โดยการฝึกซ้อมทหารยูเครนให้ใช้รถถังสมัยใหม่เหล่านี้กำลังจะเริ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการส่งมอบรถถังเข้าสู่สนามรบ เพื่อใช้ในการรับมือกับการรุกครั้งใหญ่ของรัสเซียที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรืออีก 2 เดือนหลังจากนี้
นอกจากการรับมือแล้ว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารถถังเลพเพิร์ด 2 รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อีกจำนวนมากที่ยูเครนได้รับจากชาติตะวันตก อาจเพียงพอทำให้ยูเครนยึดพื้นที่และขับไล่ทหารรัสเซียออกจากยูเครนได้ทั้งหมด
เทียบสเปกรถถัง “Leopard 2” กับ “M1 Abrams” เยอรมัน-สหรัฐส่งให้ยูเครน
สหรัฐฯ เอาด้วย! เตรียมส่งรถถัง M1 Abrams ให้ยูเครน 30 คัน
เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศการส่งมอบรถถังเอ็มวัน เอบรามส์จำนวน 31 คันให้กับยูเครนนี่ถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญของฝั่งสหรัฐฯ เพราะในฐานะผู้สนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ที่สุดของยูเครน สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการส่งมอบรถถังหลักให้กับยูเครนมาโดยตลอด
โดยเหตุผลแรกคือ สหรัฐฯ ไม่ต้องการยกระดับของสงคราม ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ รถถังเอบรามส์ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับสงครามในยูเครน เพราะเทคโนโลยีของเครื่องยนต์มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์เป็นแบบเดียวกับเครื่องบินเจ็ท ทหารต้องอาศัยประสบการณ์ รวมถึงการฝึกเฉพาะในการควบคุม
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เลือกที่จะเปลี่ยนท่าทีและยอมส่งรถถังเอบรามส์ให้ยูเครนพร้อมๆ กับวันที่ชาติพันธมิตรอื่นๆ ในยุโรปประกาศส่งรถถังหลักเลพเพิร์ด 2
ในการแถลงข่าว ประธานาธิบดีไบเดนอธิบายถึงการเปลี่ยนท่าทีและยอมส่งเอบรามส์ให้กับยูเครน
โดยบอกว่า เป็นไปเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับยุโรปและเยอรมนี รวมถึงเพื่อแสดงให้ปูตินเห็นว่า เขาคิดผิดที่ว่าสงครามจะทำให้ยุโรปและสหรัฐฯ ลดความมุ่งมั่นในการสนับสนุนยูเครนลงได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ พูดในระหว่างแถลงข่าวคือ การส่งรถถังหลักเอบรามส์ ไปให้ยูเครนก็เพื่อใช้ในการปกป้องแผ่นดินตนเองเท่านั้น
การพูดเช่นนี้ของผู้นำสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์ว่าอาจถูกยกระดับกลายเป็นสงครามโลก
สิ่งที่สหรัฐฯ และพันธมิตรต้องระมัดระวังอย่างสูง คือ ต้องจำกัดวงของสงครามครั้งนี้ให้เป็นเพียงเพื่อการป้องกันเขตแดนของยูเครน ไม่ใช่เป็นสงครามที่รุกคืบเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย
หลังจากการประกาศของผู้นำสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้แถลงว่า สหรัฐฯ จะทำการฝึกทหารยูเครนให้ใช้รถถังหลักรุ่นดังกล่าวในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่รัสเซียจะเปิดศึกเต็มอัตราในอีก 1-2 เดือน หลังจากนี้
การออกมาประกาศส่งรถถังหลักของสหรัฐฯ เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศส่งเลพเพิร์ด 2 ซึ่งเป็นรถถังหลักของกองทัพเยอรมนีให้กับยูเครน
นี่คือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศและการทหารที่สำคัญที่สุดของนับตั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่เยอรมนีไม่เข้าร่วมในปฎิบัติการทางการทหารใดๆ ยกเว้นเป็นภารกิจเพื่อการรักษาสันติภาพ เช่น การส่งทหารไปร่วมกับภารกิจนาโตเพื่อช่วยยูโกสลาเวีย รบกับเซอร์เบียในช่วงทศวรรษ 1990 หรือการส่งทหารไปรักษาสันติภาพในภารกิจการรักษาเสถียรภาพประเทศมาลีขององค์การสหประชาชาติ
แนวทางการดำเนินโยบายเช่นนี้ เป็นผลมาจากความโหดเหี้ยมของของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้านคน และเยอรมนีต้องการจะลบภาพความทรงจำที่เลวร้ายเหล่านั้นทิ้งไป
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเป็นต้นมา เยอรมนีพยายามวางสถานะของตนเองให้เป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม และพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูตและการเจรจา
ส่วนเรื่องการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เยอรมนีก็ได้ออกกฎหมายที่จริงจังและเด็ดขาด เพื่อให้มั่นใจว่าอาวุธเหล่านั้นจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อโหมกระหน่ำความขัดแย้งหรือสงครามในรุนแรงขึ้น
นี่เป็นเหตุผลที่เยอรมนีลังเลอยู่นานกว่าจะตัดสินใจประกาศส่งรถถัง Leopard 2 ให้กับยูเครนหรือไม่
โดยเมื่อคืนก่อนการตัดสินใจประกาศส่งเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ อธิบายต่อรัฐสภาว่า ตนเองได้คิดเรื่องนี้อย่างถ้วนถี่แล้วก่อนตัดสินใจ และไม่ได้ทำเรื่องดังกล่าวเพียงลำพัง แต่เป็นการทำร่วมกับพันธมิตร
ผู้นำเยอรมนีบอกว่า ขณะนี้สงครามกำลังเกิดขึ้นในยุโรป และไม่ไกลจากที่เบอร์ลิน ตรงที่ที่ทุกคนกำลังยืนอยู่ ดังนั้นนี่เป็นหน้าที่ของเราในการที่จะช่วยยุติสงคราม
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ การที่ผู้นำเยอรมนีระบุว่า เขารู้ดีว่ามีคนจำนวนมากเป็นกังวลต่อการตัดสินใจของเยอรมนีในการส่งอาวุธหนักไปยังยูเครน แต่ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจของเขาและรัฐบาล
สาเหตุที่นายกฯโอลาฟต้องพูดเช่นนี้ เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับสังคมเยอรมัน จนทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นอย่างมาก แต่เสียงส่วนใหญ่ของชาวเยอรมนียังคงเห็นด้วยกับรัฐบาล
หลังการประกาศของเยอรมนี อีกหลายประเทศในยุโรปออกมาประกาศส่งเลพเพิร์ด 2 ให้กับยูเครนเช่นเดียวกัน
รายชื่อของประเทศที่จะส่งมอบและมีสัญญาณว่าส่งมอบรถถังให้แก่ยูเครน โดยมีประเทศที่ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว 4 ประเทศ คือ
- เยอรมนี จะส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 ล็อตแรก จำนวน 14 คัน
- สหรัฐฯ จะส่งมอบรถถังเอ็มวัน เอบรามส์ จำนวน 31 คัน
- สหราชอาณาจักร จะส่งมอบรถถังชาเลนเจอร์ 2 จำนวน 14 คัน
- โปแลนด์ จะส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 ล็อตแรก จำนวน 14 คัน
นอกจากนี้ยังมีประเทศยุโรปอีก 7 ประเทศที่ออกมาส่งสัญญาณว่า กำลังพิจารณาหรือรอขอให้รัฐสภาเห็นชอบวาระการส่งรถถังให้ยูเครนได้แก่ ฟินแลนด์ โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐเช็ก และฝรั่งเศส
เลพเพิร์ด 2 ถือเป็นหนึ่งในรถถังประจัญบานที่ดีที่สุดตัวหนึ่งของโลก ถึงแม้มีน้ำหนักมากถึง 74 ตัน แต่เคลื่อนที่ได้เร็ว ความคล่องตัวสูง
ภายในรถมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้มองเห็นทัศนวิสัยในตอนกลางคืน มีกล้องหักเหลำแสง และเลเซอร์วัดระยะ ทำให้สามารถยิงโจมตีได้อย่างแม่นยำแม้ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนอยู่
ตัวรถรุ่นย่อยใหม่ ๆ หุ้มด้วยเกราะคอมโพสิตรุ่น 3 มีความแข็งแรงทนทานสามารถป้องกันกำลังพลในรถจากการโจมตีด้วยอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ รวมถึงกัมมันตรังสีจากนิวเคลียร์ได้
การได้เลพเพิร์ด 2 จึงเป็นข่าวดีของกองทัพยูเครน เพราะนี่คือส่วนสำคัญที่สุดของการสร้างหน่วยรถถังที่แข็งแกร่ง
ก่อนหน้านี้ยูเครนได้ส่วนประกอบอีกส่วนที่สำคัญของหน่วยรถถังมาแล้ว คือ รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ หรือ IFV
รถลำเลียงพลหุ้มเกราะมีความสำคัญมากในการทำสงคราม เพราะจะทำหน้าที่ลำเลียงทหารราบเพื่อมาสนับสนุนและคุ้มกันรถถังหลัก หากไม่มีทหารราบ รถถังจะตกเป็นเป้าการทำลายได้ง่ายขึ้น
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาติพันธมิตรหลายชาติได้มอบ IFV ให้ยูเครน โดยสหรัฐฯ ให้รุ่น M2 Bradley ส่วนเยอรมนีให้มาร์เดอร์ (Marder) ในขณะที่ฝรั่งเศสให้ AMX-10 RC
อย่างไรก็ตาม ผู้นำของยูเครนระบุว่า หากต้องการสร้างหน่วยรบที่สามารถผลักดันรัสเซียออกจากแผ่นดินยูเครนได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีอีกหนึ่งยุทโธปกรณ์ คือเครื่องบินต่อสู้ หรือ Fighting Jet
โดยผู้นำยูเครนได้อัดคลิปวิดีโอระบุว่า หลังจากที่ได้รถถังแล้ว ความฝันอีกอย่างหนึ่งของยูเครนคือการได้ขีปนาวุธพิสัยไกลและเครื่องบินต่อสู้
ในขณะที่ชาติตะวันตกประกาศส่งรถถังให้ยูเครน ล่าสุดมีรายงานว่ารัสเซียได้ใช้โดรนพลีชีพกว่า 30 ลำ และขีปนาวุธอีกหลายสิบลูก โจมตีหลายพื้นที่ของยูเครน โดยเฉพาะที่กรุงเคียฟ
ทำให้ประชาชนต้องไปหลบภัยอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรักษาชีวิต ขณะเดียวกันนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟก็ได้ประกาศให้ประชาชนอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินต่อไป เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะหยุดโจมตีเวลาใด