แก่นโลกชั้นใน “หยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ” เรื่องปกติหรือสัญญาณอันตราย?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์พบว่า แก่นโลกชั้นในเกิดหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศทางในการหมุน ยังไม่ทราบผลกระทบ คาดว่าเป็นวัฏจักรปกติ

โลกของเราหากพูดไปแล้วก็เปรียบเสมือนกับเค้กหรือขนมปังก้อนใหญ่ เพราะโครงสร้างของโลกมีลักษณะเป็นชั้น ๆ ชั้นนอกสุดคือเปลือกโลก (Crust) ถัดมาเป็นเนื้อโลก (Mantle) และไส้ในเป็นแก่นโลกชั้นนอก (Outer Core) และแก่นโลกชั้นใน (Inner Core) ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลกกว่า 5,000 กิโลเมตร

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า โลกของเรามีการหมุนรอบตัวเอง ซึ่งใช้เวลา 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน แต่ในขณะเดียวกัน แก่นชั้นในของโลกก็มีการหมุนที่แยกต่างหาก ด้วยความเร็วที่ต่างจากการหมุนรอบตัวเองของโลก

ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU เฉียดโลกที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จะไปให้ถึงดาวอังคาร! นาซาเตรียมทดสอบ “จรวดพลังนิวเคลียร์”

“เมฆน้ำแข็ง” เจมส์ เว็บบ์ ศึกษาการกำเนิดดาวเคราะห์เอื้อต่อการดำรงชีวิต

แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งพบสัญญาณว่า แก่นชั้นในของโลกเหมือนจะ “หยุดลง” และ “เปลี่ยนทิศในการหมุน”

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960s อี้ หยาง และซ่ง เสี่ยวตง นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ทำการศึกษาคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Wave) จากแผ่นดินไหวที่ส่งผ่านไปถึงแก่นโลกชั้นใน เพื่อวิเคราะห์ความเร็วในการหมุนของแก่นโลกชั้นในว่าเร็วเพียงใด

พวกเขาพบว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คลื่นไหวสะเทือนที่ส่งผ่านแก่นโลกชั้นในเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับเปลือกโลก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา คลื่นไหวสะเทือนดังกล่าวเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยแก่นโลกชั้นใน “หยุดหมุน” ในปีนั้น และ “เริ่มหมุนกลับมาในอีกทิศทางหนึ่ง”

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า “เราพบข้อสังเกตที่น่าประหลาดใจซึ่งบ่งชี้ว่า แก่นโลกชั้นในเกือบจะหยุดหมุนแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และอาจกำลังหมุนกลับ”

ทั้งนี้ พวกเขาพบด้วยว่า การหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศการหมุนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ แต่เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นตามปกติ “เราคิดว่าการหมุนของแกนกลางโลกนั้นหมุนไปในทิศทางหนึ่ง จากนั้นจะหมุนกลับมาในอีกทิศทางหนึ่ง เหมือนกับการแกว่งไปมา”

นักวิจัยจีนบอกด้วยว่า วัฏจักรการเปลี่ยนทิศการหมุนของแก่นโลกชั้นในหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 70 ปี หรือหมายความว่า การหมุนจะเปลี่ยนทิศทางประมาณทุก ๆ 35 ปี

พวกเขากล่าวว่า ก่อนหน้าปี 2009 แก่นโลกชั้นในเปลี่ยนทิศการหมุนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ส่วนการเปลี่ยนทิศทางการหมุนครั้งต่อไปคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2040

นักวิจัยกล่าวว่า การหมุนนี้น่าจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่า “ความยาวของวัน” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่ทราบว่า การเปลี่ยนทิศการหมุนของแก่นโลกชั้นในมีความเชื่อมโยงอะไรกับเปลือกโลก และไม่พบข้อบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบนโลก

เคอโวเย คาลชิช นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งศึกษาการหมุนของแก่นโลกชั้นในมาโดยตลอด และไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ออกมาให้ความเห็นว่า วัฏจักรการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของแก่นโลกชั้นในน่าจะอยู่ที่ 20-30 มากกว่า 70 ปี

“แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เหล่านี้มักจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากแบบจำลองเหล่านี้เป็นเพียงการอธิบายข้อมูลที่สังเกตได้เท่านั้น” คาลชิชกล่าว

เขาเสริมว่า “เราใช้วิธีการอนุมานทางธรณีฟิสิกส์เพื่อสรุปคุณสมบัติภายในของโลก จึงต้องใช้ความระมัดระวังจนกว่าผลการวิจัยจากหลากหลายสาขาจะยืนยันสมมติฐานและกรอบแนวคิดของเรา”

เขาบอกอีกว่า “มันเหมือนกับแพทย์ที่ศึกษาอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สมบูรณ์หรือมีจำกัด ดังนั้น แม้จะมีความคืบหน้า แต่ภาพภายในของโลกยังคงพร่ามัว และเรายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาค้นพบ”

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก Getty Image

คอนเทนต์แนะนำ
สงครามรัสเซีย-ยูเครน จุดชนวน ขยับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกปี 2023 ลดลง 10 วินาที
ภูเขาน้ำแข็งเท่าลอนดอน แตกจากหิ้งน้ำแข็ง ในทวีปแอนตาร์กติกา

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ