นักดาราศาสตร์รายงานพบปรากฏการณ์ “ไอน้ำพวยพุ่ง” ออกมาจาก “เอนเซลาดัส” (Enceladus) ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีแนวโน้มมากที่สุดในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ไอน้ำที่พวยพุ่งออกมานั้นทำลายสถิติ เพราะพุ่งขึ้นไปในอวกาศเกือบ 9,600 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าระยะทางจากไอร์แลนด์ถึงญี่ปุ่น และปล่อยน้ำสู่ห้วงอวกาศด้วยอัตราประมาณ 300 ลิตรต่อวินาที
กลาโหมสหรัฐฯ เผย เตรียมพร้อมสำหรับ “การสู้รบในอวกาศ”
การระเบิดครั้งใหญ่ในอวกาศ เกิด “ลูกไฟขนาดใหญ่กว่าระบบสุริยะ 100 เท่า”
“ดาวเสาร์” ทวงคืนบัลลังก์ ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์มากสุดในระบบสุริยะ
สำหรับดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของดาวเสาร์ กว้าง 480 กิโลเมตร มีพื้นผิวเป็นน้ำแข็ง และมีมหาสมุทรน้ำเค็มลึกซ่อนอยู่ใต้เปลือกพื้นผิว โดยปกติมักมีการระบายไอน้ำขึ้นสู่อวกาศอยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีไอน้ำพวยพุ่งออกมาสูงเท่านี้
เจอโรนิโม วิลลานูเอวา นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา (NASA) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “เราประทับใจมากกับขนาดและระยะที่ไกลขนาดนี้”
นักวิจัยสังเกตการณ์เอนเซลาดัสด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยบันทึกภาพด้วยกล้องอินฟราเรดระยะใกล้สามารถจับภาพ “การพวยพุ่งที่ใหญ่เป็นพิเศษ” เอาไว้ได้
การวัดโดยกล้องโทรทรรศน์แสดงให้เห็นว่า เอนเซลาดัสสูญเสียน้ำประมาณ 300 ลิตรต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณเพียงพอจะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
นักวิจัยบอกว่า “กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ เปิดหน้าต่างบานใหม่สู่การสำรวจเอนเซลาดัส … และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจในอนาคต”
เอนเซลาดัสได้รับการอธิบายว่าเป็นดวงจันทร์มหาสมุทร เพราะนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีมหาสมุทรอยู่ทั่วดวงจันทร์ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวที่เป็นน้ำแข็ง การสังเกตการณ์ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ในอดีตพบกลุ่มไอน้ำที่พัดพาอนุภาคน้ำแข็งและสารเคมีอินทรีย์ ปะทุพุ่งออกไปในอวกาศเหมือนน้ำพุร้อน ผ่านรอยแตกของพื้นผิวที่เรียกว่า “ลายเสือ”
เนื่องจากเอนเซลาดัสโคจรรอบดาวเสาร์เร็วมาก ใช้เวลาน้อยกว่า 1 วันบนโลก ทำให้ไอน้ำที่พุ่งออกไปไหลเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เกิดเป็นวงแหวนคล้ายโดนัทขนาดยักษ์ที่เรียกว่า “ทอรัส” (Torus)
จากข้อมูลของนักดาราศาสตร์ ประมาณ 30% ของไอน้ำที่พุ่งออกจากเอนเซลาดัสจะเข้าไปหล่อเลี้ยงทอรัส ส่วนที่เหลือจะไหลออกสู่บริเวณโดยรอบของดาวเสาร์
นี่นับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของการศึกษาดวงจันทร์เอนเซลาดัส ซึ่งเป็นหนึ่งในบริวารของดาวเสาร์ที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์ของนาซารายงานว่า เอนเซลาดัสมีองค์ประกอบเกือบทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำ พลังงาน และสารเคมีที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าแหล่งพลังงานนี้คล้ายกับปล่องร้อนใต้ทะเลบนโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต
สำหรับภารกิจการศึกษาเอนเซลาดัสในอนาคตนั้น จะมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความหนาของเปลือกพิ้นผิวดวงจันทร์ที่เป็นน้ำแข็งและความลึกของมหาสมุทรใต้พิภพ
เรียบเรียงจาก NASA / The Guardian
ภาพจาก NASA