หากกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลายคนอาจจะนึกถึงบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ฉลองพระองค์ ขั้นตอนพิธีการ แต่อีกหนึ่งองค์ประกอบที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึงแต่จริง ๆ แล้วมีความสำคัญ คือเรื่องของ “เก้าอี้” และ “พระราชอาสน์” ที่ใช้ในพิธีการ
ที่มีความสำคัญที่สุดคือ “บัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด” (St Edward’s Chair) หรือที่เรียกกันว่า บัลลังก์ราชาภิเษก เป็นพระราชอาสน์ที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงประทับนั่ง ในขั้นตอนของการสวมพระมงกุฎ
บัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ดถูกสร้างขึ้นเมื่อกว่า 700 ปีก่อน โดยรับสั่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เพื่อใช้ในการประดิษฐาน “ศิลาแห่งชะตา” (Stone of Destiny) หรือหินที่กษัตริย์สกอตแลนด์และอังกฤษจะต้องประทับนั่งลงไป เป็นส่วนหนึ่งของพิธีราชาภิเษก
ตัวบัลลังก์ทำจากไม้โอ๊กบอลติก และใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เมื่อปี 1308
นอกจากบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ดแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลาจะทรงประทับนั่งบนพระราชอาสน์ที่สำคัญอีก 2 ตัว คือ พระที่นั่งแห่งทรัพย์สมบัติ (Chair of Estate) และพระแท่นบัลลังก์ (Throne Chair)
โดยเพื่อเป็นการประหยัดและคำนึงถึงความยั่งยืน พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีรับสั่งให้ใช้พระที่นั่งแห่งทรัพย์สมบัติและพระแท่นบัลลังก์ที่มีอยู่เดิมในการประกอบพระราชพิธีโดยไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่
สำหรับพระที่นั่งแห่งทรัพย์สมบัติที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 6 พ.ค. นี้ ถูกสร้างขึ้นในปี 1953 เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
พระที่นั่งแห่งทรัพย์สมบัติทำจากไม้บีชแกะสลักและปิดทองในสไตล์ศตวรรษที่ 17 ประดับด้วยสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ทั้งยังมีจุดเด่นอยู่ที่การแกะสลักไม้ปิดทองที่ต่อกับขาหน้า พร้อมด้วยสัญลักษณ์ประจำชาติคือดอกกุหลาบ ดอกธิสเซิล และดอกแชมร็อก
พระที่นั่งแห่งทรัพย์สมบัติจะใช้ในช่วงแรกของพระราชพิธี และสำหรับพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีคามิลลา
ในการเตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผู้เชี่ยวชาญได้ทำความสะอาด บูรณะ และประกอบกรอบไม้ปิดทอง ติดผ้าไหมสีแดงเข้มผืนใหม่ ประดับสัญลักษณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แทนสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งจะถูกถอดออกและจะเก็บรักษาไว้
สัญลักษณ์ใหม่นี้จะได้รับการปักด้วยมือโดยโรงเรียนหลวงด้านการเย็บปักถักร้อย และสร้างขึ้นด้วยผ้าสีทองทอด้วยด้ายโลหะ เมื่อเสร็จสิ้น สัญลักษณ์จะถูกนำไปติดกับผ้าไหมสีแดงเข้ม
ในส่วนของพระแท่นบัลลังก์นั้น สร้างในสไตล์ศตวรรษที่ 17 เช่นกัน หุ้มด้วยกำมะหยี่สีแดงเข้มและประดับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และควีนเอลิซาเบธ ในการเตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนผ้าไหมกำมะหยี่สีแดงเข้มเป็นกำมะหยี่แทน และจะมีการตกแต่งใหม่
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงประทับบนพระแท่นบัลลังก์ในพระราชพิธีในขั้นตอนของการเถลิงราชสมบัติและขั้นตอนถวายความเคารพ
สุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้ ไม่ใช่พระที่นั่งสำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา แต่เป็นเก้าอี้สำหรับอาคันตุกะและผู้เข้าร่วมในพระราชพิธี หรือ Congregation Chair มีทั้งหมด 100 ตัว
เก้าอี้ดังกล่าวนี้สร้างด้วยไม้โอ๊กอังกฤษ ใช้วัสดุและเทคนิคแบบดั้งเดิม จากนั้นหุ้มด้วยกำมะหยี่สีน้ำเงิน และมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เก้าอี้นี้จะถูกประมูล และรายได้จะมอบให้การกุศลต่อไป
เรียบเรียงจาก สำนักพระราชวังสหราชอาณาจักร
ภาพจาก AFP