เมื่อวันพุธที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รัฐสภายุโรป มีมติเห็นชอบกฏหมายที่ให้บริษัทที่จดทะเบียนขายสินค้าในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ต้องจัดทำรายงานตรวจสอบสถานะ และข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า สินค้าที่นำเข้าสหภาพยุโรป ไม่ได้เป็นผลผลิตที่เติบโตบนที่ดิน ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก หลังจากปี 2020
กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจัดการกับการตัดไม้ทำลายป่าจากระบบซัพพลายเชนของสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันในยุโรป
ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ ยาง ถ่าน และสินค้าที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ อย่าง หนัง ช็อกโกแลต และ เฟอร์นิเจอร์
ทั้งนี้การตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึงเกือบ 10% ของทั้งโลก ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และกฎหมายใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อให้สหภาพยุโรปมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน
อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งเป้าจำกัดการนำเข้าสินค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ได้เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่าง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก
โดยทั้งสองประเทศนี้ กล่าวหาว่า สหภาพยุโรปปิดกั้นไม่ให้น้ำมันปาล์มของพวกเขาเข้าสู่ตลาด เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสามของโลก
สำหรับรัฐสภายุโรปได้อนุมัติกฏหมายดังกล่าวด้วยเสียงข้างมาก หลังได้รับความเห็นชอบจากคณะผู้เจรจาเมื่อปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามยังต้องรออนุมัติอย่างเป็นทางการจากประเทศสมาชิกในคณะมนตรียุโรป ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทขนาดใหญ่จะมีเวลา 18 เดือน และบริษัทขนาดเล็กจะมีเวลานาน 24 เดือนในการปรับตัว
สำหรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายใหม่นี้จะต้องถูกปรับสูงถึง 4 % ของผลประกอบการของบริษัทในประเทศใด ประเทศหนึ่ง ในสหภาพยุโรป ส่วนประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปก็จะดำเนินการตรวจสอบให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ด้วย