อิหร่านเปิดตัว “ปาเวห์” ขีปนาวุธใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จับตาดูความเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซียนั่นคืออิหร่าน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการส่งยุทธโธปกรณ์ให้รัสเซียใช้เพื่อทำสงคราม เช่นโดรนพลีชีพเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อิหร่านมีการซ้อมรบใหญ่และเปิดตัวขีปนาวุธชนิดใหม่ที่มีพิสัยทำการไปได้ไกลถึงประเทศอิสราเอล

ความเคลื่อนไหวล่าสุดทำให้อิสราเอลไม่พอใจอย่างหนักและเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยุติความพยายามของอิหร่านในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

การซ้อมรบที่ทางการอิหร่านได้มีการเผยแพร่เป็นการซ้อมรบของกองกำลังหลัก 3 หน่วยของอิหร่าน  นั่นก็คือกองทัพอากาศ (Iranian Air Force), กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) และกองกำลังการบินและอวกาศแห่งชาติ (Aerospace Force)

ซ้อมรบกันด้วยกระสุนจริง มีการจำลองสถานการณ์ทั้งการรับมือจากการถูกโจมตีรวมถึงการตอบโต้ศัตรูกลับ

อิหร่าน ประหารชีวิตอดีตรมต. ฐานเป็นสายลับให้อังกฤษ

อิหร่าน ประหารชีวิต 2 ผู้ประท้วง ต้านรัฐบาล

พลเอกโมฮัมหมัด บาเกรี ประธานคณะเสนาธิการกองทัพอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายการซ้อมรบใหญ่ครั้งนี้ว่า ไม่ได้มีจุดประสงค์ข่มขู่หรือคุกคามอธิปไตยของชาติใด การซ้อมรบทำขึ้นเพื่อการฝึกกำลังพลของอิหร่านให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การซ้อมรบใหญ่ครั้งนี้มีการขนอาวุธยุทธโธปกรณ์มาเต็มพิกัด หนึ่งในตัวสำคัญที่เอามาเปิดโฉมคือ ขีปนาวุธร่อนแบบใหม่ล่าสุดที่มีพิสัยทำการยิงได้ไกลถึง 1,650 กิโลเมตรจากฐานปล่อย

ขีปนาวุธตัวใหม่ของอิหร่านมีชื่อว่า ปาเวห์ (Paveh) ตั้งตามชื่อเมืองปาเวห์ในจังหวัดเคอร์มันชาห์ (Kermanshah) ของอิหร่าน เพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่านักรบชาวเคิร์ดจากเมืองแห่งนี้ เป็นขีปนาวุธร่อนที่มีพิสัยทำการยิงได้ไกลถึง 1,650 กิโลเมตรจากฐานปล่อย ซึ่งเป็นพิสัยที่สามารถยิงได้ไปไกลถึงอิสราเอล

หัวหน้าฝ่ายอากาศยานของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการพัฒนาขีปนาวุธบอกว่า จุดประสงค์ของการมีขีปนาวุธนี้ก็เพื่อเอาไว้ใช้ในการป้องกันตนเองจากการโจมตีและการโต้กลับศัตรูที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศ (Iron Dome) นั่นก็คืออิสราเอล และการนำมาทดสอบในการซ้อมรบครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

การเปิดตัวขีปนาวุธปาเวห์คือการประกาศว่า อิหร่านมีศักยภาพในการพัฒนาขีปนาวุธในทุกพิสัยและขณะนี้ก็ทำได้สำเร็จแล้วด้วยไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า ขีปนาวุธนี้สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วยหรือไม่ และถ้าหากขีปนาวุธตัวนี้สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ นี่จะคือความก้าวหน้าครั้งสำคัญของกองทัพอิหร่าน พัฒนาการทางทหาร การซ้อมรบใหญ่และท่าทีล่าสุดของอิหร่านสร้างความไม่สบายใจและความไม่พอใจอย่างหนักจากอิสราเอล

โดยล่าสุด อีไล โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนเยอรมนีได้เรียกร้องให้เยอรมนี ซึ่งเป็นชาติแกนนำของยุโรป เพิ่มแรงกดดันและใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการสกัดขัดขวางไม่ให้อิหร่านเดินหน้าโครงการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่เยอรมนีและชาติตะวันตกจะต้องเลิกใช้ถ้อยคำที่สวยหรูทางการทูต และหันไปใช้มาตรการกดดันอย่างจริงจัง รวมถึงการบังคับใช้บทลงโทษที่หนักหน่วงต่ออิหร่านเพื่อขัดขวางความพยายามใดๆของรัฐบาลอิหร่านในการครองครองอาวุธนิวเคลียร์

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ รวมถึงมีศักยภาพในการเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์มายาวนาน โดยในอดีตอิหร่านเคยมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯและอังกฤษ   

สหรัฐอเมริกาช่วยเหลืออิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นี่เองที่ทำให้อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์เป็นของตัวเองได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950

แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1979 เมื่ออิหร่านเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบ โดยมีผู้ปกครองคนใหม่คือ อยาตุลเลาะห์ อาลี โคมัยนี ซึ่งมองสหรัฐฯเป็นศัตรูผู้ตักตวงผลประโยชน์

ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์กลุ่มนักศึกษาอิหร่านบุกยึดและจับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะราน 52 คนเป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ตกต่ำถึงขีดสุด จนสหรัฐฯตัดสัมพันธ์ทางการทูตทุกทางกับอิหร่าน

หลังจากนั้น อิหร่านก็ปิดประเทศจากชาติตะวันตก และเริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต จีน และเกาหลีเหนือ

รายงานของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) เมื่อปี 2001 ระบุว่า อิหร่านสามารถผลิตขีปนาวุธ โดรน ยานยนต์หุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงอาวุธร้ายแรงเช่น อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อิหร่าน บรรลุข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ด้านโครงการพัฒนานิวเคลียร์เชิงสันติให้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของนานาชาติเมื่อปี 2015 หนึ่งในสิ่งที่อิหร่านได้รับตอบแทนจากข้อตกลงในครั้งนั้น คือ การที่นานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ห้ามอิหร่านส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกบังคับใช้มานาน

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำอิหร่านในขณะนั้นออกมาประกาศว่า นี่เป็นชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญของประเทศเหนือรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ในอีก 3 ปีต่อมา คือในปี 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯในขณะนั้นจะประกาศถอนตัวแบบฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวโดยอ้างว่า มาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธต่ออิหร่านควรถูกบังคับใช้ต่อไป

แต่ท่าทีของทรัมป์ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากสมาชิกส่วนใหญ่ของทั้งคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และนั่นทำให้อิหร่านยังคงสามารถเดินหน้าพัฒนาอาวุธนานาชนิดได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา อิหร่านเพิ่งเปิดตัวฐานทัพอากาศใต้ดินที่มีชื่อว่า "Eagle 44" ซึ่งถือเป็นฐานทัพอากาศใต้ดินแห่งแรกของประเทศ

สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ และไออาร์ไอบีของทางการอิหร่านได้เผยแพร่ภาพของฐานทัพดังกล่าวซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดินและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ในภาพมีเครื่องบินรบหลายรุ่นจอดประจำการอยู่

ฐานทัพอากาศใต้ดิน Eagle 44 ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างด้านความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ใหม่ของอิหร่านที่วางแผนจะย้ายที่ตั้งของหน่วยทหารที่มีความสำคัญรวมถึงศูนย์วิจัยด้านนิวเคลียร์จากบนดินให้ลงมาอยู่ใต้ดินแทน เพื่อให้ปลอดภัยจากการโจมตีจากอิสราเอล

ฐานทัพใต้ดินนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อจัดเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพ เช่นโดรนและขีปนาวุธรุ่นต่างๆ ซึ่งรวมถึง   โดรนรุ่นชาเฮด 136 (Shahed 136) และขีปนาวุธฟาเตห์-110 (Fateh-110) และซ็อลฟาการ์ (Zolfaghar) เพื่อให้รอดจากการที่อาจถูกโจมตีทำลายด้วย

ยุทโธปกรณ์บางรายการที่เชื่อว่าถูกจัดเก็บที่นี่เป็นยุทโธปกรณ์ที่อิหร่านเคยจัดส่งให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในการโจมตียูเครน เช่นโดรนซาเฮด 136 คาดการณ์กันว่าอิหร่านมีฐานทัพใต้ดินแบบนี้กว่า 10 แห่งประจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ