การเสียชีวิตของ วลาดเลน ทาทาร์สกี จากเหตุระเบิดคาเฟ่ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เรื่องราวของอาชีพ “บล็อกเกอร์สายทหาร” ได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมนอกรัสเซีย พร้อมกับความสงสัยว่า บล็อกเกอร์เหล่านี้มีบทบาทอย่างไรบ้างในสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี
นับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. 2022 สื่ออิสระหลายแห่งในรัสเซียได้ถูกสั่งปิดอย่างต่อเนื่อง สื่อต่างประเทศถูกปิดกั้น และนักข่าวฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ในคุกหรือไม่ก็ออกนอกประเทศ
เปิดใจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงรัสเซีย ผู้แปรพักตร์และหนีออกนอกประเทศ
รัสเซียตั้งข้อหาก่อการร้าย มือบึ้มคาเฟ่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
บึ้มคาเฟ่กลางกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บล็อกเกอร์สายทหารเสียชีวิต
ดังนั้น การรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามยูเครนในสื่อของรัฐรัสเซียจึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล และบรรดานักวิจารณ์หรือบล็อกเกอร์สายทหารที่สนัสนุนรัฐบาลและการรุกรานยูเครน ต่างก็ก้าวเข้ามาทำหน้าที่ “นักข่าวสงคราม” เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลของผู้รับสาร และส่วนใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าทั้งหมด วัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ
แคนเดซ รอนโดซ์ ผู้อำนวยการโครงการ Future Frontlines ของมูลนิธินิวอเมริกา กล่าวว่า “บล็อกเกอร์สายทหารในรัสเซียทุกวันนี้ให้บริการข่าวสารที่แม้จะไม่โปร่งใสมาก แต่ก็ยังเป็นบริการข่าวสาร พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวจริง ๆ ที่เฝ้าติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในแนวหน้าได้”
บล็อกเกอร์สายทหารส่วนใหญ่มักเป็นอดีตทหาร หรือเป็นผู้ที่มีแหล่งข่าวในกองกำลังติดอาวุธของรัฐ กลุ่มแวกเนอร์ หรือในกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีใครเทียบได้
“เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีมุมมองที่ลำเอียงมากเกี่ยวกับสงคราม แต่พวกเขามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยในด้านใดด้านหนึ่ง” รอนโดซ์เสริม
ด้าน รุสลัน ทราด นักวิจัยด้านความปลอดภัยประจำห้องปฏิบัติการวิจัยนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัลของสภาแอตแลนติก กล่าวว่า ชุมชนของบล็อกเกอร์มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ก็มักเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมรัสเซียและหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ
“คนเหล่านี้รู้จักกัน มักจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกัน สื่อสารกัน และมีระบบปิด อย่างทาทาร์สกีเองก็มีอิทธิพลสำคัญในชุมชนนี้” ทราดกล่าว
เขาเสริมว่า “ในขณะเดียวกัน ทาทาร์สกียังวิจารณ์กองทหารรัสเซียและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการตัดสินใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหาร … การวิเคราะห์ของเขาทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบในหมู่เจ้าหน้าที่ เพราะเขาในฐานะผู้ปกป้องรัสเซียและกองทัพอย่างแข็งขัน ต้องการเห็นกองทัพนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นจริง”
บล็อกเกอร์สายทหารเหล่านี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนรัสเซียในสงครามกับยูเครน รอนโดซ์บอกว่า “พวกเขาได้วางแนวทางโฆษณาชวนเชื่อที่สนับสนุนสงคราม ต่อต้านตะวันตก ต่อต้านยูเครน มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว”
หลังจากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับการปราบปรามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตะวันตกเช่นทวิตเตอร์และอินสตาแกรมในรัสเซีย ทำให้อิทธิพลของบล็อกเกอร์สายทหารเหล่านี้เพิ่มขึ้น
คาเทรีนา สเตปาเนนโก ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียที่สถาบันการศึกษาสงคราม (ISW) กล่าวว่า “พวกเขาทั้งหมดเริ่มหันมาใช้แพลตฟอร์ม Telegram ร่วมกัน จากนั้นเนื้อหาของพวกเขาก็เริ่มถูกหยิบขึ้นมามากขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวรัสเซียเริ่มประสบกับความล้มเหลวทางทหารหลายครั้ง”
ไม่เหมือนกับสื่อของรัฐรัสเซีย บล็อกเกอร์สายทหารที่ทรงอิทธิพลหลายคนไม่ได้หลีกเลี่ยงการวิจารณ์กองทัพหรือรัฐบาลรัสเซียสำหรับความพ่ายแพ้ในสนามรบ
สเตปาเนนโกกล่าวว่า แม้ว่าบล็อกเกอร์แบบทาทาร์สกีมักจะวิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย แต่พวกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสงครามอย่างแข็งขันที่สุด
“พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวที่พูดอย่างชัดเจนว่า ‘เราต้องการสงครามนี้เพื่อความอยู่รอด เราต้องการสงครามครั้งนี้เพื่อฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียต่อไป’ ... พวกเขามีความคิดเชิงอุดมการณ์ที่แข็งแกร่งมาก พวกเขามองว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในความขัดแย้งนี้ และเป้าหมายของพวกเขาคือให้รัสเซียชนะและพิชิตยูเครนทั้งหมด หรือแม้แต่ต่อสู้กับนาโต” เธอกล่าว
ด้านทราดกล่าวว่า ในขณะที่อิทธิพลของบล้อกเกอร์สายทหารเติบโตขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่การระเบิดสังหารทาทารากีที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในบางอย่าง
“ในรัสเซีย บล็อกเกอร์ ผู้สื่อข่าวของรัฐ และเจ้าหน้าที่ คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตัวเองมีความปลอดภัยมาก มากจนไม่มีการตรวจสอบในการรวมกลุ่มเพื่อดูว่ามีใครพกสิ่งของที่สามารถใช้ทำร้ายพวกเขาได้หรือไม่” เขากล่าว
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP