ขณะที่ในเวทีการประชุม G20 ที่มีขึ้นที่ประเทศอินเดียก็ดุเดือด เมื่อสงครามในยูเครนกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในที่ประชุมหลังรัสเซียและจีนออกมาขัดขวางความพยายามของกลุ่มในการออกแถลงการณ์ประณามการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน
G20 คือความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 19 ชาติ และ 1 กลุ่ม รวมเป็น 20
1 กลุ่มคือ สหภาพยุโรป ส่วนอีก 19 ประเทศเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ทั้งสิ้น
เจ็บแต่จบ! สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีโอกาสสิ้นสุดในปีนี้?
ย้อนเหตุการณ์สำคัญ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน
เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา จีน อินเดียญี่ปุ่น เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ ตุรกี อินโดนีเซีย รวมถึงรัสเซีย
กลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของโลก ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และร้อยละ 75% ของการค้าโลก
เป็นการจับกลุ่มร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาเรื่องสงครามยูเครนกลายเป็นเรื่องใหญ่ของการประชุมทึกครั้งทั้งในระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี
โดยในที่ประชุมคราวนี้ได้มีความพยายามออกแถลงการณ์ประณามการทำสงคราม เพื่อปูทางไปสู่การให้นานาชาติกดดันให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครน อย่างไรก็ตามความพยายามไม่สำเร็จ กลุ่ม G20 ไม่สามารถหาข้อตกลงหรือออกแถลงการณ์ร่วมกันได้เนื่องจากรัสเซียกับจีนคัดค้าน
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียออกมาแถลงว่า ความต่างของความเห็นในที่ประชุมนั้นสุดขั้วมาก จนไม่สามารถตกลงอะไรกันได้
หลังล้มเหลวในการออกแถลงการณ์ มีรายงานว่าแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีโอกาสพูดคุยสั้นๆประมาณ 10 นาทีกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ซึ่งนี่ถือเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามนี่เป็นการพบกันแบบไม่ได้ตั้งใจในระหว่างที่ทั้งคู่เดินสวนกันและบรรยากาศการพูดคุยกันที่ไม่ค่อยดีนัก
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้รายละเอียดการพูดคุยว่า เขาได้บอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียไปว่ารัสเซียควรกลับเข้าสู่ข้อตกลงที่ทำกันไว้ในสนธิสัญญา New START หลังจากประธานาธิบดีปูตินประกาศนำรัสเซียถอนตัวออกไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
New Start เป็นสนธิสัญญาที่สหรัฐฯ กับรัสเซียทำขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายไม่ให้เกิน 1,500 ลูก
การประกาศระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา New START หมายความว่าต่อจากนี้ไปรัสเซียไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ ไม่ต้องจำกัดจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนฐานปล่อยขีปนาวุธ
รวมถึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้คณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของสหรัฐฯ เดินทางเข้าตรวจสอบแหล่งที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของรัสเซียด้วย ทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาคมโลกตรวจสอบการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ตลอดจนขีปนาวุธข้ามทวีปและอาวุธที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อื่นๆ ของรัสเซียได้ยากลำบากมากขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่บลิงเคนได้บอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียคือ รัสเซียเลือกที่จะยุติสงครามครั้งนี้ได้ ด้วยการถอนกำลังทหารออกไปจากยูเครน แต่ถ้ารัสเซียไม่ทำเช่นนั้น สหรัฐฯ ก็จะเดินหน้าสนับสนุนยูเครนตราบนานเท่านานที่สงครามยังดำเนินอยู่
ซึ่งนี่ถือเป็นการพบกันครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับรัสเซียนับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และเป็นการพบกันแบบไม่ได้ตั้งใจ
สำหรับการพบกันอย่างเป็นทางการ แบบที่เป็นไปตามระเบียบทางการทูตยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือเน็ด ไพรช์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ระบุว่า การพบกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และรัสเซียจะยังไม่มีขึ้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะยังไม่ปิดช่องทางการการทูต
อย่างไรก็ตาม ชาติที่พบกับแบบตั้งใจและหารือกันอยู่นานคือรัสเซียกับจีน เมื่อคืนที่ผ่านมา CCTV สื่อทางการของรัฐบาลจีนได้เปิดเผยภาพการพบกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน
โดย CCTV รายงานว่าระหว่างที่พบกัน ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้บอกกับเซอร์เก ลาฟรอฟ ว่าจีนมีเป้าหมายให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติและคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะขัดขวางกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนมีการเสนอแผนสันติภาพเพื่อยุติสงคราม อย่างไรก็ตามหลายชาติตะวันตกตั้งข้อสงสัยในเจตนาของจีน เพราะแผนดังกล่าวซึ่งมีอยู่ 12 ข้อไม่มีการระบุอย่างเจาะจงว่ารัสเซียต้องถอนกำลังทหารออกจากยูเครนซึ่งเป็นหลักการและพื้นฐานสำคัญที่สุดในการเริ่มกระบวนการสันติภาพ
อีกเรื่องหนึ่งที่ชาติตะวันตกกำลังสงสัยจีนและมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ การที่จีนอาจพิจารณาส่งอาวุธเพื่อช่วยรัสเซีย โดยสหรัฐฯ ระบุว่าหากจีนทำเช่นนั้นสหรัฐฯ ก็จะไม่รีรอที่จะออกมาตรการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐฯ ถือเป็นชาติหลักที่หนุนยูเครน ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธต่อยูเครนมากที่สุด โดยนับตั้งแต่เปิดฉากสงครามขึ้น สหรัฐฯ ได้จัดหาอาวุธให้กับยูเครนแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1 ล้าน 1 แสนล้านบาท
มีรายงานว่าสหรัฐฯ กำลังจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารรอบใหม่ต่อยูเครนเพิ่มเติมอีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยความช่วยเหลือทางการทหารรอบใหม่ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยูเครนจะได้รับ จะรวมถึงจรวดและเครื่องยิงจรวดแบบหลายลำกล้องไฮมาร์สด้วย ซึ่งคาดว่าเครื่องยิงจรวดนี้ยูเครนมีความจำเป็นต้องใช้มากที่สุด เพื่อโจมตีฐานทหารหรือคลังอาวุธของรัสเซีย หากจะเปิดการรุกในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง
การประกาศแพกเกจความช่วยเหลือทางอาวุธรอบใหม่อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้นำเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ เดินทางเยือนทำเนียบขาว