ด้านประธานาธิบดีคอวอซอได้เสนอวิธียุติความขัดแย้งโดยหนึ่งในวิธีที่สามารถยอมรับได้ และถือว่าเป็น"วิถีประชาธิปไตย" ที่สุดคือ การให้ชาวเซิร์บยื่นคำร้องถอดถอนนายกเทศมนตรีเพื่อนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่
สถานการณ์ความไม่สงบในคอซอวอที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอาจทำให้พื้นที่ใน 4 เขตเทศบาล ทางตอนเหนือของคอซอวอ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
กลาโหมเซอร์เบีย หวังหาทางออกเหตุรุนแรงใน "คอซอวอ"
คอซอวอ-เซอร์เบีย ความขัดแย้งแห่งภูมิภาคบอลข่าน
ล่าสุดประธานาธิบดีวีโยซา ออสมานี (Vjosa Osmani) ผู้นำคอซอวอ ยอมรับระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า การประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจทำให้พื้นที่ที่มีปัญหาต้องจัดการเลือกตั้งรอบที่สอง
ทั้งนี้ประธานาธิบดีหญิงของคอวอซอ บอกว่า กระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ทำได้สองวิธีด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นคือ การลงประชามติถอดถอนนายกเทศมนตรีผ่านการยื่นคำร้องของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน
ประธานาธิบดีหญิงของคอซอวอย้ำว่า ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ คอซอวอต้องการการรับรองจากประชาคมระหว่างประเทศว่า รัฐบาลเซอร์เบีย จะไม่เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งเหมือนครั้งที่ผ่านมา การแทรกแซงที่ว่ารวมถึง ความรุนแรง การข่มขู่ การแบล็กเมล์ ที่รัฐบาลเซอร์เบียทำต่อผู้สมัคร
ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครชาวเซิร์บต้องถอนตัวจากการลงสมัครรับเลือกตั้งไป และทำให้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่มีรายชื่อของผู้สมัครชาวเซิร์บเลยสักคน
ส่วนความพยายามของชาติตะวันตกในการเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างเซอร์เบีย และคอซอวอ ยังคงดำเนินต่อไป
โดยต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานักการทูตสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ได้เดินทางพบผู้นำสองชาติเพื่อหาทางออกจากวิกฤตดังกล่าว
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มิโรสลาฟ ไลชัก (Miroslav Lajcak) นักการทูตจากสหภาพยุโรป และ กาเบรียล เอสโคบาร์ (Gabriel Escobar) ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักการทูตอาวุโสสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงพรีสตินา
เมืองหลวงของคอซอวอ และเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี อัลบิน เคอร์ตี ของคอซอวอ เพื่อหารือถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น
ก่อนที่วันต่อมา จะเดินทางไปยังกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ของเซอร์เบีย
ทั้งนี้ระหว่างการเยือนเซอร์เบีย เมื่อวานนี้ 8 มิ.ย. 2566 กาเบรียล เอสโคบาร์ นักการทูตอาวุโสสหรัฐฯ ได้แถลงการณ์ โดยยื่นคำขาดต่อคอวอซอว่า หากคอวอซอต้องการขยับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนาโต และสหภาพยุโรป ต้องให้อำนาจชาวเซิร์บทางตอนเหนือของประเทศในการปกครองตัวเองมากขึ้น
นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้ คอซอวอถอนกำลังตำรวจ และให้นายกเทศมนตรีคนใหม่ออกจากอาคารสำนักงานในเขตเทศบาล ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ เพื่อลดความตึงเครียด จากนั้นให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ โดยขอให้ชาวเซิร์บเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งด้วย
ส่วนสถานการณ์ของพื้นที่ความขัดแย้งทางตอนเหนือของคอวอซอ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง มีรายงานว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา
สถานการณ์กลับสู่ความสงบอีกครั้ง โดยกองกำลังทหารนาโต เริ่มรื้อรั้วลวดหนามรอบอาคารเทศบาลในเขตซเวซาน
ขณะที่นาโต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศส่งกำลังทหารอีก 700 นายเข้าไปประจำการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ล่าสุดตุรกี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโตได้ส่งกองกำลังทหารจำนวนหนึ่งเดินทางมาถึงคอซอวอตั้งแต่ช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว
สำหรับวิกฤตความขัดแย้งรอบล่าสุดระหว่างเซอร์เบียและคอซอวอมีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาในเขตเทศบาลซเวซาน
โดยชาวเซิร์บในเมืองจำนวนมากออกมารวมตัวกันที่สำนักงานของเทศบาล เพื่อกันไม่ให้ “อิเลร เปซา” นายกเทศมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีเชื้อสายแอลเบเนียที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเข้าไปทำงาน
ทั้งนี้ชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในแถบนี้ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องพวกเขาได้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ส่งผลให้มีผู้ใช้สิทธิเพียง 1,567 ราย จากทั้งหมด 45,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.47 เท่านั้น แต่เมื่อผลออกมาว่า นายกเทศมนตรีเชื้อสายแอลเบเนียชนะ การเลือกตั้งบรรดาชาวเซิร์บจึงไม่พอใจและนำมาสู่การประท้วง
อย่างไรก็ตามการประท้วงอย่างสงบกลายเป็นความวุ่นวายเมื่อตำรวจที่ถูกส่งเข้ามาควบคุมสถานการณ์ใช้ระเบิดแฟลชและแก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม
ขณะที่ผู้ชุมนุมตอบโต้กลับด้วยการขว้างปาขวดน้ำและสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่บางส่วนเผารถตำรวจ และบางส่วนพยายามบุกเข้าไปในอาคาร
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเกิดเหตุวุ่นวายลักษณะนี้ในเขตเทศบาลอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือด้วย โดยกลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังนาโตที่ถูกส่งเข้าไปประจำการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ จากเหตุการณ์นี้มีทหารนาโตบาดเจ็บกว่า 30 นาย ส่วนชาวเซิร์ปบาดเจ็บอีก 52 คน
ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่ในคอซอวอเป็นคนเชื้อสายแอลเบเนีย แต่เนื่องจากประเทศเกิดใหม่นี้เพิ่งจะแยกตัวออกจากเซอร์เบียเมื่อปี 2008 ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือกลายมาเป็นดินแดนที่มีปัญหา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเซิร์บ ชาวเซิร์บเหล่านี้แม้จะอาศัยอยู่ในเขตแดนของคอซอวอ แต่พวกเขาไม่ยอมรับอธิปไตยของคอซอวอ โดยมองว่าพื้นที่นี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย