"สี จิ้นผิง"เส้นทางกระชับอำนาจสู่ว่าที่ผู้นำสมัยที่3

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สิ่งที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมพรรคสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งนี้ก็คือการเลือกประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งอดีตประธานาธิบดี ‘เจียง เจ๋อหมิน’ และ ‘หู จิ่นเทา’ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนหน้าสี จิ้นผิง ล้วนลงจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค หลังอยู่ครบวาระ 2 สมัย

ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมีกฎอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกกันว่า “Seven up, Eight down” นั่นคือหากอายุ 67 ปี หรือน้อยกว่านั้นจะสามารถได้รับเลื่อนหรือยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้นำระดับสูงสุดได้ แต่ถ้าอายุ 68 ปี ขึ้นไปของช่วงการประชุมใหญ่พรรค จะต้องเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้นำระดับสูง

แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อายุ 69 ปีแล้ว และกำลังจะกลายเป็นผู้นำพรรคสมัยที่ 3 นี่จึงหมายความว่าเขาเป็นข้อยกเว้นของแนวปฏิบัติทั้งปวง

"สี จิ้นผิง" เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ไต้หวันกร้าว "ป้องอธิปไตย" ตอบโต้สุนทรพจน์ "สี จิ้นผิง"

เมื่อรวมกับเส้นทางกระชับอำนาจที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า สี จิ้นผิง คือผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนนับตั้งแต่ ‘เหมา เจ๋อตง’ เป็นต้นมา และอาจนำพาจีนกลับสู่ยุคของ ‘One-man rule’ หรือ ผู้นำคนเดียวมีอำนาจปกครองเด็ดขาดอีกครั้ง

ถ้อยแถลงเมื่อปี 2012 ของ ‘สีจิ้ผิง’ หลังได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ องค์กรที่ทรงอำนาจสูงสุดของจีน โดยรับไม้ต่อจากประธานาธิบดีหู จิ่นเทา

คำสัญญาถึงการปฏิรูปและเปิดกว้าง ตลอดจนภูมิหลังครอบครัวของเขาทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองจีนจำนวนไม่น้อยหวังว่า สีจิ้นผิงจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดเสรีนิยมมากที่สุด

แต่ 10 ปีให้หลัง ปัญหาการจำกัดเสรีภาพของประชาชน ปราบปรามผู้เห็นต่างที่ปรากฏออกมาต่อเนื่อง สะท้อนชัดว่าความหวังว่าการขึ้นสู่อำนาจของสี จิ้งผิง จะทำให้สังคมจีนมีเสรีภาพมากขึ้นนั้นนั้นไม่เป็นจริง

กลับกันเขาคือผู้นำที่พยายามกุมอำนาจเด็ดขาด ทั้งอำนาจเหนือพรรคคอมมิวนิสต์และชีวิตประชาชน 

ในช่วงขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน หากถามคนทั่วไปว่าสีจิ้นผิงคือใคร ก็อาจได้คำตอบว่าเขาคือสามีของ ‘เผิงลี่หยวน’ นักร้องชื่อดังที่มักปรากฏตัวผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนเพื่อร้องเพลงปลุกใจรักชาติ

แต่ความจริงแล้ว ชีวิตของสี จิ้นผิง ผูกพันกับการเมืองจีนมาอย่างยาวนาน ‘สี จงชุน’ บิดาของเขาคืออดีตรองนายกรัฐมนตรีและเคยเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สี จิ้นผิง ในวัยเด็กจึงเติบโตมาในแบบที่เรียกกันว่า  “เจ้าชายน้อย” ซึ่งหมายถึงลูกหลานของผู้นำระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์

แต่ชะตาของเจ้าชายน้อยกลับพลิกผันเมื่อพ่อของเขาถูกจำคุกเมื่อปี 1962 ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากความพยายามกำจัดคู่แข่งภายในพรรคของ ‘เหมา เจ๋อตง’ ผู้นำประเทศในเวลานั้น 

ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เริ่มต้นเมื่อปี 1966 คนนับล้านถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของวัฒนธรรมจีน และนำมาสู่การนองเลือดจากความรุนแรงของคนหนุ่มสาวที่บูชาประธานเหมา ครอบครัวของสีจิ้นผิงก็ได้รับผลกระทบหนักด้วย

สี จิ้นผิงในวัย 15 ปี ต้องออกจากโรงเรียนชั้นนำในกรุงปักกิ่งและถูกส่งไปยังชนบทห่างไกลเพื่อปรับทัศนคติ และใช้แรงงานหนักเป็นเวลานานถึง 7 ปี

เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1992 ว่า การเข้ารับการกล่อมเกลาใหม่ ที่รวมถึงถูกบังคับให้ประณามพ่อตัวเองนั้น กลับเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้ทำให้เขาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ตรงกันข้าม เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของพรรค โดยพยายามเข้าร่วมกับพรรคหลายครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธจากสถานะของบิดา

จนกระทั่งปี 1974 สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมพรรคในที่สุด โดยเริ่มจากเป็นหัวหน้าพรรคในระดับหมู่บ้านในมณฑลเหอเป่ย ก่อนจะค่อยๆ ไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้นในหลายทศวรรษหลังจากนั้น และขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2012 ก่อนได้รับเลือกจากสภาประชาชนแห่งชาติจีนเป็นประธานาธิบดีในปีต่อมา

ในช่วงเวลาที่สี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจสูงสุด การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมจีนและทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างหนัก จนการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 

ประกอบปัจจัยภายนอกอย่างคลื่นปฏิวัติอาหรับสปริงในตะวันออกกลางที่ประชาชนออกมาโค่นล้มผู้นำอำนาจนิยมจนเป็นความหวังให้หลายประเทศทั่วโลกใฝ่ฝันถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นี่เป็นบทเรียนที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าการแก้ปัญหาทุจริตและดึงสังคมให้กลับสู่เสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพรรคด้วย

การปราบปรามคอร์รัปชันจึงกลายเป็นภารกิจที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้ความสำคัญ เป็นอันดับแรก โดยบอกว่าไม่ว่าจะเป็น “เสือ” หรือ “แมลงวัน” ก็จะต้องถูกจัดการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือระดับล่าง หากคอร์รัปชันก็ต้องถูดจัดการ

ในนามของการปราบปรามทุจริตและฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อพรรค ตลอด 10 ปี ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง มีเจ้าหน้าที่ถูกสอบสวนไปแล้วประมาณ 4 ล้าน 7 แสนคน และมีหลายคนที่ถูกลงโทษหนัก ซึ่งมีคู่แข่งทางการเมืองของสี จิ้นผิงรวมอยู่ด้วย

หนึ่งในนั้นคือ ‘ป๋อ ซีไหล’ อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาฉงชิ่งผู้โด่งดัง  ป๋อ ซีไหลคือดาวรุ่งทางการเมือง เป็นคู่แข่งคนสำคัญของสีจิ้นผิง

เขาถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2013 จากข้อหาทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบ หลังถูกขับออกจากพรรคไปเมือปี 2012 ไม่กี่เดือนก่อนสี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจ ความเห็นต่างๆ ที่วิจารณ์ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังถูกลบจากอินเทอร์เน็ต

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงตลอด 1 ทศวรรษของผู้นำประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปลี่ยนแนวทางบริหารพรรคจากระบบผู้นำรวมหมู่ แบ่งปันอำนาจร่วมกันในพรรคมาเป็นแบบรวมศูนย์

สถานะของสี จิ้นผิงในเวลานี้ คือ “ผู้นำแกนหลัก” หรือ Core Leader  ของพรรค เทียบเท่ากับเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำในยุคการปฏิรูป

ภายใต้การนำของสี จิ้งผิง มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และการดำเนินนโยบายค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงที่ โดยสหประชาชาติเพิ่งชี้ว่านี่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

การกวาดล้างผู้ประท้วงและสื่อที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง และท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไต้หวัน มีการประกาศว่าการรวมชาติต้องเกิดขั้นอย่างแน่นอนแม้ว่าจะต้องใช้กำลังทางทหาร

หนึ่งในนักวิเคราะห์การเมืองจีนมองว่า ท่าทีต่อไต้หวันนอกจากเป็นไปเพื่อป้องกันสิ่งที่จีนมองว่าเป็น “การแบ่งแยกดินแดน” แล้ว ยังคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอง

คาดการณ์กันว่าในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 จะมีการรับรองสี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคสมัย 3 และน่าจะได้การรับรองให้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในการประชุมสภาประชาชนปีหน้า และหากต้องการ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง อาจอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีไปตลอดชีพ หลังเมื่อปี 2018 ได้มีการลบข้อจำกัดทางกฎหมายที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ หรือ 10 ปีออกไป

และถึงแม้ไม่มีกฎเป็นลายลักษณ์อักษร แต่โดยปกติผู้ที่อายุ 68 ปีขึ้นไปในช่วงการประชุมใหญ่ จะต้องลงจากตำแหน่งระดับสูงสุดของพรรค

แต่ตอนนี้ สี จิ้นผิง อายุ 69 ปีแล้ว การเป็นเลขาธิการพรรคสมัยที่ 3 ย่อมหมายความว่าเขาคือข้อยกเว้น

นี่จะถือได้ว่าเป็นการลบล้างระบบที่เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นสองของพรรคพยายามวางไว้ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้นำแดนมังกรเป็นไปอย่างราบรื่นสันติ และป้องกันการสะสมอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้นำคนเดียว ที่ทำให้เกิดหายนะมากมายดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคประธานเหมา 

การทำลายมรดกของเติ้ง เสี่ยวผิง ทั้งการถ่ายโอนอำนาจในฐานะผู้นำประเทศ หรือการปรับเปลี่ยนระบบผู้นำรวมหมู่มาสู่การกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ภายใต้การปกครองของสี จิ้นผิงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และต่อไปหลังจากนี้ จึงไม่ต่างจากการนำพาจีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกกลับสู่ยุค One-man rule  หรือผู้นำคนเดียวมีอำนาจปกครองเด็ดขาดอีกครั้ง 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ