รถถัง “Leopard 2” กับการเดิมพันอนาคตของสงครามยูเครน
พันธมิตรชาติตะวันตกรวมพลังส่ง "รถถัง" ช่วยยูเครน
ชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีหลายร้อยคนออกมาประท้วงในกรุงเบอร์ลิน ในระหว่างที่รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของ “Ukraine Contact Group” กำลังมีการประชุมกันที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี โดยหลายคนตะโกนคำว่า “น่าอาย น่าอาย” หนึ่งในผู้ประท้วง เปิดเผยว่า สาเหตุที่ออกมาประท้วง เพราะผิดหวังที่ยูเครนไม่ได้รับยุทโธปกรณ์ที่ต้องได้เพื่อขับไล่รัสเซีย โดยเฉพาะรถถัง
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา การประชุมของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงจาก 50 ชาติ ที่เป็นพันธมิตรยูเครนในนามของกลุ่มที่เรียกว่า “Ukraine Contact Group” ซึ่งเป็นหน่วยระดมอาวุธยุทธโธปกรณ์รวมถึงความจำเป็นด้านกลาโหมอื่น ๆ เพื่อส่งไปช่วยเหลือยูเครน ซึ่งวาระสำคัญที่สุดของการประชุมฃ นคือ เยอรมนีจะส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้กับยูเครนหรือไม่ หลังจากมีรายงานว่ารัสเซียกำลังรวบรวมกำลังพลและอาวุธครั้งใหม่ เพื่อกลับมาโจมตียูเครนครั้งใหญ่
รถถัง “เลพเพิร์ด 2” อาวุธแห่งความหวังของยูเครน
สาเหตุที่ยูเครนต้องการรถถังเลพเพิร์ด 2 คือ สงครามขณะนี้ดำเนินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เมื่อมีรายงานว่ารัสเซียกำลังระดมกำลังและสรรพาวุธครั้งใหญ่เพื่อกลับมาโจมตียูเครน ทำให้ยูเครนต้องการยุทธโธปกรณ์หลัก เพื่อให้ในการรับมือ โดยยุทธโธปกรณ์หลักที่ยูเครนต้องการคือ รถถัง
ขณะนี้รถถังที่ยูเครนเป็นรถถังรุ่นเก่าที่ผลิตตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ซึ่งมีข้อจำกัดสูงไม่เหมาะกับลักษณะของสงครามในยูเครนซึ่งเป็นแบบ close combat หรือการต่อสู้กันแบบซึ่งหน้าในพื้นที่เปิดโล่ง ดังนั้นยูเครนจึงต้องการรถถังที่ทันสมัยมากขึ้น
สำหรับ เลพเพิร์ด 2 เป็นรถถังต่อสู้หลักที่ถูกพัฒนาและผลิตโดยบริษัทของเยอรมนีตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1970 และถูกนำมาประจำการครั้งแรกในปี 1979 ตัวรถถังสามารถติดอาวุธหลักและอาวุธรองได้ โดยตัวอาวุธหลักจะเป็นปืนรถถังเรียบรุ่นไรน์เมทาล 120 มิลลิเมตร จำนวนหนึ่งกระบอก สามารถยิงได้ 42 นัด ส่วนอาวุธรองจะเป็นปืนกลจำนวน 2 กระบอกยิงได้ราว 4,750 นัด
ภายในตัวรถเป็นระบบดิจิตอล มีอุปกรณ์มากมายที่ทำให้การโจมตีมีความแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องหักเหลำแสง เรดาร์ และระบบ GPS โดยถึงแม้ตัวรถถังจะมีน้ำหนักถึง 74 ตัน แต่มีความคล่องตัวสูง เคลื่อนที่ได้เร็ว ซึ่งทำให้เลพเพิร์ด 2 กลายเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพในการโจมตีศัตรูลำดับต้น ๆ ของโลก อีกสิ่งที่
รถถังรุ่นนี้มีคือ ความปลอดภัย ตัวรถของเลพเพิร์ด 2 หุ้มด้วยเกราะคอมโพสิตรุ่นที่ 3 ที่มีเหล็กทนแรงดึงสูง ( high-hardness steel) จากทังสเตนและพลาสติกผสมเซรามิก ทำให้ตัวรถมีความทนทานสามารถป้องกันกำลังพลรถจากอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพและกัมมันรังสีจากนิวเคลียร์ได้ ซึ่งเป็นประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเลพเพิร์ด 2 ทำให้ยูเครนต้องการรถถังรุ่นนี้มาก
ขณะที่รถถังในระดับเดียวกับเลพเพิร์ด 2 มีอยู่จำนวนหลายรุ่น เช่น เอ็มวัน อับบรามส์ของสหรัฐอเมริกา แต่ที่ต้องเป็นเลพเพิร์ด 2 ก็เพราะเป็นรถถังรุ่นใหม่ที่มีการผลิตออกมาใช้มากที่สุดคือ 2,000 คัน และมีการคำนวนว่าหากยูเครนต้องการพลิกกลับมาเอาชนะหรือได้เปรียบรัสเซีย จำเป็นต้องมีรถถังสมัยใหม่อย่างน้อย 300 คัน ซึ่งมีเฉพาะเลพเพิร์ด 2 เท่านั้น ที่ปัจจุบันมีประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจากนี้การที่รถถังเลพเพิร์ด 2 ส่วนใหญ่ประจำการอยู่ในชาติยุโรป จะทำให้ลดความยุ่งยากและเวลาในการขนส่งเข้าไปในยูเครน
นาโต ชี้ เยอรมนีมีสิทธิ์ตัดสินใจไม่อนุมัติส่งรถถัง
ก่อนหน้าก่อนประชุมจะเริ่มขึ้น หลายชาติออกมากดดันเยอรมนีอย่างหนัก โดยเฉพาะโปแลนด์ซึ่งมีชายแดนติดกับยูเครน โดยมาแตร์อุซ มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้นว่า ถ้าเยอรมนีไม่ตัดสินใจ โปแลนด์อาจส่งรถถังนี้ไปให้ยูเครนเองโดยไม่ต้องรอใบอนุญาตจากเยอรมนีในฐานะผู้ผลิตตามขั้นตอนของกฎหมาย
ทั้งนี้โปแลนด์คือ 1 ในชาติที่มีรถถังในตระกูลเลพเพิร์ดในประจำการ โดยมีอยู่ทั้งหมด 240 คัน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ประกาศยกให้ยูเครน 14 คันแต่ยังไม่สามารถส่งไปได้เนื่องจากไม่ได้รับใบอนุญาตจากเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตถึงแม้จะมีแรงกดดันจากโปแลนด์และอีกหลายชาติในยุโรป แต่การกดดันไม่ได้ผล หลังถกกันนานหลายชั่วโมง มีรายงานว่า เยอรมนีตัดสินใจที่จะยังไม่ส่งรถถังเลพเพิร์ดให้กับยูเครน
หลังการประชุม พล.ร.อ ร๊อบ เบาเออร์ ประธานคณะเสนาธิการทหารองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ออกมาแถลงว่า นี่เป็นการตัดสินใจในทางการเมืองของเยอรมนี ซึ่งมีสิทธิ์ในฐานะชาติที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง
“เซเลนสกี” ลั่นไม่ละความพยายามขอสนับสนุนรถถังจากชาติพันธมิตร
การตัดสินใจของเยอรมนีสร้างความผิดหวังให้กับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน โดยได้เปิดแถลงข่าวหลังทราบผลการประชุมว่า ยูเครนจะไม่ลดละความพยายามในการโน้มน้าวชาติพันธมิตรในการได้รับรถถังสมัยใหม่เพื่อใช้ในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย
นักวิเคราะห์ประเมินว่า สาเหตุที่เยอรมนีไม่ต้องการส่งรถถังรุ่นดังกล่าวไปยังยูเครนเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ
- ไม่ต้องการถูกดึงเข้าไปร่วมสงคราม เนื่องจากเยอรมนียังคงมีบาดแผลในใจเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้จุดชนวน
- เยอรมนีไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากยังเชื่อว่าพอเจราจากันได้
- ไม่ต้องการให้เทคโนโลยีของรถถังที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกตกไปอยู่ในมือของฝั่งรัสเซีย เนื่องจากถ้ายูเครนจำเป็นต้องสละรถถังเพราะพ่ายแพ้รัสเซีย รัสเซียอาจใช้โอกาสนี้ในการศึกษาวิทยาการของเยอรมนีจากซากรถถังดังกล่าว