อจากนี้จะเป็นสงครามแบบใหม่ที่ชาติตะวันตกไม่เคยคาดคิด
วิเคราะห์สาเหตุ เยอรมนีไม่ส่ง “รถถังเลพเพิร์ด 2” ช่วยยูเครน รบสงคราม
สหรัฐฯ ยันเตรียมฝึกทหารยูเครนใช้รถถัง ก่อนศึกรอบใหม่
เมื่อวานนี้ 2 ก.พ. ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ปรากฎตัวที่เมืองวอลโกกราด เพื่อร่วมในงานวันครอบรอบ 80 ปีที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียต ประกาศชัยชนะเหนือกองทัพนาซีเยอรมนีในสมรภูมิสตาลินกราด
สงครามสตาลินกราดเป็นสงครามที่ดุเดือดและรุนแรงที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากการที่กองทัพนาซีเยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียต เพื่อจะยึดครองเมืองสตาลินกราด ทางด้านตะวันออกของรัสเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อปัจจุบันว่า วอลโกกราด
รัสเซียและเยอรมนีต่อสู้กันอย่างดุเดือดเป็นเวลา 5 เดือนเต็ม ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารไปราว 2-3 ล้านคน ก่อนจะจบลงด้วยชัยชนะของสหภาพโซเวียตและเป็นจุดเริ่มต้นความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในยุโรป
เมื่อเดินทางไปถึง ประธานาธิบดีปูตินวางพวงมาลาสดุดีทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ก่อนจะขึ้นกล่าวปราศรัยว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังเผชิญกับการคุกคามจากแนวคิดนาซีอีกครั้ง นั่นคือการรวมตัวกันของชาติตะวันตกเพื่อทำลายรัสเซีย โดยเฉพาะเยอรมนีที่ส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้กับยูเครน
นี่ถือเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวและไม่พอใจอย่างหนัก หลังจากที่ชาติตะวันตกส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้ยูเครน โดยผู้นำรัสเซียมีพูดการเฉพาะเจาะจงไปที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเคยเป็นคู่กรณีของรัสเซียในช่วยสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตัดสินใจส่งเลพเพิร์ด 2 ซึ่งเป็นรถถังหลักของกองทัพเยอรมนีให้กับยูเครน หลังจากถูกกดดันจากชาติพันธมิตรด้วยกันเองอย่างหนัก
การตัดสินใจส่งรถถังให้ยูเครนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทหารที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยผู้นำเยอรมนีอธิบายต่อสภาว่า ขณะนี้สงครามกำลังเกิดขึ้นในยุโรป และนี่เป็นหน้าที่ของเยอรมนีในการที่จะช่วยยุติสงคราม
รถถังเลพเพิร์ด 2 ถือเป็นหนึ่งในรถถังประจัญบานที่ดีที่สุดตัวหนึ่งของโลกและคาดว่าอาจเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้
ตัวรถถังรุ่นนี้มีอาวุธหลักที่มีอานุภาพสูงอย่าง ปืนรถถังเรียบรุ่นไรน์เมทาล 120 มม. จำนวนหนึ่งกระบอก สามารถยิงได้ 42 นัด ส่วนอาวุธรองจะเป็นปืนกลจำนวน 2 กระบอกยิงได้ราว 4,750 นัด
ขณะที่ระบบควบคุมภายใน ถูกออกแบบและพัฒนามาให้รองรับการโจมตีที่แม่นยำมากขึ้น แม้ตัวรถจะเคลื่อนที่อยู่
ส่วนตัวของรถถังเลพเพิร์ด 2 หุ้มด้วยเกราะคอมโพสิตรุ่นที่ 3 ที่มีเหล็กทนแรงดึงสูง ทังสเตนและพลาสติกผสมเซรามิก ทำให้ตัวรถมีความทนทานสามารถป้องกันกำลังพลรบจากอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพและกัมมันตรังสีจากนิวเคลียร์ได้
ทางฝั่งยูเครนนั้นได้ขอรถถังรุ่นนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม แต่ทางเยอรมนีลังเลมาตลอด เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนและรุนแรงขึ้น หลังจากได้รถถังเลพเพิร์ด 2 แล้ว ในวันนี้มีสัญญาณว่ายูเครนกำลังจะได้ยุทโธปกรณ์ที่ร้องขอมานานอย่าง ขีปนาวุธพิสัยไกล อีกตัวด้วย
สำนักข่าวเคียฟอินดิเพนเดนท์ (Kyiv Independent) ของยูเครนรายงานโดยอ้างอิงหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ของอังกฤษว่า สหรัฐฯ อาจจะประกาศความช่วยเหลือด้านอาวุธรอบใหม่ให้กับยูเครนในวันนี้ และคาดว่าจะมีขีปนาวุธพิสัยไกลรวมอยู่ในความช่วยเหลือชุดดังกล่าวด้วย
ขีปนาวุธพิสัยไกลที่ว่าคือ Ground Launched Small Diameter Bomb / GLSDB หรือระเบิดนำวิถีขนาดเล็กที่ยิงจากภาคพื้นดิน ที่มีระยะยิงได้ไกลถึง 150 กิโลเมตร ซึ่งเป็นวิถีของขีปนาวุธที่ไกลที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยส่งให้กับยูเครนนับตั้งแต่เกิดสงคราม
ขีปนาวุธพิสัยไกลเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่สหรัฐฯ และพันธมิตรมีความระมัดระวังในการจัดส่งให้กับยูเครนมาก เนื่องจากเกรงว่าถ้าวิถีไกลเกินไปอาจทำให้ยูเครนให้ยิงเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย จนสงครามลุกลามบานปลายได้
ทำให้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ส่งเครื่องยิงขีปนาวุธหลายลำกล้องรุ่นไฮมาร์ส (HIMARS) ให้กับยูเครน โดยไฮมาร์สสามารถยิงขีปนาวุธไปได้ไกลสูงสุด 300 กิโลเมตร แต่สหรัฐฯได้ปรับชนิดกระสุนใหม่ให้ยิงได้ไกลเพียง 80 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการยิงเข้าไปยังแผ่นดินรัสเซีย
การตัดสินใจส่งขีปนาวุธ GLSDB ซึ่งยิงได้ไกลถึง 150 กิโลเมตร ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ชี้ว่า สหรัฐฯ ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะยกทัพใหญ่บุกยูเครนอีกในเร็วๆ นี้
การได้ทั้งรถถังประจัญบานและขีปนาวุธพิสัยไกล คือการติดเขี้ยวเล็บครั้งสำคัญให้กับกองทัพยูเครน เพราะสงครามในครั้งนี้เป็นการสู้ในพื้นที่เปิดโล่งและสู้กันระยะประชิด
โดยรถถังเลพเพิร์ด 2 จะทำหน้าที่รับมือหรือทะลุทะลวงแนวต้านของทหารรัสเซีย ส่วนระเบิดนำวิถีขนาดเล็กชนิดจากพื้นสู่พื้นที่สหรัฐฯ จะประกาศมอบให้ยูเครนวันนี้คือ สิ่งที่จะทำให้ยูเครนใช้ทำลายฐานยิงขีปนาวุธของรัสเซียที่โจมตีจากระยะไกล
ยุทธวิธีดังกล่าวคือสิ่งที่จะทำให้กำลังภาคพื้นดินของยูเครนแข็งแกร่งมากขึ้น หากเทียบกับเมื่อตอนที่รัสเซียบุกยูเครนครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
จนถึงตอนนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าอาวุธที่ชาติตะวันตกส่งไปให้ยูเครน จะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรับมือกับกองทัพรัสเซียได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่ารัสเซียจะรบด้วยกลยุทธ์ใดหลังจากนี้
หากย้อนกลับไปดูการรุกรานยูเครนครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัสเซียใช้กำลังทหารกว่า 190,000 นาย บุกเข้ายูเครนจาก 3 ทาง คือ ทางเหนือ ทางตะวันออก และทางใต้ โดยพลรบภาคพื้นดินเหล่านี้มาพร้องกับรถถังและปืนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีการโจมตีทางอากาศไปที่โครงสร้างทางการทหารของยูเครนเพื่อตัดกำลัง
อย่างไรก็ดี แผนการณ์ดังกล่าวล้มเหลว โดยเฉพาะการรบภาคพื้นดิน รถถังจำนวนมากของรัสเซียถูกทำลายและทิ้งไว้ตามถนนของยูเครน
ภาพของขบวนรถถังยาว 64 กิโลเมตรที่มาจากทางเหนือเพื่อเข้ายึดยูเครน อย่างไรก็ดี รถถังจอดนิ่งอยู่ตรงนั้นหลายวันเพราะไม่มีเสบียงและน้ำมัน ก่อนจะถูกยูเครนถล่มด้วยขีปนาวุธต่อต้านรถถัง และในท้ายที่สุดรัสเซียต้องล่าถอยและเปลี่ยนยุทธวิถีการรบ เพื่อยึดพื้นที่ตะวันออกและทางใต้แทน นี่ทำให้โจทย์ใหญ่ในปีนี้คือ รัสเซียจะเปิดศึกเต็มอัตราอีกครั้งตามที่ชาติพันธมิตรของยูเครนคาดการณ์ไว้หรือไม่ และจะใช้ยุทธวิธีใด
สำหรับประเด็นนี้ หลายฝ่ายมองว่าประธานาธิบดีปูตินได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วเมื่อวานนี้ในงานรำลึกชัยชนะ 80 ปีของโซเวียตในสมรภูมิสตาลินกราด โดยประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า ชาติตะวันตกกำลังเข้าใจผิดว่าอาวุธที่ส่งไปจะทำให้ยูเครนชนะสงครามได้ เพราะสงครามสมัยใหม่ของรัสเซียจะไม่ใช้แค่รถถังเท่านั้น
หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า ผู้นำรัสเซียกำลังบอกเป็นนัยๆ ว่ารัสเซียอาจใช้เครื่องบินรบสมัยใหม่เข้าโจมตียูเครนหรือไม่ เพราะหากรัสเซียทำเช่นนั้นจริง ยูเครนจะเสียเปรียบอย่างมาก
เนื่องจากยูเครนมีระบบป้องกันภัยทางอากาศไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่เครื่องบินรบขับไล่ของยูเครนก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอและยังไม่ได้รับการยืนยันจากชาติตะวันตกว่าจะส่งเครื่องบินรบรุ่นใหม่ให้ อย่างไรก็ตาม มีท่าทีที่น่าสนใจออกมาจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพันธมิตรรายใหญ่อีกรายของยูเครน
เมื่อวานนี้ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาแถลงว่า ทางสหราชอาณาจักรยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนออกไป โดยจะพิจารณาเรื่องการส่งให้ตามความเหมาะสม