หลังจากที่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีการประกาศค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง รวมเป็น 92 ดวง ทำให้มันกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างดาวเสาร์ที่มีอยู่ 83 ดวง
แต่พี่ใหญ่ของระบบสุริยะนั่งอยู่บนบัลลงก์แชมป์ได้เพียง 3 เดือนกว่า ๆ ก็ต้องถูกกระชากลงมา ดาวเสาร์กลับมาครองตำแหน่งดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์มากที่สุดในระบบสุริยะอีกครั้งแล้ว
เกิดขึ้นจริงปีหน้า ดินเนอร์หรูบนชั้นบรรยากาศโลก ใกล้ชิดกับอวกาศ
เจมส์ เว็บบ์ เผยภาพ “แถบฝุ่น” สวยงาม รอบดาวฤกษ์ “โฟมาเลาต์”
นักวิทย์พบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) รายงานการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเสาร์เพิ่มอีก 62 ดวง ทำให้รวมแล้วดาวเสาร์มีดวงจันทร์มากถึง 145 ดวง!
ศ.เบรตต์ แกลดแมน นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ผู้มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์กล่าวว่า “ดาวเสาร์ไม่เพียงมีจำนวนดวงจันทร์เพิ่มเกือบ 2 เท่าเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังมีดวงจันทร์มากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะรวมกันเสียอีก”
ดวงจันทร์ที่ค้นพบใหม่เหล่านี้จะถูกตั้งชื่อตามเทพเจ้าของชาวกอล ชาวนอร์ส และชาวอินูอิต เพื่อให้สอดคล้องกับแบบแผนการตั้งชื่อดวงจันทร์ของดาวเสาร์
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ดวงจันทร์ใหม่หลายดวงน่าจะเป็นเศษซากของการชนกันระหว่างดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลให้ดวงจันทร์ขนาดใหญ่แตกเป็นเสี่ยง ๆ และเกิดดวงจันทร์เล็ก ๆ กระจายไปในวงโคจรของดาวเสาร์
แม้ว่าในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าดาวพฤหัสบดีอาจพบดวงจันทร์เพิ่มขึ้นอีก แต่การค้นพบครั้งล่าสุดดูเหมือนจะช่วยยืนยันทฤษฎีว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ดาวเสาร์จะยังคงมีดวงจันทร์มากกว่า
แกลดแมนกล่าวว่า “ที่ขนาดคงที่ จะมีจำนวนดวงจันทร์บริวารมากกว่าดาวพฤหัสบดีถึง 3 เท่า”
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนดวงจันทร์ที่ได้รับการยืนยันได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์และวิธีการวิเคราะห์มีความไวและแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากการค้นพบดวงจันทร์เพิ่มแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังเผยแพร่ความคืบหน้าในการศึกษา “วงแหวน” ของดาวเสาร์ด้วย
โดยผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลที่รวบรวมโดยยานอวกาศแคสซินี (Cassini) ขององค์การนาซา กล่าวว่า ข้อสังเกตล่าสุดบ่งชี้ว่า วงแหวนขนาดใหญ่สุดสวยงามของดาวเสาร์นี้ ไม่ได้ก่อตัวขึ้นในเวลาเดียวกับดาวเสาร์ แต่ก่อตัวขึ้นเมื่อไม่เกิน 400 ล้านปีก่อนเท่านั้นเอง
ดร. ซาชา เคมพ์ฟ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่จะคิดว่าวงแหวนก่อตัวขึ้นพร้อมกับดาวเสาร์ ซึ่งมีอายุประมาณ 4.5 พันล้านปี”
ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่าวงแหวนของดาวเสาร์ไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป จากการวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า วงแหวนของดาวเสาร์กำลังสลายตัว
เคมพ์ฟกล่าวว่า “วงแหวนของดาวเสาร์ไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ และเราอาจถือว่าโชคดีมากที่อยู่ในช่วงเวลาที่สามารถสังเกตเห็นมันได้”
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP