ญี่ปุ่นเคาะ 24 ส.ค. นี้ “ปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ทางการญี่ปุ่นประกาศเคาะวันที่จะเริ่มปล่อยน้ำเสียจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” แล้ว คือวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. นี้

จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ท่ามกลางความกังวลและเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย ทั้งชาวประมง ทางการจีนและเกาหลีเหนือ และประชาชนทั่วไปในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์บางคน

ล่าสุด ทางการญี่ปุ่นประกาศเคาะวันที่จะเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแล้ว โดยจะเริ่มปล่อยตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. นี้

คอนเทนต์แนะนำ
โหวตนายก : ประชุมรัฐสภา จับตา "เศรษฐา ทวีสิน" ลุ้นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ถ่ายทอดสด! เกาะติดสถานการณ์ "ทักษิณ" กลับไทย 22 ส.ค. 2566
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎใหม่ “4 โรคห้ามรับราชการ” อีก 60 วันมีผลบังคับใช้

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวว่า การกำจัดน้ำมากกว่า 1 ล้านตันที่เก็บไว้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อนในการรื้อถอนโรงไฟฟ้า

แต่แผนดังกล่าวทำให้เกิดความกังวล เนื่องจากน้ำมีไอโซโทป ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่ไม่สามารถกำจัดออกได้โดยเทคโนโลยีการกรองน้ำของโรงไฟฟ้า

ขณะที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ อนุมัติการปล่อยน้ำเสียดังกล่าว โดยระบุว่า ผลกระทบทางรังสีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมจะ “น้อยมาก”

กระนั้น ประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้หรือจีน ต่างก็ไม่มั่นใจนัก และได้ขยายคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากบางพื้นที่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีมาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2011 หลังจากที่ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ประสบภาวะนิวเคลียร์หลอมละลาย (Nuclear Meltdown) จากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ

รวมถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แสดงความเห็นชอบกับการปล่อยน้ำเสียดังกล่าว แต่พรรคฝ่ายค้านและชาวเกาหลีใต้จำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกใช้กระบวนการที่คล้ายกันในการกำจัดน้ำเสียที่มีความเข้มข้นของไอโซโทปและนิวไคลด์กัมมันตรังสีอื่นๆ ในระดับต่ำ

โทนี ฮูเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด กล่าวว่า “ไอโซโทปถูกปล่อยออกมาโดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานหลายทศวรรษ โดยไม่มีหลักฐานว่ามีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตาม องค์กรกรีนพีซอธิบายว่า กระบวนการกรองน้ำของโรงไฟฟ้ามีข้อบกพร่อง และเตือนว่า วัสดุกัมมันตภาพรังสีในปริมาณ “มหาศาล” จะกระจายลงสู่ทะเลตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า หกายอมให้มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ด้านรัฐบาลและผู้รับผิดชอบดำเนินโรงไฟฟ้าอย่าง Tokyo Electric Power (Tepco) ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวประมงท้องถิ่นที่กล่าวว่า การปล่อยน้ำลงมหาสมุทรแปซิฟิกจะทำลายอุตสาหกรรมของพวกเขา

ในการประชุมเมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) กับ มาซาโนบุ ซากาโมโตะ หัวหน้าสมาพันธ์สหกรณ์ประมงแห่งชาติ คิชิดะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนประมงว่าการปล่อยน้ำเสียนั้นมีความปลอดภัย

ก่อนการประชุม ซากาโมโตะกล่าวว่า พวกเขาเข้าใจว่าการปล่อยน้ำอาจมีความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังกลัวว่าจะเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง

ความกลัวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นในการสำรวจความคิดเห็นโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเพียงพอที่จะป้องกันความเสียหายต่อชื่อเสียงที่คาดว่าจะเกิดกับอาหารทะเลญี่ปุ่น

คิชิดะ รับทราบข้อกังวลเหล่านั้น แต่ยืนยันว่าการปล่อยน้ำ “ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเลื่อนออกไปได้อย่างแน่นอน หากเราต้องการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะและฟื้นฟูพื้นที่”

เขาเสริมว่า “ผมสัญญาว่าเราจะรับผิดชอบทั้งหมดในการรับประกันว่า อุตสาหกรรมประมงจะสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีก็ตาม”

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุนมูลค่า 3 หมื่นล้านเยน (7.2 พันล้านบาท) เพื่อชดเชยชาวประมงท้องถิ่นสำหรับความเสียหายต่อชื่อเสียง และ 5 หมื่นล้านเยน (1.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อแก้ไขผลกระทบใด ๆ ต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
นายกญี่ปุ่นเยือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เล็งเคาะวันปล่อยน้ำปนเปื้อน
ญี่ปุ่นโชว์ความปลอดภัย “น้ำเสียฟุกุชิมะ” ไลฟ์สดชีวิตปลาในน้ำที่ผ่านการบำบัด
เกาหลีเหนือเรียกร้องประชาคมโลก หยุดยั้งญี่ปุ่นปล่อยน้ำโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ